backup og meta

เครียดแล้วอยากกินของหวาน เกิดจากสาเหตุใดกันแน่นะ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 22/05/2020

    เครียดแล้วอยากกินของหวาน เกิดจากสาเหตุใดกันแน่นะ

    เครียดแล้วอยากกินของหวาน เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับใครหลายคน ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมเวลาที่คนเราเครียด แล้วต้องหาของหวานมากินนั้น ในบทความนี้มีข้อมูลมาฝาก แต่ก่อนที่เราจะไปรู้สาเหตุ มาสังเกตพฤติกรรมตัวเองกันหน่อยดีกว่าว่า คุณเป็นคนที่เครียดแล้วกินหรือเปล่า

    ถ้าหากมีอาการเหล่านี้ก็มีแนวโน้มว่า เวลาที่คุณเครียด คุณอาจจะมองหาของหวาน และกินมากเกินไป เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น เช่น

    • เวลาเครียดคุณจะอยากกินอาหารเพื่อให้รู้สึกดีขึ้น
    • คุณกินทั้งๆ ที่ไม่รู้สึกหิว หรือว่ากินทั้งๆ ที่อิ่มแล้ว
    • คุณกินอาหารมื้อใหญ่
    • คุณไม่สามารถควบคุมการกินของตัวเองได้

    ทำไมเวลา เครียดแล้วอยากกินของหวาน

    • อาหารกับความเครียด

    เวลาที่คุณรู้สึกเครียดนั้น การกินตามอารมณ์ (Emotional eating) หรือการกินเพราะความเครียด (Stress eating) มักจะเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายตอบสนอง ต่อฮอร์โมนแห่งความเครียด

    งานวิจัยในปี 2010 จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ที่ได้ศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีและไม่มีความเครียด ผลการวิจัยพบว่า เมื่อระดับฮอร์โมนความเครียด หรือฮอร์โมนคอร์ติซอลสูงขึ้น กลุ่มตัวอย่างมีแนวโน้มว่าจะกินขนมขบเคี้ยวมากขึ้น

    นอกจากนี้ความเครียด ยังอาจเพิ่มความอยากอาหาร โดยเฉพาะของหวาน เช่น โดนัท ไอศกรีม อาหารที่มีไขมันสูงและมีน้ำตาลสูง รวมถึงทำให้คุณมีแนวโน้มที่จะกินอาหารที่มีประโยชน์น้อยลง กินผักน้อยลง และหันไปกินของหวานมากขึ้น

    • ระวังเรื่องน้ำหนัก

    ถ้าคุณเป็นคนที่ ‘เครียดแล้วกิน’ จะต้องหาของหวานมากินในเวลาที่รู้สึกเครียด ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะหลายคนเป็นแบบนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ผู้ที่เครียดแล้วกินส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักมากกว่าหรืออ้วนกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่ไม่ได้กินอาหารเวลาเครียด

    • ของหวานกับฮอร์โมนเซโรโทนิน

    สาเหตุที่ทำให้เราอยากกินของหวานเวลาเครียดนั้น เป็นเพราะว่าอาหารสามารถช่วยบรรเทาความเครียดได้ เช่น คอมฟอร์ทฟู้ด (Comfort food) อย่างเช่น โจ๊กหมูอุ่นๆ สักถ้วย ก็อาจจะช่วยเพิ่มเซโรโทนินหรือสารเคมีในสมองที่ทำให้รู้สึกสงบ

    นอกจากนี้ยังมีอาหารอื่นๆเช่น ของหวาน หรืออาหารที่มีน้ำตาลสูง ที่สามารถช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลและอะดรีนาลีน ที่จะหลั่งออกมาในเวลาที่คุณรู้สึกเครียด การทานของหวาน เช่น น้ำอัดลม ชาเย็น กาแฟเย็น บิงซู เป็นอาหารที่มีน้ำตาลสูง ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยง่าย คาร์โบไฮเดรตเป็นอาหารที่กระตุ้นการสร้างเซโรโทนิน ที่เป็นสารเคมีจากสมองที่จะทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น

    การกินคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยง่ายอย่างน้ำตาล จะทำให้ร่างกายย่อยอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการหลั่งเซโรโทนิน แต่คุณจะรู้สึกดีได้ไม่นาน ก็จะกลับมารู้สึกเหมือนเดิมอีกครั้ง

    อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการกินของหวานจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ  หลายคนก็เลือกที่จะใช้วิธีนี้เพื่อบรรเทาความเครียด แต่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ไม่ควรเลือกกินของหวาน เพื่อบรรเทาความเครียด คุณควรจะจำกัดปริมาณของหวานที่กิน เพื่อสุขภาพที่ดี และรับประทานของหวานในปริมาณที่เหมาะสม ป้องกันภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน โรคเบาหวาน ที่อาจจะเป็นอันตรายแฝงตามมา

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 22/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา