backup og meta

เคล็ด (ไม่) ลับอายุยืน ส่งต่อจากญี่ปุ่น ด้วยน้ำส้มสายชูดำคุโรสุ และ กระเทียมฟุกุชิ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 29/11/2022

    เคล็ด (ไม่) ลับอายุยืน ส่งต่อจากญี่ปุ่น ด้วยน้ำส้มสายชูดำคุโรสุ และ กระเทียมฟุกุชิ

    เป็นที่ทราบกันดีว่า ชาวญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องมีอายุยืนยาวติดอันดับต้น ๆ ของโลก โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติญี่ปุ่น (Statistics Bureau of Japan)1 เผยว่า อายุเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นหญิงและชาย ใน พ.ศ. 2563 อยู่ที่ 87.7 ปี และ 81.6 ปีตามลำดับ แถมคนญี่ปุ่นทั้งวัยทำงานและวัยสูงอายุยังมีความแข็งแรง สดชื่น กระฉับกระเฉง สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหนึ่งในเคล็ดลับที่ช่วยให้ชาวญี่ปุ่นอายุยืนและทำงานได้ดี อาจอยู่ที่การบริโภคคุโรสุ (Kurozu) หรือน้ำส้มสายชูดำ (Black Vinegar) ที่ผ่านการหมักบ่มอย่างพิถีพิถัน อุดมไปด้วยกรดอะมิโน ใยอาหาร วิตามินบี และกระเทียมฟุกุชิ กระเทียม 6 กลีบสุดพรีเมียมจากจังหวัดอาโอะโมริที่มีสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุเต็มเปี่ยม

    อาหารหมัก ยิ่งหมักยิ่งได้ประโยชน์2

    การถนอมอาหาร (Food preservation) เป็นการยืดอายุของอาหารเพื่อให้สามารถเก็บไว้บริโภคได้นานขึ้น วิธีถนอมอาหารมีหลายวิธี เช่น การตากแห้ง การแช่แข็ง การเชื่อม โดยทั่วไปจะช่วยให้อาหารมีคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกับของเดิม แต่มีวิธีถนอมอาหารวิธีหนึ่ง เรียกว่า การหมัก (Fermentation) ซึ่งเป็นการแปรรูปอาหารโดยอาศัยจุลินทรีย์ชนิดที่มีประโยชน์อย่างแบคทีเรีย เชื้อรา ยีสต์ เป็นต้น

    อาหารที่ได้จากการหมัก เช่น นัตโตะ (ถั่วเน่าญี่ปุ่น) ไวน์ เนย โยเกิร์ต รวมถึงน้ำส้มสายชู จึงไม่ใช่แค่มีรสชาติและกลิ่นที่มีเอกลักษณ์ แต่ยังมีสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้นด้วย เช่น มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านจุลินทรีย์ ต้านการอักเสบ และดีต่อระบบขับถ่าย

    คุโรสุ…น้ำส้มสายชูหมักเพื่อคนรักสุขภาพ3,4

    คุโรสุคือ น้ำส้มสายชูดำที่ผลิตตามวิถีดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นที่สืบทอดกันมากว่า 200 ปี เริ่มจากการใส่ข้าวญี่ปุ่นหุงสุกลงในไหดินเผา ตามด้วยน้ำจากแหล่งธรรมชาติ และโคจิ (เชื้อหมัก) ก่อนจะปิดไหแล้ววางไว้กลางแจ้งเป็นเวลา 1-3 ปี การหมักบ่มอย่างพิถีพิถันและการดูแลเอาใจใส่อย่างดีจะทำให้ได้คุโรสุสีอำพัน รสชาติเปรี้ยวกำลังดี หวานนิด ๆ ที่ปราศจากเชื้อโรค ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มรสชาติอาหารให้กลมกล่อมขึ้นแล้ว ยังอุดมไปด้วยใยอาหาร กรดอินทรีย์ เช่น กรดแลคติก (Lactic acid) กรดอะซิติก (Acetic acid) แร่ธาตุอย่างโซเดียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม รวมถึงกรดอะมิโน เช่น อะลานีน (Alanine) ลิวซีน (Leucine) ไลซีน (Lysine) ไกลซีน (Glycine) ซึ่งกรดอะมิโนเหล่านี้ที่เป็นส่วนประกอบของกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ เลือด เอนไซม์ ฮอร์โมน และแอนติบอดีหรือสารภูมิต้านทาน มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ เช่น ช่วยเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ช่วยลดอาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโต5

    ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า สารอาหารต่าง ๆ ในคุโรสุช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยลดคอเลสเตอรอลและไขมันชนิดไม่ดีหรือแอลดีแอล (LDL) ช่วยลดการดูดซึมไขมันจากทางเดินอาหาร ช่วยลดระดับความดันโลหิต และช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมันให้เป็นพลังงาน ซึ่งเป็นกระบวนการทางเคมีสำคัญที่ช่วยให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ หากร่างกายเผาผลาญไขมันได้ไม่ดี อาจส่งผลให้แก่ก่อนวัย ทั้งยังเสี่ยงเกิดภาวะไขมันในเลือดสูงที่นำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคข้ออักเสบ โรคอัลไซเมอร์ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นต้น6 นั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมชาวญี่ปุ่นที่บริโภคคุโรสุเป็นประจำจึงมีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง ไม่เหนื่อยล้าหรืออ่อนเพลียง่าย ไม่เว้นแม้แต่ผู้สูงอายุ

    กระเทียมฟุกุชิ กับสรรพคุณสุดพรีเมียม7,8

    เราน่าจะคุ้นเคยกับสมุนไพรที่มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัวและมีรสเผ็ดร้อนอย่างกระเทียมกันดีอยู่แล้ว พืชชนิดนี้ไม่ได้มีดีแค่เป็นส่วนผสมในอาหารหลากเมนู แต่ยังมีสารประกอบหลายชนิด เช่น สารอัลลิซิน (Allicin) ซัลไฟด์ (Sulfide) สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระอย่างเควอซิติน (Quercetin) ไอโซเควอซิติน (Isoquercetin) ที่ช่วยชะลอไม่ให้เซลล์เสื่อมก่อนวัย ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยต้านการอักเสบ เสริมสุขภาพผิวและกระดูก ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต เพิ่มความอยากอาหาร ป้องกันการเกิดลิ่มเลือด ฟื้นฟูร่างกายจากความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย

    น้ำส้มสายชูดำคุโรสุ-และ-กระเทียมฟุกุชิ-เคล็ดลับอายุยืน

    ทั้งยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ต่อสุขภาพมนุษย์ของกระเทียมที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Antioxidants เมื่อพ.ศ. 25639 ระบุว่า กระเทียมช่วยลดความเสี่ยงและบรรเทาภาวะสุขภาพได้มากมาย เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วนลงพุง โรคความดันโลหิตสูง รวมถึงโรคเบาหวาน ซึ่งหลายโรคที่กล่าวมา ก็เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทย10  การบริโภคกระเทียม เป็นประจำจึงอาจช่วยบำรุงสุขภาพ ช่วยให้ชีวิตยืนยาวแบบแข็งแรงและสุขภาพดี

    กระเทียมทั่วไปก็ว่าดีแล้ว แต่หากเป็นกระเทียมฟุกุชิ ที่มีเอกลักษณ์ คือ มี 6 กลีบเท่ากันทุกหัว แถมยังหัวใหญ่ เนื้อแน่น และหวานกว่ากระเทียมทั่วไป ซึ่งเป็นผลิตผลชั้นเลิศจากจังหวัดอาโอะโมริ ประเทศญี่ปุ่น ที่มีดินที่อุดมสมบูรณ์และขึ้นชื่อเรื่องเกษตรกรรม ก็ยิ่งมั่นใจในคุณภาพ โดยกระเทียมฟุกุชิ อุดมไปด้วยวิตามินบี 1 คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และแร่ธาตุต่าง ๆ อย่างแคลเซียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม มีประโยชน์ต่อร่างกาย

    ประโยชน์ยิ่งคูณสอง เมื่อคุโรสุประสานพลังกับกระเทียมฟุกุชิ11

    คุโรสุและกระเทียมฟุกุชิมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย 2 วัตถุดิบนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นวัตถุดิบคุณภาพในการเสริมสุขภาพของชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่ต้องใช้พลังงานในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ยุ่งกับการทำงาน รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา นอนไม่เป็นเวลา อ่อนเพลีย รวมถึงผู้สูงอายุที่อาจประสบปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น มีไขมันสะสม มีปัญหาเรื่องระบบขับถ่าย ระบบไหลเวียนเลือด หรือระบบภูมิคุ้มกันต่ำ

    การบริโภคคุโรสุร่วมกับกระเทียมฟุกุชิเป็นประจำมีส่วนช่วยเสริมสร้างพลังงานและช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ฟื้นฟูร่างกายจากความอ่อนเพลีย เพิ่มการเผาผลาญไขมันเป็นพลังงาน เพิ่มระบบไหลเวียนเลือด และช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งประโยชน์เหล่านี้ล้วนช่วยให้สามารถมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นได้อย่างแข็งแรงและปราศจากโรค

    แต่ถึงอย่างนั้น รสชาติแรง ๆ และกลิ่นฉุนอันเป็นเอกลักษณ์ของกระเทียมและน้ำส้มสายชูดำ ก็อาจทำให้การรับประทานวัตถุดิบเหล่านี้สด ๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน การบริโภคคุโรสุและกระเทียมฟุกุชิในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบบแคปซูลที่ผ่านกรรมวิธี Double Odorless Process ที่ทำให้ปราศจากกลิ่น จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีกว่า เพราะไม่มีกลิ่นฉุนและรสชาติที่หลายคนอาจเป็นกังวล แถมยังรับประทานได้ง่าย หาซื้อสะดวก ทั้งนี้ อย่าลืมเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ด้วย จะได้มั่นใจได้ว่า ช่วยเสริมสุขภาพได้อย่างปลอดภัย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 29/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา