อาการเบาหวานสูง คือ อาการที่เกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ที่เป็นโรคเบาหวานสูงกว่าเกณฑ์เป้าหมาย ซึ่งอาการที่เป็นสัญญาณของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอาจยกตัวอย่าง เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำมาก อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีอาการดังกล่าว อาจแสดงถึงร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดค่อนข้างสูง เเละ เป็นมานานซักระยะหนึ่งเเล้ว หากโรคเบาหวานควบคุมได้อย่างไม่ดีต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ผู้ที่เป็นเบาหวานจึงควรดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดี เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมาย
[embed-health-tool-bmi]
โรคเบาหวานคืออะไร
โรคเบาหวาน (Diabetes) เป็นภาวะทางสุขภาพเรื้อรังที่เกิดจากการมีระดับน้ำตาลเลือดสูงกว่าปกติ อาจเกิดจากร่างกายผลิตอินซูลิน (Insulin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญน้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรตได้ลดลง หรือเซลล์ในร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินบกพร่องเรียกว่ามีภาวะดื้อต่ออินซูลิน จะส่งผลให้มีน้ำตาลสะสมอยู่ในกระเเสเลือดมากเกินไป ซึ่งหากทิ้งไว้หรือไม่รับการรักษาให้ดี อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต ภาวะเบาหวานขึ้นตาได้
อาการเบาหวานสูง เป็นอย่างไร
สัญญาณของอาการเบาหวานสูงหรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) หรือเบาหวานที่คุมได้ไม่ดี อาจมีดังนี้
- รู้สึกกระหายน้ำมาก
- ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะกลางคืน
- อ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย
- ตาพร่ามัว
- น้ำหนักลด
- ปัสสาวะขุ่น ติดเชื่อระบบทางเดินปัสสาวะ
- แผลหายช้า
สาเหตุที่ทำให้มี อาการเบาหวานสูง
สาเหตุที่ทำให้มีอาการเบาหวานสูงในผู้ป่วยเบาหวาน อาจมีดังนี้
- ผู้ป่วยมีความเครียดทางอารมณ์ เช่น ความเครียดเรื่องครอบครัว การงาน ความรัก ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถดูเเลสุขภาพร่างกายได้อย่างเต็มที่
- ผู้ป่วยมีความเครียดทางร่างกาย เช่น มีไข้ ติดเชื้อ
- ภาวะดื้อต่อินซูลิน ซี่งนอกจากพบในผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เเล้ว ยังพบว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือ โรคอ้วน มักมีภาวะนี้ร่วมด้วยเช่นกัน
- ไม่ค่อยออกกำลังกาย ทำงานที่นั่งอยู่กับที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย
- รับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลสูง
- รับประทานยาเบาหวานไม่สม่ำเสมอ
- การรักษายังไม่เหมาะสม เช่น ปริมาณอินซูลินหรือยาลดระดับน้ำตาลยังไม่สมดุลกับระดับน้ำตาล
ภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันจากเบาหวานสูง
เมื่อร่างกายมีอาการเบาหวานสูงเป็นเวลานานและไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันจากโรคเบาหวานที่เป็นอันตรายถึงเเก่ชีวิตได้ ดังต่อไปนี้
ภาวะเลือดเป็นกรดจากสารคีโตน (Diabetic ketoacidosis หรือ DKA)
เป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่เป็นเบาหวานโดยส่วนมากเเล้วมักเกิดเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร โดยเกิดจากร่างกายไม่สามารถดึงเอาน้ำตาลในเลือดมาเปลี่ยนเป็นพลังงานได้เหมาะสม ร่างกายจึงเผาผลาญไขมันให้เป็นพลังงานเเทน ซึ่งในกระบวนการเผาผลาญไขมันนี้ ทำให้เกิดสารที่เรียกว่า คีโตน (Ketone) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด ดังนั้นเมื่อร่างกายมีคีโตนสะสมในปริมาณมาก จึงทำให้เกิดดภาวะเลือดเป็นกรด ซึ่งมีอาการดังต่อไปนี้มีดังนี้
- ปากแห้ง คอเเห้ง
- ปวดท้อง คลื่นไส้/อาเจียน
- หายใจหอบ ลมหายใจมีกลิ่นเปรี้ยวคล้ายผลไม้หมัก
- อ่อนเพลีย ไม่มีเเรง
- เหนือย หายใจไม่อื่ม
- ในบางรายหากอาจมีไข้ได้ หากมีการติดเชื้อร่วมด้วย
- ภาวะเลือดเป็นกรดมักพบได้ในผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ขาดการรักษาด้วยยาฉีดอินซูลิน เเต่ก็พบได้ในผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ควบคุมอาการได้ไม่ดีเช่นกัน
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงชนิดเลือดไม่เป็นกรด หรือ ภาวะเลือดข้นจากน้ำตาลสูง (Hyperglycemic hyperosmolar nonketotic syndrome หรือ HHNS)
เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยผู้ที่มีอาการจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากๆ คือ สูงกว่า 600 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ร่วมกับร่างกายมีภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง กระทบต่อการทำงานของเซลล์สมอง เป็นสาเหตุให้เกิดอาการซึม ไม่ได้สติ หรือ ภาวะโคม่า อาการของภาวะเลือดข้นจากน้ำตาลสูง มีดังนี้
- ในระยะแรกจะมีอาการปัสสาวะบ่อย รู้สึกกระหายน้ำมาก อ่อนเพลีย เนื่องจากร่างกายขาดน้ำ
- ในระยะต่อมา ปัสสาวะอาจมีสีเข้มขึ้น ปริมาณลดลง รวมทั้งอาจไม่ค่อยมีปัสสาวะเเล้ว และเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง
- มีอาการซึม สับสน อาจชัก หรือหมดสติได้
วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกัน ภาวะเเทรกซ้อนจากอาการเบาหวานสูง
วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันภาวะเเทรกซ้อนจากเบาหวานสูง สามารถทำได้ดังนี้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ ไตจะขับน้ำตาลส่วนเกินทิ้งทางปัสสาวะ ทำให้มีการเสียน้ำส่วนหนึ่งจากร่างกาย การดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะขาดน้ำได้
- ออกกำลังกาย การออกกำลังกายช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ ทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับภาวะสุขภาพของผู้ป่วยที่สุด
- ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ผู้ป่วยอาจปรึกษานักโภชนาการเพื่อปรับปริมาณและเลือกประเภทอาหารให้เหมาะสม
- ไปพบคุณหมอเพื่อดูเเลโรคเบาหวานอย่างเหมาะสม หากผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงแม้จะใช้ยารักษาโรคเบาหวานอยู่แล้ว คุณหมออาจแนะนำให้เปลี่ยนชนิดยา ปรับเพิ่มปริมาณ หรือความถี่ของการรับประทานยา ทั้งนี้ ไม่ควรปรับยาด้วยตนเอง และควรปรึกษาคุณหมอหากสังเกตว่ามีอาการที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะน้ำตาลสูง
- วัดระดับน้ำตาลในเลือด แนะนำให้ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยเครื่องตรวจน้ำตาลปลายนิ้วเองเป็นประจำ และรักษาระดับน้ำตาลในเลือดก่อนรับประทานอาหารให้อยู่ระหว่าง 80-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร รวมทั้งระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมงควรต่ำกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยาก เนื่องจากแอลกอฮอร์จะเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดจนนำไปสู่เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง แต่ในบางกรณีก็อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำจนเป็นอันตรายได้เช่นกัน
เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ
หากผู้ที่เป็นโรคเบาหวานแล้ว หรือ ผู้มีภาวะก่อนเบาหวาน/เสี่ยงเกิดโรคเบาหวานมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอ
- มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ตรวจวัดน้ำตาลในเลือดปลายนิ้วเเล้วได้สูงกว่าเป้าหมายบ่อยคร้ัง และไม่สามารถปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารเบื้องต้นเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
- มีอาการที่เป็นสัญญาณของของน้ำตาลในเลือดสูง