backup og meta

ควันธูป ตัวการร้าย สร้างภัย มะเร็งปอด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 30/04/2023

    ควันธูป ตัวการร้าย สร้างภัย มะเร็งปอด

    ควันธูป เมื่อจุดแล้วย่อมก่อให้เกิดควันฝุ่นซึ่งมีขนาดเล็กมาก หากหายใจสูดดมเข้าไปบ่อยครั้งหรือเป็นเวลานานอาจเป็นอันตรายได้  โดยเฉพาะในผู้ที่ไม่มีการป้องกันใด ๆ อย่างการสวมหน้ากาก อาจกลายเป็นตัวการสำคัญที่ทำร้ายสุขภาพ หรือที่เลวร้ายกว่านั้น คืออาจทำให้กลายเป็นมะเร็งปอดได้

    อันตรายที่มาพร้อมกับ ควันธูป

    ควันธูปนั้นเมื่อจุดแล้ว จะทำให้เกิดควันฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า PM10  หากเราสูดดมเข้าไปเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของร่างกาย ไม่ต่างอะไรกับ ควัน ที่ได้จากการสูบบุหรี่หรือควันที่ได้จากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงรถยนต์ ธูปนั้นทำขึ้นมาจากขี้เลื่อย กาว น้ำมันหอมระเหย ไม้หอม เปลือกไม้ และสารเคมีต่าง ๆ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม ที่ทำให้มีกลิ่นหอมเมื่อเราจุดไฟทำให้เกิดควัน โดยควันธูปเหล่านี้ หากสูดเข้าไปมาก ๆ เข้า อาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ ดังต่อไปนี้

    โรคมะเร็งปอดจาก ควัน

    ภายใน ควันธูป นอกจากกลิ่นหอมแล้ว ยังจะพบสารพิษและสารระคายเคืองที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพเป็นจำนวนมากอีกด้วย มีงานวิจัยจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เรื่อง “สารก่อมะเร็ง : ภัยเงียบที่มากับควันธูป” พบว่า ควันธูปนั้นจะมีสารก่อมะเร็งอยู่มากถึง 3 ชนิด ได้แก่

    • สารเบนซิน (Benzene)
    • สารบิวทาไดอีน (Butadiene)
    • สารเบนโซเอไพรีน (Benzopyrene)

    สารเหล่านี้เป็นสารเคมีที่ได้จากการเผาส่วนประกอบของธูป นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่า การใช้ธูปอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง โดยโรคมะเร็งที่พบได้มากที่สุด คือโรคมะเร็งในทางเดินหายใจส่วนบน หรือโรคมะเร็งปอด

    โรคหอบหืด

    อนุภาคขนาดเล็กที่ได้จากการ ควัน มีสารระคายเคืองอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อเราหายใจสูดดมสารระคายเคืองเหล่านี้เข้าไป อาจนำไปสู่โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจได้ เช่น โรคหอบหืด

    เด็กในวัยเรียนที่เป็นโรคหอบหืด หรือมีอาการหอบหืดกำเริบ เช่น หายใจหอบ มีโอกาสเกิดจากการสูดดมควันธูป นอกจากนี้ ควันจากธูปยังทำให้เด็กที่เป็นโรคหอบหืด จำเป็นต้องใช้ยาระงับอาการหอบหืดมากขึ้นอีกด้วย

    อาการอักเสบ

    ควันธูปอาจกระตุ้นให้ร่างกายเกิดอาการอักเสบเรื้อรังได้ โดยควันจากธูปนั้นไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดอาการอักเสบที่ปอด แต่ยังอาจลามไปถึงตับอีกด้วย เนื่องจากการที่ร่างกายต้องทำการย่อยสลายอนุภาคจากควันธูป ทำให้เกิดภาวะเครียดออกซิเดชั่น (oxidative stress) และกลายเป็นการอักเสบได้ในที่สุด

    โรคหัวใจ

    ควันจากธูปนั้นสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือดได้ ทั้งนี้ การสูดดมควันธูปเป็นเวลานาน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือด

    ควันธูปกับควันบุหรี่ อย่างไหนอันตรายกว่ากัน

    อาจเป็นไปได้ว่า ควันจากธูป อาจเป็นอันตรายมากกว่าควันที่ได้จากบุหรี่ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบสารตกค้างที่อยู่ในเนื้อสัตว์และเซลล์แบคทีเรียที่สูดดมควันธูปอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เทียบกับสัตว์และแบคทีเรียที่เปิดรับควันบุหรี่เป็นเวลานาน เพื่อดูว่า สารตกค้างจากควันแบบใดจะทำอันตรายต่อเซลล์สิ่งมีชีวิตได้มากกว่ากัน

    ผลการศึกษานั้นพบว่า ควันที่ได้จากธูป อาจส่งผลกระทบต่อเซลล์ของสิ่งมีชีวิตได้มากกว่าควันบุหรี่ โดยผลกระทบนั้นคือทำให้เกิดการกลายพันธุ์หรือการเป็นพิษต่อเซลล์ของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เรามักจะจุดธูปภายในบริเวณที่อับ และไม่มีอากาศถ่ายเท เช่น ภายในวิหาร หรือภายในห้องพระ จึงทำให้มีโอกาสเปิดรับฝุ่นควันที่มีความเข้มข้นสูงเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย

    แต่อย่างไรก็ตาม มนุษย์เราเปิดรับควันบุหรี่โดยการสูดควันเข้าสู่ปอดโดยตรง ต่างจากควันธูปที่ได้รับผ่านการหายใจตามปกติ ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเซลล์ปอด จึงอาจจะแตกต่างกับผลการวิจัยนี้

    ทำอย่างไร จึงจะหลีกเลี่ยงอันตรายของ ควันจากธูป

    • จุดธูปในบริเวณที่เปิดโล่ง ควรจุดธูปในบริเวณที่เปิดโล่ง มีอากาศถ่ายเทสะดวก และไม่แออัด เพื่อให้ควันจากธูปมีโอกาสได้ถ่ายเทออกไป และไม่สะสมลอยอบอวลอยู่ในบริเวณเดิมมากจนเกินไป
    • พยายามจุดธูปให้ควันลอยเหนือลม เลือกบริเวณปักธูปที่ทำให้ควันลอยเหนือลม และถ่ายเทอากาศไปในทางเดียวกัน จะทำให้ง่ายต่อการหลีกเลี่ยงควันธูปมากขึ้น
    • สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น ควรสวมหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กจากควันธูปได้ เพื่อลดการสูดลมควันจากธูป
    • เลือกใช้ธูปไร้ควัน ในปัจจุบันมีธูปที่ไม่ทำให้เกิดควันจำหน่ายอยู่ เช่น ธูปไร้ควัน หรือธูปไฟฟ้า ธูปเหล่านี้จะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงอันตรายจากควันธูปได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 30/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา