การดูแลผู้ป่วยมะเร็งปอด ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ดูแลจะต้อง ดูแลทั้งความรู้สึกและสุขภาพร่างกายของผู้ป่วย นอกจากอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับร่างกายแล้ว ผู้ป่วยอาจจะมีความรู้สึกวิตกกังวลและหดหู่ ผู้ดูแลจะต้องเรียนรู้เคล็ดลับในการ ดูแลผู้ป่วย มะเร็งปอด เพื่อที่จะดูแลเขาได้ดี ในขณะเดียวกันก็ต้องดูแลตัวเองด้วย เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในสภาพอารมณ์ที่แย่ วันนี้ Hello คุณหมอ มีบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับ การดูแลผู้ป่วยมะเร็งปอด และการดูแลตนเองมาฝากกันค่ะ
ทำความเข้าใจ โรคมะเร็งปอด
ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เป็นมะเร็งปอดมักจะเกิดจากการสูบบุหรี่และได้รับควันบุหรี่มือสอง แต่ก็ยังมีผู้ป่วยมะเร็งปอดบางคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งกรณีเหล่านี้อาจจะยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนว่าเกิดจากอะไร มะเร็งปอดมักจะไม่แสดงอาการในระยะแรกสุด สัญญาณและอาการของโรคมะเร็งปอดมักจะแสดงออกมาเมื่อโรคลุกลาม ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการไอ หายใจถี่หอบ เสียงแหบ เจ็บหน้าอก และปวดหัว
สิ่งที่ต้องทำเมื่อต้อง ดูแลผู้ป่วย มะเร็งปอด
ความเป็นอยู่ของผู้ป่วยมะเร็งปอดจะดีหรือไม่ดีนั้นขึ้นอยู่กับผู้ดูแล ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดจะต้องดูแลทั้งอาการและทางด้านอารมณ์ควบคู่กันไป
การดูแลผู้ป่วยมะเร็งปอด ด้านการแพทย์
สำหรับผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยมะเร็งปอดนั้นจะต้องดูแล ช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลเบื้องต้นในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
- การจัดยาให้รับประทานตามเวลา
- ช่วยดูแลเมื่อเกิดผลข้างเคียง
- ไปพบคุณหมอตามนัดด้วยทุกครั้ง
- สื่อสารกับแพทย์ผู้ดูแลรักษา
การดูแลผู้ป่วยมะเร็งปอด เรื่องชีวิตประจำวัน
การใช้ชีวิตประจำหลาย ๆ อย่างอาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงรักษาหรือว่ารับมือกับโรคมะเร็งปอดระยะลุกลาม ซึ่งการดูแลในเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันเหล่านี้อาจช่วยให้เขาใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น
- ซื้อของใช้ต่าง ๆ
- การเตรียมอาหาร
- จัดของ ทำความสะอาดบ้าน
- ซักผ้า
- การชำระเงิน
การดูแลผู้ป่วยมะเร็งปอดด้านอารมณ์
นอกจากการดูแลเรื่องอื่น ๆ แล้ว การดูแลอารมณ์ของผู้ป่วยก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน และเป็นเรื่องที่มีความยากและท้าทายเป็นอย่างมาก ผู้ป่วยมักจะเกิดความวิตกกังวลและอาจจะมีอารมณ์แปรปรวน ในช่วงนี้ผู้ดูแลจะต้องรับฟังอย่างตั้งใจ แม้จะเป็นเรื่องธรรมดาก็ตาม และพยายามช่วยเขาหาทางออกของปัญหา
นอกจาก การดูแลผู้ป่วยมะเร็งปอด แล้ว ต้องดูแลตัวเองอย่างไร
การดูแลผู้ป่วยถือเป็นสิ่งที่มีความท้าทายเพราะจะต้องดูแลในทุก ๆ เรื่อง รวมไปถึงเรื่องจิตใจและอารมณ์ แต่ในขณะเดียวกันผู้ดูแลก็ควรมีเวลาในการดูแลตัวเองด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วหากผู้ดูแลเหนื่อยหน่าย หมดใจเสียก่อนแล้ว ก็จะส่งผลต่อผู้ป่วยได้
การเข้าร่วมกลุ่มกับผู้ดูแลคนอื่น ๆ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ผู้ดูแลได้มีโอกาสได้พูดคุยกับคนที่เผชิญสถาการณ์ที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งอาจทำให้ได้รับคำปรึกษาที่เป็นประโยชน์ในการรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้น นอกจากนี้การออกกำลังกายยังมีส่วนช่วยรักษาสมรรถภาพให้มีความแข็งแรง หรือการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ที่สำคัญผู้ดูแลต้องหาเวลาว่าง ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ชอบ เช่น วาดรูป ทำอาหาร เพื่อช่วยลดความเครียดที่เกิดขึ้น การใช้เวลากับตัวเองก็ช่วยหลีกหนีจากความเหนื่อยล้าจากหน้าที่ผู้ดูแลได้เช่นกัน ที่สำคัญต้องใจดีกับตัวเอง ไม่โทษตัวเองเมื่อเกิดความรู้สึกโกรธหรือทำอะไรผิดพลาดลงไป