สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเล่นกีฬา ไม่ว่าจะเป็นกีฬาอะไรก็ตาม มีโอกาสที่จะเกิดอาการบาดเจ็บได้เสมอ ตั้งแต่อาการบาดเจ็บที่รุนแรงไปจนถึงอาการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย วันนี้ Hello คุณหมอ มีบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับ วิธี บรรเทาอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา มาให้อ่านกันค่ะ ไปดูกันว่าเมื่อเกิด อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา จะจัดการอย่างไรได้บ้าง
อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา เกิดที่ส่วนใดของร่างกายบ้าง
อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ที่สามารถพบได้บ่อย ได้แก่
- ข้อเท้าแพลง เมื่อข้อเท้าแพลงมักจะมีอาการบวม ตึง และรู้สึกปวด
- เกิดรอยฟกช้ำ เมื่อร่างกายเกิดการกระแทกอาจทำให้เกิดรอยฟกช้ำได้
- ศีรษะถูกกระแทก การบาดเจ็บที่ศีรษะจากการกระแทกอาจทำให้เกิดอาการปวดหัว วิงเวียน หากกระแทกแรงมาก ๆ อาจส่งผลต่อสมองและสูญเสียความทรงจำ
- ได้รับบาดแผล เมื่อหกล้มจนผิวหนังครูดกับพื้นอาจทำให้ผิวหนังถลอกจนเกิดบาดแผลได้
- ร่างกายขาดน้ำ เมื่อร่างกายสูญเสียของเหลว อย่างเหงื่อมากเกินไป อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำ จนเกิดอาการอ่อนเพลีย ความร้อนในร่างกายสูง และเป็นโรคลมแดดได้
- ปวดขาหนีบ เมื่อเกิดการเสียดสีมาก ๆ บริเวณขาหนีบจะเกิดอาการปวดและบวม
- เอ็นร้อยหวายอีกเสบ
- อาการบาดเจ็บที่ข้อเข่า
- กระดูกหัก
บรรเทาอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ทำอย่างไรได้บ้าง
อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดกับผู้ที่เล่นกีฬา ซึ่งมีตั้งแต่อาการเพียงเล็กน้อยไปจนถึงอาการหนัก หากประเมินแล้วว่า อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นนั้นบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย วิธีการรักษาอาการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อเหล่านี้อาจช่วยบรรเทาได้เบี้องต้น
พักผ่อน
เมื่อร่างกายเกิดการบาดเจ็บ สิ่งแรกที่ควรทำคือ หยุดพัก การพักเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดวิธีหนึ่งที่ควรทำก่อนที่จะเริ่มบรรเทาด้วยวิธีอื่น ๆ ต่อไป เมื่อกล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บหากขยับหรือเคลื่อนย้ายผิดวิธีอาจจะยิ่งเพิ่มความเจ็บปวด และเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่เพิ่มขึ้น
ประคบเย็น
เมื่อเกิด อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา อาจทำให้บริเวณนั้นเกิดอาการปวดและบวม การประคบเย็นจึงเป็นวิธีที่จะช่วยป้องกันอาการบวมโดยลดการไหลเวียนของเลือดไปยังบริเวณนั้น ๆ ที่สำคัญอย่างวางถุงประคบเย็นลงบนผิวโดยตรงเพราะอาจทำให้ผิวถูกทำลายจากความเย็น (Frostbite) ดังนั้น ควรหาผ้ารองก่อนประคบเย็นที่ผิว ควรประคบเย็นนาน 15-20 นาทีต่อครั้ง
ใช้ผ้าผันแผล
การใช้ผ้าพันแผลแบบยืดหยุ่น พันรอบ ๆ บริเวณที่บาดเจ็บอย่างแน่นหนาสามารถช่วยลดอาการบวมได้ โดยป้องกันการสะสมของของเหลว ที่สำคัญการใช้ผ้าพันแผลแบบยืดหยุ่นยังช่วยลดการเคลื่อนไหวหรือขยับบริเวณนั้น เพื่อช่วยลดอาการปวดและพยุงบริเวณที่บาดเจ็บ หากพันแน่นจนรู้สึกชาหรือปวดมากกว่าเดิมให้คลายผ้าออกแล้วพันใหม่ให้หลวมกว่าเดิม
ให้แผลอยู่สูงกว่าหัวใจ
เมื่อเกิดบาดแผล ให้ทำการห้ามเลือด และทำให้แผลอยู่สูงกว่าระดับหัวใจ มีส่วนช่วยลดอาการบวมบริเวณนั้นได้ หากได้รับบาดเจ็บที่ก้นหรือสะโพกให้ใช้หมอนรองก้นให้สูงขึ้นขณะที่นอน
วิธีการดังที่ได้กล่าวไปเป็นเพียงการดูแลเบื้องต้นเท่านั้น สำหรับผู้ที่มีอาการที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเฉพาะเจาะจง หากบรรเทาด้วยวิธีการดังกล่าวแล้วไม่ดีขึ้นหรือมีอาการบาดเจ็บดังนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา
- อาการบาดเจ็บที่ไม่สามารถเดินได้ ขยับแขนหรือขาได้
- ข้อต่อเคลื่อนไหวได้ไม่ปกติ
- เลือดออกมากผิดปกติ
- ศีรษะได้รับกระทบกระเทือนจนหมดสติหรือรู้สึกวิงเวียน สับสน
[embed-health-tool-bmi]