เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง แพทย์จะทำการจำแนกตามระยะ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าตนเองกำลังเป็นมะเร็งอยู่ที่ระยะเท่าไร มะเร็งมีความก้าวหน้า ไปมากน้อยแค่ไหน มะเร็งรังไข่ ก็เช่นกัน สามารถจำแนกเป็นระยะได้ โดยเริ่มตั้งแต่ มะเร็งรังไข่ระยะที่ 1 หรือระยะแรก ไปจนถึงระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย วันนี้ Hello คุณหมอ มีข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับ มะเร็งรังไข่ระยะแรก มาให้ได้อ่านและศึกษากัน
ข้อมูลเบื้องต้นของ มะเร็งรังไข่
มะเร็งรังไข่ เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นที่รังไข่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายเมล็ดอัลมอนด์ ซึ่งอยู่บริเวณทั้งสองข้างของมดลูก มะเร็งรังไข่ ถือเป็นมะเร็งของระบบสืบพันธ์ุในผู้หญิง ที่พบได้มาก สามารถพบได้ในผู้หญิงทุกช่วงวัย ที่สำคัญ มะเร็งรังไข่ระยะที่ 1 มักจะไม่มีอาการ หรือสัญญาณเตือนใด ๆ กว่าจะรู้ว่าเป็น มะเร็งรังไข่ ส่วนใหญ่ก็ต่อเมื่อมะเร็งมีการแพร่กระจาย ลุกลามไปยังอุ้งเชิงกรานและช่องท้อง
สำหรับผู้ที่มีคนในครอบครัวเคยเป็น มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งเต้านม ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับความเสี่ยงในการเกิดโรค มะเร็งรังไข่ แพทย์อาจมีการแนะนำให้ทำการตรวจหรือทดสอบเกี่ยวกับการกลายพันธ์ุของยีน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม และ มะเร็งรังไข่ ได้
การแบ่งระยะของมะเร็งรังไข่
ระยะของมะเร็ง เป็นรูปแบบที่แพทย์ใช้สำหรับการอธิบาย ขนาดและตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง โดยใช้ตำแหน่งที่มะเร็งก่อตัว และอัตราการแพร่กระจาย เพื่อบอกว่ามะเร็งอยู่ระยะที่เท่าไร การแบ่งระยะมะเร็งมีส่วนช่วยในการรักษา โดยแพทย์จะวินิจฉัยระยะของมะเร็ง เพื่อหาการรักษาที่มีความเหมาะสมมากที่สุด การแบ่งระยะของมะเร็งจะต้องมีความแม่นยำ เพราะหากคำนวณผิดพลาดอาจทำให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายออกไปยังบริเวณอื่น ๆ ได้ การแบ่งระยะของ มะเร็งรังไข่ สามารถแบ่งได้ตามปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้
- ขนาดของเนื้องอก แพทย์จะทำการประเมินขนาดของเนื้องอก ว่าเซลล์จะมีการแพร่กระจายไปยังท่อนำไข่ หรือนอกรังไข่ได้หรือไม่
- ต่อมน้ำเหลือง แพทย์จะทำการตรวจสอบว่ามีเซลล์มะเร็งอยู่บริเวณใกล้กับต่อมน้ำเหลืองหรือไม่
- การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง แพทย์จะดูว่าเซลล์มะเร็งเกิดการกระจายไปยังบริเวณอื่นที่ใกล้จากรังไข่หรือไม่ เช่น ปอด ตับ หรือกระดูก
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ มะเร็งรังไข่ระยะแรก
มะเร็งรังไข่ระยะที่ 1 เป็นระยะแรกสุดของ มะเร็งรังไข่ สามารถแยกออกเป็น 3 ระยะย่อย ดังนี้
- ระยะ 1A เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งอยู่ในรังไข่หรือท่อนำไข่เพียงแค่หนึ่งข้าง และไม่มีเซลล์มะเร็งอยู่ที่ผนังชั้นนอก
- ระยะ 1B เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งอยู่ในรังไข่หรือท่อนำไข่ ทั้งสองข้าง และไม่มีเซลล์มะเร็งอยู่ที่ผนังชั้นนอก
- ระยะ 1C มะเร็งรังไข่ ในระยะนี้ สามารถพบเซลล์มะเร็งได้ที่รังไข่หรือท่อนำไข่ หนึ่งหรือสองข้าง แต่ต้องมีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วยอย่างน้อย 1 ปัจจัยจึงจะนับว่าอยู่ในระยะ 1C ดังนี้
- พบเซลล์มะเร็งที่บริเวณผิวหนังชั้นนอกของรังไข่
- ระหว่างที่ทำการผ่าตัด เพื่อน้ำเนื้องอกออก เซลล์มะเร็งเกิดการรั่วไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
- พบเซลล์มะเร็งในของเหลวจากบริเวณช่องท้องหรืออุ้งเชิงกราน
การตรวจ มะเร็งรังไข่ แพทย์จะทำการตรวจกระดูกอุ้งเชิงกราน เนื่องจาก เนื้องอกในรังไข่มีขนาดเล็กเกินไป ทำให้ตรวจพบได้ยาก จึงจำเป็นต้องตรวจด้วยรูปแบบอื่น ๆ เช่น
- การตรวจอัลตร้าซาวด์ทางช่องคลอด (Transvaginal Ultrasound)
- การตรวจเลือด
- การตรวจชิ้นเนื้อ
เบื้องต้นเมื่อทราบว่าเป็น มะเร็งรังไข่ระยะที่ 1 แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อนำเนื้องอกออก บางครั้งแพทย์อาจแนะนำให้นำท่อนำไข่หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงออกด้วย เพราะมะเร็งมักจะแพร่กระจายไปยังบริเวณนั้นได้ง่าย นอกจากการผ่าตัดแล้ว การฉายแสงและการทำเคมีบำบัดยังอาจนำมาใช้ในการรักษาด้วย หากการผ่าตัดไม่ได้ผล