มือบวม เท้าบวม เบาหวาน เป็นอาการที่อาจพบได้ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน ทำให้หลอดเลือดส่วนปลายตีบและอุดตันจนเลือดไหลเวียนได้ไม่ดี ส่งผลให้ของเหลวสะสมคั่งค้างอยู่บริเวณมือและเท้ามากขึ้น จึงทำให้มีอาการบวม
มือบวม เบาหวาน เกิดจากอะไร
มือบวม เท้าบวมจากเบาหวาน อาจเกิดในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ จนมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังเป็นเวลานาน ทำให้หลอดเลือดส่วนปลายตีบและอุดตันจนเลือดไม่สามารถไหลเวียนเพื่อลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารได้ตามปกติ ทำให้ของเหลวสะสมค้างอยู่ตามเนื้อเยื่อส่วนปลาย เช่น มือและเท้า จนเกิดเป็นอาการมือบวมและเท้าบวมขึ้น
โดยสาเหตุที่ของอาการมือบวม เท้าบวมในผู้ป่วยเบาหวาน อาจมีดังนี้
- หลอดเลือดส่วนปลายตีบหรืออุดตัน เมื่อร่างกายมีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงอย่างเรื้อรัง อาจส่งผลทำลายผนังหลอดเลือดให้ยืดหยุ่นน้อยลง ผนังหลอดเลือดหนาเเละเเข็งขึ้น ทำให้หลอดเลือดเสี่ยงต่อการตีบและอุดตันได้ง่าย เลือดจึงไม่สามารถไหลเวียนได้สะดวก จนเกิดอาการมือ-เท้าบวม
- เส้นประสาทเสื่อมจากเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินไป อาจส่งผลทำลายเส้นประสาท ทำให้ผู้ป่วยรับรู้ความรู้สึกได้น้อยลง อาจมีอาการชาหรือเสียวซ่าบริเวณมือ และหากผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าได้รับบาดเจ็บบริเวณมือ ก็อาจทำให้แผลติดเชื้อและมีอาการบวมเกิดขึ้นร่วมด้วยได้
นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานอาจมีอาการบวมในบริเวณอื่น เช่น แขน ขา เท้า และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ผิวหนังส่วนนั้น ๆ สีคล้ำลง รู้สึกเจ็บปวด เสียวซ่า ชา ขยับนิ้วลำบาก
การรักษามือบวม เบาหวาน
อาการมือบวมและเท้าบวมจากเบาหวานจำเป็นต้องรักษาที่สาเหตุ คือ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมาย เพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะเเทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เเละ อาการมือ-เท้าบวม
- รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพเลือกรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เน้นรับประทานผักและผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เช่น แฮม เบคอน เนื้อสัตว์ติดมัน ขนมหวาน ของทอด น้ำหวาน/น้ำอัดลม เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในลือดให้เหมาะสม
- ออกกำลังกาย แนะนำให้ออกกำลังกายที่มีความเหนือยปานกลาง เช่น วิ่ง เดินเร็ว ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ประมาณ 30 นาที/วัน อย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์ หรือ รวมเเล้ว 150 นาที/สัปดาห์ เพื่อช่วยกระตุ้นการเผาผลาญน้ำตาลส่วนเกินและเสริมความแข็งแรงของร่างกาย
- ยาเควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทั้งยาลดระดับน้ำตาลชนิดรับประทาน และ ยาฉีดอินซูลิน เพื่อช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- การผ่าตัดหลอดเลือด เพื่อช่วยขยายหลอดเลือดแดงให้เลือดสามารถไหลเวียนได้ดีขึ้น และอาจช่วยลดอาการมือบวมและเท้าบวมได้
เมื่อมีอาการมือบวม เบาหวาน ควรดูแลตัวเองอย่างไร
หากผู้ป่วยเบาหวานมีอาการมือหรือเท้าบวม อาจดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการเกิดแผลที่อาจติดเชื้อรุนแรงตามมาโดยวิธีการดูเเลสุขภาพมือเเละเท้า อาจทำได้ดังนี้
- หมั่นทำความสะอาดมือทุกวันด้วยสบู่และน้ำสะอาดเพื่อขจัดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราหรือเชื้อโรคอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อ และควรเช็ดให้แห้งสนิททุกครั้งโดยเฉพาะง่ามนิ้วที่อาจอับชื้นได้ง่ายจนเป็นแหล่งหมักหมมของเชื้อโรค
- ตรวจสอบมือและเท้าเป็นประจำทุกวันว่ามีบาดแผล จุดแดง ตุ่มน้ำพุพอง หรืออาการบาดเจ็บบนผิวหนังอื่น ๆ หรือไม่ หากพบว่ามีบาดแผลควรไปพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาบาดแผลทันที เป็นการป้องกันมิให้แผลติดเชื้อที่อาจทำใหลุกลาม กลายเป็นเนื้อตายจนอาจต้องตัดมือหรือเท้าได้
- ตัดเล็บให้สั้นเสมอ และตะไบเล็บให้เรียบ ควรตัดปลายเล็บให้เสมอนิ้ว เเละไม่ควรตัดตรงมุมเล็บ เพราะอาจทำให้เล็บที่งอกใหม่แทงเข้าผิวหนังจนเกิดแผลได้
- งดดื่มเครื่องแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเคมีในบุหรี่มีส่วนทำลายหลอดเลือดให้เสือมมากขั้น และเป็นอุปสรรคให้การไหลเวียนของเลือดที่บริเวณมือเเละเท้าไม่ดี
[embed-health-tool-bmi]