backup og meta

วิตามินดี (Vitamin D)

วิตามินดี (Vitamin D)

วิตามินดี (Vitamin D) เป็นวิตามินที่พบได้ในอาหารและแสงแดด บางครั้งอยู่ในรูปแบบของอาหารเสริม วิตามินดีใช้ในการป้องกันและรักษาโรคกระดูกอ่อน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายไม่มีวิตามินดีเพียงพอ นอกจากนี้ วิตามินดียังใช้ในการรักษากระดูกที่ไม่แข็งแรงอีกด้วย

ข้อบ่งใช้

วิตามินดี ใช้สำหรับ

วิตามินดี (Vitamin D) เป็นวิตามินชนิดหนึ่ง ที่พบได้ในอาหาร แต่มีปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วพบได้ใน ปลาที่มีไขมัน เช่น ปลาเฮอริ่ง ปลาทู ปลาซาร์ดีน และปลาทูน่า เพื่อให้ได้รับวิตามินดีมากขึ้น ได้มีการเพิ่มวิตามินดีลงในผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม น้ำผลไม้ และธัญพืช โดยจะมีการระบุว่า “เสริมวิตามินดี’ แต่ส่วนใหญ่แล้ว วิตามินดี 80-90% ที่ร่างกายได้รับนั้น จะถูกสร้างผ่านการกระตุ้นจากแสงแดด วิตามินดียังสามารถสังเคราะห์เป็นยาได้ในห้องปฏิบัติการ

วิตามินดีใช้ในการป้องกันและรักษาโรคกระดูกอ่อน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายไม่มีวิตามินดีเพียงพอ ขาดวิตามินดี นอกจากนี้ วิตามินดียังใช้ในการรักษากระดูกที่ไม่แข็งแรง อย่าง อาการกระดูกพรุน อาการปวดของกระดูก (Osteomalacia) การสูญเสียมวลกระดูกของคนที่มีภาวะฮอร์โมนไทรอยด์สูง (Hyperparathyroidism) และโรคที่สืบทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคกระดูกเปราะกรรมพันธุ์ ซึ่งกระดูกจะเปราะบางและแตกง่าย นอกจากนี้ ยังใช้เพื่อป้องกันการแตกและหักของกระดูก ในผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน และป้องกันการสูญเสียแคลเซียมและกระดูก ในผู้ที่มีภาวะไตวาย

นอกจากนี้วิตามินดียังถูกใช้เพื่อรักษาโรคอื่น ๆ ด้วย ดังนี้

บางคนใช้วิตามินดีสำหรับอาการทางผิวหนัง เช่น โรคผิวด่างขาว โรคหนังแข็ง โรคสะเก็ดเงิน โรคแอกทินิกเคราโทสิส (Keratosis Actinic) และวัณโรคผิวหนัง

นอกจากนี้ยังใช้สำหรับการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคแพ้ภูมิตนเอง และป้องกันโรคมะเร็ง

เนื่องจากวิตามินดีมีส่วนช่วยในการควบคุมระดับแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น ฟอสฟอรัสและแคลเซียม วิตามินดีจึงใช้สำหรับอาการ

  • ระดับฟอสฟอรัสต่ำ เช่น โรคฟอสฟอรัสในเลือดต่ำที่เป็นกรรมพันธุ์ หรือ Familial Hypophosphatemia และกลุ่มอาการแฟนโคนี หรือ Fanconi Syndrome
  • ระดับแคลเซียมต่ำ เช่น ภาวะพร่องฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (Hypoparathyroidism) และภาวะต่อมพาราไทรอยด์พร่องเทียม (Pseudohypoparathyroidism)

วิตามินดีในรูปแบบที่เรียกว่า “แคลซริไทรออล (Calcitriol)’ หรือ “แคลซิโพไทรอีน (Calcipotriene)’ จะนำมาใช้โดยตรงกับผิวหนัง เพื่อรักษาโรคสะเก็ดเงินชนิดหนึ่ง

การทำงานของ วิตามินดี

ยังไม่ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับการออกฤทธิ์ของวิตามินดีที่เพียงพอ โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม วิตามินดีจำเป็นต่อการควบคุมแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่พบในร่างกาย รวมถึงยังช่วยรักษาโครงสร้างกระดูก

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ วิตามินดี

ปรึกษาแพทย์หรึอเภสัชกรหาก

  • คุณกำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เนื่องจากในขณะที่คุณตั้งครรถ์หรือให้นมบุตรอยู่ คุณควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำเท่านั้น
  • คุณกำลังใช้ยาชนิดอื่น รวมถึงยาใด ๆ ที่คุณซื้อโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์
  • คุณแพ้ส่วนประกอบของวิตามินดีหรือสมุนไพรชนิดอื่น
  • คุณมีอาการป่วย ความผิดปกติหรือโรคชนิดอื่น
  • คุณมีอาการแพ้ เช่น แพ้อาหาร สารย้อมสี วัตถุกันเสียหรือสัตว์อื่น ๆ

ข้อกำหนดในการใช้อาหารเสริม ไม่เคร่งครัดเท่ากับข้อกำหนดในการใช้ยา จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม เพื่อระบุความปลอดภัยของสารนี้ ข้อดีของการใช้อาหารเสริมต้องมีมากกว่าความเสี่ยงก่อนที่คิดจะใช้ ปรึกษาแพทย์เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

วิตามินดีมีความปลอดภัยในระหว่างตั้งครรภ์และให้นมบุตร เมื่อใช้ในขนาดยาต่อวันต่ำกว่า 4,000 หน่วย อย่าใช้ขนาดยาที่มากกว่านั้น วิตามินดีอาจไม่ปลอดภัย เมื่อใช้ในขนาดยาที่มากระหว่างตั้งครรภ์หรือขณะให้นมบุตร การใช้ขนาดยาที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อทารก

ความปลอดภัยของการใช้ วิตามินดี

วิตามินดีมีความปลอดภัย เมื่อรับประทานหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ในขนาดยาที่แนะนำ คนส่วนใหญ่มักไม่ได้รับผลข้างเคียงจากวิตามินดี ยกเว้นใช้วิตามินดีมากเกินไป

การใช้วิตามินดีเป็นเวลานาน ในขนาดยาที่สูงกว่า 4,000 หน่วยต่อวัน อาจเป็นอันตราย และอาจทำให้แคลเซียมในเลือดสูงเกินไป อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องใช้ขนาดยาที่สูงขึ้น เพื่อรักษาภาวะขาดวิตามินดีในระยะสั้น การรักษาแบบนี้ควรทำภายใต้การดูแลของผู้ให้บริการด้านการแพทย์

ข้อควรระวังและคำเตือนสำหรับสภาวะอื่น ๆ

วิตามินดีมีความปลอดภัยสำหรับคนส่วนใหญ่ เมื่อรับประทานหรือฉีดเข้าสู่ร่างกาย แต่อาจจะไม่ปลอดภัย หากรับประทานในปริมาณที่มากในระยะยาว

โรคไต

วิตามินดีอาจเพิ่มระดับแคลเซียมและเพิ่มความเสี่ยงต่อการ “แข็งตัวของเส้นเลือดแดง’ ในคนที่เป็นโรคไตอย่างร้ายแรง วิตามินดีต้องใช้ในขนาดยาที่เหมาะสม โดยอิงจากความจำเป็นในการป้องกันโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นโรคกระดูกที่เกิดขึ้น เมื่อไตไม่สามารถรักษาระดับที่เหมาะสมของแคลเซียมและฟอสฟอรัสในเลือด ผู้ป่วยโรคไตควรได้รับการตรวจระดับแคลเซียมอย่างละเอียด

ระดับแคลเซียมในเลือดสูง

การใช้วิตามินดีอาจทำให้อาการดังกล่าวแย่ลง

การแข็งตัวของหลอดเลือดแดง (Atherosclerosis)

การรับประทานวิตามินดีอาจทำให้อาการนี้แย่ลงโดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคไต

โรคซาคอยด์ (Sarcoidosis)

วิตามินดีอาจเพิ่มระดับแคลเซียมในคนที่เป็นโรคซาคอยด์ซึ่งอาจนำไปสู่นิ่วในไตและโรคอื่น ๆ ควรใช้วิตามินดีอย่างระมัดระวัง

โรคฮิสโตพลาสโมสิส (Histoplasmosis)

วิตามินดีอาจเพิ่มระดับแคลเซียมในคนที่เป็นโรคซาคอยด์ซึ่งอาจนำไปสู่นิ่วในไตและโรคอื่น ๆ ควรใช้วิตามินดีอย่างระมัดระวัง

ภาวะมีฮอร์โมนพาราไทรอยด์มากเกินไป (hyperparathyroidism)

วิตามินดีอาจเพิ่มระดับแคลเซียมในผู้ที่มีฮอร์โมนพาราไทรอยด์มากเกินไป ควรใช้วิตามินดีอย่างระมัดระวัง

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

วิตามินดีอาจเพิ่มระดับแคลเซียมในคนที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งอาจนำไปสู่นิ่วในไตและโรคอื่น ๆ ควรใช้วิตามินดีอย่างระมัดระวัง

วัณโรค

วิตามินดีอาจเพิ่มระดับแคลเซียมในคนที่เป็นวัณโรค นี้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น นิ่วในไต

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้วิตามินดี

ผลข้างเคียงบางอย่างของการใช้วิตามินดีมากเกินไป ได้แก่ อ่อนเพลีย เมื่อยล้า ง่วงซึม ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ปากแห้ง รู้สึกฝาดในปาก คลื่นไส้ อาเจียน และอาจมีอาการอื่น ๆ

แต่อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงที่กล่าวมาข้างต้น อาจไม่ได้เกิดกับทุกคน หากคุณมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

วิตามินดีอาจทำปฏิกิริยากับยาหรือโรคของคุณ ปรึกษากับแพทย์ก่อนใช้

ยาหรือสารที่อาจทำปฏิกิริยากับวิตามินดี ได้แก่

  • อะลูมิเนียม

ส่วนมากอะลูมิเนียมพบได้ในยาลดกรด วิตามินดีอาจเพิ่มปริมาณอลูมิเนียมที่ร่างกายดูดซึมได้ ปฏิกิริยานี้อาจเป็นปัญหาสำหรับผู้ที่เป็นโรคไต ให้ใช้วิตามินดี 2 ชั่วโมงก่อน หรือ 4 ชั่วโมงหลังจากใช้ยาลดกรด

  • ยาแคลซิโพไทรอีน (Calcipotriene) อย่างเช่นยาโดโวเน็กซ์ (Dovonex)

ยาแคลซิโพไทรอีนเป็นยาที่คล้ายกับวิตามินดี การใช้วิตามินดีร่วมกับยาแคลซิโพไทรอีน (ยาโดโวเน็กซ์) อาจเพิ่มฤทธิ์และผลข้างเคียงของยาแคลซิโพไทรอีน (ยาโดโวเน็กซ์) หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเสริมวิตามินดี หากคุณรับประทานยานี้

  • ยาไดจอกซิน (Digoxin) อย่างเช่นยาลาโนซิน (Lanoxin)

วิตามินดีช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียม แคลเซียมอาจส่งผลต่อหัวใจ ยาไดจอกซิน (ยาลาโนซิน) ใช้เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้หัวใจการใช้วิตามินดีร่วมกับยาไดจอกซิน (ยาลาโนซิน) อาจเพิ่มฤทธิ์ของยาไดจอกซิน (ยาลาโนซิน) และทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ ถ้าคุณกำลังใช้ยาไดจอกซิน (ยาลาโนซิน) ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะใช้วิตามินดีเสริม

  • ยาดิลเทียเซม (Diltiazem) อย่างเช่น ยาคาร์ดิเซม (Cardizem) ยาดิลาคอร์ (Dilacor) และยาเทียแซค (Tiazac)

วิตามินดีช่วยให้ร่างกายของคุณดูดซึมแคลเซียม แคลเซียมอาจมีผลต่อหัวใจของคุณ ยาดิลเทียเซม (ยาคาร์ดิเซม ยาดิลาคอร์ และยาเทียแซค) อาจส่งผลต่อหัวใจของคุณ การรับประทานวิตามินดีร่วมกับยาดิลเทียเซม (ยาคาร์ดิเซม ยาดิลาคอร์ และยาเทียแซค) อาจลดประสิทธิภาพของยานี้

  • ยาเวราพามิล (Verapamil) อย่างเช่นยาคาลัน (Calan) ยาโคเวอรา (Covera) ยาไอซอพติน (Isoptin) และยาเวอราลัน (Verelan)

วิตามินดีช่วยให้ร่างกายของคุณดูดซึมแคลเซียม แคลเซียมอาจส่งผลต่อหัวใจ ยาเวราพามิล (ยาคาลัน ยาโคเวอรา ยาไอซอพติน และยาเวอราลัน) อาจส่งผลต่อหัวใจ อย่าใช้วิตามินดีในปริมาณมาก หากคุณใช้ยาเวราพามิล (ยาคาลัน ยาโคเวอรา ยาไอซอพติน และยาเวอราลัน)

  • ยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอาไซด์ (Thiazide)

วิตามินดีช่วยให้ร่างกายของคุณดูดซึมแคลเซียม ยาขับปัสสาวะบางชนิดช่วยเพิ่มปริมาณแคลเซียมในร่างกาย การรับประทานวิตามินดีในปริมาณมาก พร้อมกับยาขับปัสสาวะบางชนิด อาจทำให้มีแคลเซียมในร่างกายมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงรวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับไต

บางส่วนของยาขับปัสสาวะเหล่านี้ ได้แก่ ยาคลอโรไทอาไซด์ (Chlorothiazide) อย่างเช่นยาไดยูริล (Diuril) ยาไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ (Hydrochlorothiazide) อย่างเช่น ยาไฮโดรไดยูริล (HydroDIURIL) และยาเอซิดริกซ์ (Esidrix) ยาอินดาพาไมด์ (Indapamide) อย่างเช่น ยาโลซอล (Lozol) ยาเมโทลาโซน (Metolazone) อย่างเช่นยาซาโรโซลีน (Zaroxolyn) และยาคลอทาลิโดน (Chlorthalidone) อย่างเช่น ยาไฮโกรตอน (Hygroton)

  • ยาซิเมทิดีน (Cimetidine) อย่างเช่นยาทากาเมต (Tagamet)

ร่างกายจะเปลี่ยนวิตามินดีให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถใช้ได้ ยาซิเมทิดีนอาจลดประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงของวิตามินดีในร่างกายเหล่านี้ สิ่งนี้อาจลดสมรรถนะของวิตามินดี แต่ปฏิกิริยานี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับคนส่วนใหญ่

  • ยาเฮพาริน (Heparin)

ยาเฮพารินทำให้ลือดแข็งตัวช้าลง และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการย่อยสลายมวลกระดูก เมื่อใช้เป็นเวลานาน ผู้ที่รับประทานยาเหล่านี้ควรรับประทานอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียมและวิตามินดี

  • ยาเฮพารินที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำ (LMWHS)

ยาบางชนิดที่เรียกว่ายาเฮพารินที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการย่อยสลายมวลกระดูก เมื่อใช้เป็นเวลานาน คนที่รับประทานยาเหล่านี้ ควรรับประทานอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียมและวิตามินดี

ยาเหล่านี้ ได้แก่ ยาอีโนซาพาริน (Enoxaparin) อย่างเช่น ยาโลเวน็อกซ์ (Lovenox) ยาดาลเทพาริน (Dalteparin) อย่างเช่น ยาแฟรกมิน (Fragmin) และยาทินซาพาริน (Tinzaparin) อย่างเช่น ยาอินโนเฮพ (Innohep)

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยานี้

ขนาดยาทั่วไปของวิตามินดี

ขนาดยาต่อไปนี้ได้รับการศึกษาในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์

การรับประทาน

  • สำหรับการป้องกันโรคกระดูกพรุนและกระดูกหัก ใช้สำหรับผู้สูงอายุ 400-1,000 หน่วยต่อวัน ผู้เชี่ยวชาญบางรายแนะนำให้ใช้ขนาดยาที่สูงขึ้นเป็น 1,000-2,000 หน่วยต่อวัน
  • สำหรับการป้องกันการหกล้ม 800-1,000 หน่วยต่อวัน ใช้ร่วมกับแคลเซียม 1,000-1,200 มิลลิกรัมต่อวัน
  • สำหรับการป้องกันโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis หรือ MS) การใช้ยาในระยะยาวอย่างน้อย 400 หน่วยต่อวัน ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของวิตามินเสริม
  • สำหรับการป้องกันโรคมะเร็งทุกชนิด แคลเซียม 1,400-1,500 มิลลิกรัมต่อวัน บวกวิตามินดี 3 หรือคลอเลแคลซิเฟรอล (Cholecalciferol) มีการใช้แคลเซียม 1,100 หน่วยต่อวันในสตรีหลังวัยหมดประจำเดือน
  • สำหรับอาการปวดกล้ามเนื้อที่เกิดจากยาสแตติน (Statins) วิตามินดี 2 หรือเออร์โกแคลซิเฟรอล (Ergocalciferol) หรือวิตามินดี3 หรือคลอเลแคลซิเฟรอล 50,000 หน่วยสัปดาห์ละครั้ง หรือ 400 หน่วยต่อวัน
  • สำหรับป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ วิตามินดี (คลอเลแคลซิเฟรอล) 1,200 หน่วยต่อวัน

อาหารเสริมวิตามินดีส่วนใหญ่มีวิตามินดีเพียง 400 หน่วย (10 ไมโครกรัม)

สถาบันแพทยศาสตร์แห่งสหรัฐ (IOM) เผยแพร่ข้อมูลปริมาณสารอาหารที่แนะนำรายวัน (RDA) ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณขนาดยาวิตามินดีที่ตรงกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ ข้อมูลแนะนำรายวันในปัจจุบันมีการจัดทำไว้ในปี 2553 ข้อมูลแนะนำรายวันแตกต่างกันไปตามอายุดังต่อไปนี้

  • 1-70 ปี 600 หน่วยต่อวัน
  • 71 ปีขึ้นไป 800 หน่วยต่อวัน
  • สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร 600 หน่วยต่อวัน
  • ทารกที่มีอายุ 0-12 เดือนแนะนำให้รับประทานปริมาณที่เพียงพอ (AI) คือ 400 หน่วย

บางองค์กรแนะนำขนาดยาที่มากกว่า ในปี 2551 สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐฯ ได้เพิ่มปริมาณวิตามินดีที่แนะนำต่อวันเป็น 400 หน่วยต่อวันสำหรับทารกและเด็กเล็ก รวมถึงวัยรุ่น ผู้ปกครองไม่ควรใช้วิตามินดีในรูปของเหลวที่มีปริมาณ 400 หน่วยต่อหยด การใช้วิตามินดี 1 หยดหรือ 1 มิลลิลิตร โดยไม่ได้ตั้งใจ จะส่งผลต่อปริมาณวิตามินดีเป็น 10,000 หน่วยต่อวัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ จะควบคุมให้บริษัทต่างๆ ผลิตวิตามินดีไม่เกิน 400 หน่วยต่อหยดในอนาคต

มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งสหรัฐฯ แนะนำวิตามินดี 400-800 หน่วยต่อวันสำหรับผู้ใหญ่อายุน้อยกว่า 50 ปีและ 800-1,000 หน่วยต่อวันสำหรับผู้สูงอายุ

The North American Menopause Society แนะนำให้ใช้วิตามินดี 700-800 หน่วยต่อวัน สำหรับสตรีที่มีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามินดี เนื่องจากไม่ค่อยได้รับแสงแดด (เช่น ไม่ค่อยได้ออกจากบ้าน อยู่ในละติจูดเหนือ)

สมาคมโรคกระดูกพรุนแห่งแคนาดาแนะนำให้ใช้วิตามินดี 400 หน่วยต่อวัน สำหรับคนที่อายุไม่เกิน 50 ปี และ 800 หน่วยต่อวัน สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี สำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน แนะนำให้ใช้วิตามินดี 400-1,000 หน่วยต่อวัน สำหรับผู้ใหญ่ที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี และ 800-2,000 หน่วยต่อวัน สำหรับผู้ใหญ่อายุเกิน 50 ปี

สมาคมมะเร็งแห่งแคนาดาแนะนำให้ใช้ 1000 หน่วยต่อวันในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวสำหรับผู้ใหญ่ สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีระดับวิตามินดีต่ำ ควรใช้ขนาดยาดังกล่าวตลอดทั้งปี รวมถึงคนที่มีผิวคล้ำ และมักสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดผิวหนัง และผู้ที่มีอายุมากกว่าหรือผู้ที่ไม่ได้ออกไปข้างนอกบ่อย

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมวิตามินดี ที่ประกอบด้วยสารคลอเลแคลซิเฟรอล ซึ่งนี่ดูจะมีประสิทธิภาพมากกว่าวิตามินดีในรูปแบบอื่น

ปริมาณสำหรับวิตามินดีอาจแตกต่างกันสำหรับผู้ป่วยทุกราย ปริมาณที่คุณใช้ขึ้นอยู่กับอายุ สุขภาพ และเงื่อนไขอื่น ๆ อาหารเสริมไม่ปลอดภัยเสมอ โปรดปรึกษาแพทย์ของคุณเกี่ยวกับปริมาณที่เหมาะสมของคุณ

รูปแบบของยา

วิตามินดีสามารถพบได้ในแหล่งดังต่อไปนี้

  • พบในอาหารตามธรรมชาติ
  • แคปซูล
  • แคปซูลแบบนุ่ม (Softgels)
  • ยาน้ำ

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vitamin D https://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-929-vitamin+d.aspx. Accessed January 16, 2018

What are the health benefits of vitamin D? https://www.medicalnewstoday.com/articles/161618.php. Accessed January 16, 2018

Vitamin DVitamins and minerals . https://www.nhs.uk/conditions/vitamins-and-minerals/vitamin-d/. Accessed March 17, 2021

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/03/2021

เขียนโดย จิดาภา ติยะสิริทานนท์

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาแก้เจ็บคอ ควรใช้เมื่อไหร่ดี มีข้อควรระวังอย่างไร

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิตามินดี ต่อผิวของคุณและสุขภาพโดยรวม


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย จิดาภา ติยะสิริทานนท์ · แก้ไขล่าสุด 24/03/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา