backup og meta

น้ำตาลในเลือด140 อันตรายหรือไม่ และควรดูแลตัวเองอย่างไร

น้ำตาลในเลือด140 อันตรายหรือไม่ และควรดูแลตัวเองอย่างไร

เกณฑ์ระดับน้ำตาลในเลือดที่บ่งชี้ว่าเป็นโรคเบาหวาน คือ สูงตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไปหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง หากมีระดับ น้ำตาลในเลือด140 มิลลิกรัม/เดซิลิตรหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง ถือว่าเข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน ควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ ควบคู่ไปกับดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี เช่น การเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ รับประทานยารักษาระดับน้ำตาลในเลือด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา

[embed-health-tool-bmi]

น้ำตาลในเลือด ปกติ เท่าไหร่

ระดับน้ำตาลในเลือดหากตรวจหลังจากอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ปกติมีค่าไม่เกิน99 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งเป็นระดับที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและไม่เป็นอันตรายการทำงานของระบบต่าง ๆในร่างกย และอาจแปลผลได้ว่ากระบวนการของเซลล์ในการนำน้ำตาลไปใช้เปลียนเป็นพลังงานยังคงมีประสิทธิภาพดีอยู่

ทั้งนี้ หากตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมงแล้วพบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ระหว่าง 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แสดงว่า มีภาวะก่อนเบาหวานหรือเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน (Prediabetes) หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม อาจนำไปสู่โรคเบาหวานได้ในอนาคต

นอกจากนี้ หากมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมงสูงตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป หรือตรวจระดับน้ำตาลแบบสุ่ม (Random Blood Sugar Test) แล้วมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แสดงว่าเข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน (Diabetes) ที่จำเป็นจะต้องเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา

น้ำตาลในเลือด140 อันตรายหรือไม่

ในผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน หากตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง แล้วได้ 140 จะถือสูงกว่าระดับเป้าเหมาย (เป้าหมายของระดับน้ำตาลเมื่อเป็นเบาหวานแล้วคือ 80 – 130) แต่หากผลการทดสอบความทนทานต่อน้ำตาลของร่างกาย (Oral glucose tolerance test) แล้วพบว่ามี ระดับน้ำตาลหลังกลืนน้ำตาล 2 ชั่วโมง อยู่ระหว่าง140 – 199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แสดงว่า มีภาวะก่อนเบาหวาน 

ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หากแม้จะมีน้ำตาลในเลือด140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แต่หากระดับน้ำตาลในเลือดยังไม่สูงมากนัก (เช่น ยังไม่เกิน 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) ก็มักจะไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติแต่อย่างใด

อาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) มีดังนี้

  • กระหายน้ำมากกว่าปกติ
  • ปากแห้ง คอแห้ง 
  • รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง 
  • ปัสสาวะบ่อย ตื่นมาเข้าห้องน้ำหลังจากที่เข้านอนไปแล้ว
  • น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • สายตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัดเจน
  • รู้สึกหิวบ่อย ความอยากอาการเพิ่มขึ้น 
  • ผิวแห้ง คัน ระคายเคืองง่าย
  • แผลหายช้า ติดเชื้อง่าย

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หากปล่อยไว้จนมีระดับน้ำตาลสูงขึ้นเรื่อยโดยไม่ได้ควบคุม จะทำให้อาการผิดปกติดังที่กล่าวมาข้างต้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนบางครั้งผู้ป่วยอาจไม่ทันได้สังเกตว่าเป็นโรคเบาหวาน จนเมื่อเวลาผ่านไปนานหลายปี ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงผิดปกตินี้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจ ไต หลอดเลือด ระบบประสาท และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานขึ้นตา โรคไตเรื้อรัง ภาวะระบบประสาทส่วนปลายเสื่อมหรือที่เรียกว่าเบาหวานลงเท้า

การเข้ารับการตรวจน้ำตาลในเลือดเป็นประจำทุกปี เช่นในการตรวจสุขภาพ จะช่วยให้สามารถทราบระดับน้ำตาลในเลือดและประเมินภาวะสุขภาพของตัวเองได้ดีขึ้น ผู้ที่มีระดับ น้ำตาลในเลือด126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (เมื่อตรวจหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง) ซึ่งเข้าข่ายเป็นโรคเบาหวานแล้วอาจไม่ทราบเลยว่าตัวเองกำลังเป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากยังไม่มีอาการแสดงที่ชัดเจน การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีจึงถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน

ปัจจัยเสี่ยงโรคเบาหวาน

ปัจจัยเสี่ยงโรคเบาหวาน อาจมีดังนี้

ปัจจัยเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 1

  • ครอบครัวสายตรง เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1
  • ตรวจพบมีออโตแอนติบอดี (Autoantibodies) หรือ ภูมิในร่างกายที่ไปทำลายเซลล์ตับอ่อน

ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2

  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 
  • เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินเกณฑ์
  • มีภาวะความดันโลหิตสูง
  • มีระดับไขมันดีหรือคอเลสเตอรอลดี (HDL) ต่ำแต่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูง
  • มีพฤติกรมเนือยนิ่ง (sedentary lifestyle) ไม่ค่อยขยับร่างกาย มีกิจวัตรประจำวันที่อยู่กับที่เป็นเวลานานหลายชั่วโมง เช่น นอนเล่นโทรศัพท์มือถือนาน ๆ ทำงานนั่งโต๊ะที่ไม่ค่อยได้ลุกเดินไปไหน
  • อายุ 35 ปีขึ้นไป
  • เคยเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือเคยคลอดบุตรที่มีน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัม
  • มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome หรือ PCOS)
  • มีประวัติโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมอง
  • สูบบุหรี่

วิธีดูแลตัวเองเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

วิธีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเบื้องต้น สามารถทำได้ดังนี้

  • สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน แนะนำให้ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองเป็นประจำด้วยเครื่องตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้ว เพื่อเป็นการประเมินระดับน้ำตาลในชีวิตประจำวัน ช่วยให้ทราบว่าพฤติกรรมสุขภาพของตน ตลอดจนยาที่ใช้รักษา มีประสิทธิภาพในการคุมน้ำตาลดีมากน้อยเพียงใด เพื่อช่วยให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้เหมาะสมยิ่งขึ้น
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ (ที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ) โปรตีนหรือเนื้อสั้ตว์ไม่ติดมัน พืชตระกูลถั่ว ธัญพืชไม่ขัดสี และควรจำกัดการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เนื้อสัตว์แปรรูปอย่างแฮม แหนม เนื้อรมควัน อาหารรสเค็มอย่างส้มตำ น้ำพริกกะปิ อาหารหมักดอง คาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวขาว ขนมหวาน เบเกอรี และ อาหารแปรรูปอย่างอาหารกระป๋อง อาหารหมักดอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
  • เลิกสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่มือสอง (second hand smoker) เนื่องจากในบุหรี่มีสารพิษที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง ทั้งยังอาจมีส่วนให้ควบคุมระดับน้าตาลในเลือดได้ไม่ดีอีกด้วย
  • ออกกำลังกาย หรือ หมั่นขยับเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ ไม่อยู่กับที่นาน ๆ หาเวลาไปออกกำลังกาย เช่น เล่นกีฬา เดินเล่น ปั่นจักรยาน อาจช่วยให้ร่างกายมีความไวต่ออินซูลินมากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายจัดการกับระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Blood Sugar Level Ranges. https://www.diabetes.co.uk/diabetes_care/blood-sugar-level-ranges.html.  Accessed January 26, 2023

Diabetes Tests. https://www.cdc.gov/diabetes/basics/getting-tested.html#:~:text=Fasting%20Blood%20Sugar%20Test&text=A%20fasting%20blood%20sugar%20level,higher%20indicates%20you%20have%20diabetes. Accessed January 26, 2023

Prediabetes (Borderline Diabetes). https://www.webmd.com/diabetes/what-is-prediabetes. Accessed January 26, 2023

Managing Diabetes. https://www.niddk.nih.gov/health-information/diabetes/overview/managing-diabetes. Accessed January 26, 2023

Diabetes: An Overview. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/7104-diabetes-mellitus-an-overview. Accessed January 26, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

04/04/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

สาเหตุของโรคเบาหวาน อาการ และวิธีการดูแลตัวเอง

เป็นเบาหวานไม่รู้ตัว เป็นไปได้หรือไม่


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 04/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา