สัตว์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ช่วยให้เรารู้สึกมีความสุข แถมสัตว์ยังเป็นเพื่อนที่ดีกับเราอีกด้วย ในทางการแพทย์มีการใช้ สัตว์เพื่อการบำบัด (Emotional Support Animal) ซึ่งเป็นการใช้สัตว์เพื่อสนับสนุนผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางสุขภาพกายหรือปัญหาทางสุขภาพจิต ซึ่งสัตว์เหล่านี้ไม่ใช่ สัตว์เลี้ยง แต่เป็นสัตว์ที่มีการฝึกฝนมาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโดยเฉพาะ เพื่อให้ผู้ป่วยนั้นดีขึ้น วันนี้ Hello คุณหมอ จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับวิธีการใช้สัตว์เพื่อการบำบัดว่าคืออะไร มีประโยชน์อย่างไรบ้าง ไปอ่านกันเลยค่ะ
สัตว์เพื่อการบำบัด (Emotional Support Animal) คืออะไร
สัตว์เพื่อการบำบัดนั้น เป็นสัตว์ที่มีการฝึกฝนมาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต จุดประสงค์ของสัตว์เหล่านั้นคือการเป็นมิตร และช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ให้ดีขึ้น
สัตว์เพื่อการบำบัดนั้นมีความหลากหลายมาก ระดับพื้นฐานก็คือ สุนัข แมว นอกจากนี้ยังมีเป็ด นกยูง ไก่งวงอีกด้วย แต่สัตว์ที่มักพบได้ทั่วไปสำหรับสัตว์บำบัดคือ สุนัขและแมว การใช้สัตว์เพื่อการบำบัดนั้นสามารถใช้ได้กับอาการป่วยหลายๆ อย่าง สภาวะป่วยทางจิตหลังจากเผชิญกับเหตุการณ์รุนแรง (PTSD) ก็สามารถใช้สัตว์เพื่อการบำบัดได้เช่นกัน บางครั้งสัตว์เพื่อการบำบัดก็ไม่ใช้สัตว์ที่ผ่านการฝึกฝนหรืออบรมใด ๆ แต่เป็นสัตว์ที่มีคุณค่าทางจิตใจกับผู้ป่วย
ประโยชน์ของการใช้สัตว์เพื่อการบำบัด
จากการวิจัยพบว่าการเลือกใช้สัตว์เพื่อสนับสนุนทางอารมณ์นั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพจิต โดยผลการวิจัยชี้ว่าผู้ที่ใช้สัตว์เพื่อการบำบัดนั้นมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น อารมณ์ดีขึ้น และยังมีความสามารถในดารรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นในยามวิกฤตได้ดีอีกด้วย นอกจากนี้แล้วการบำบัดด้วยสัตว์เลี้ยงยังมีประโยชน์อื่นๆ อีก เช่น
วิตกกังวลน้อยลง แค่การได้ลูบสัตว์ ร่างกายก็จะมีการตอบสนองต่อการผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวลและช่วยทำให้อารมณ์นั้นดีขึ้นได้
ลดความเจ็บปวดทางใจ ในเวลาที่ต้องเผชิญกับปัญหาที่สร้างความปวดร้าวให้กับเรานั้น การได้มีสัตว์ใกล้ ๆ ก็ช่วยให้ความเจ็บปวดต่าง ๆ นั้นทุเลาลงได้
ช่วยปรับปรุงสุขภาพร่างกาย จากการศึกษาพบว่าการใช้สัตว์บำบัดนั้น มีส่วนช่วยลดความดันโลหิต ลดอัตราการเต้นของหัวใจ และช่วยปรับปรุงความสามารถในการรับมือกับความเจ็บปวดได้ดีขึ้นด้วย
รู้สึกเหงาน้อยลง นอกจากช่วยเราในด้านต่าง ๆ แล้วการมีสัตว์ข้าง ๆ กายยังช่วยให้เรารู้สึกเหงาได้น้อยลงด้วย โดยเฉพาะคนที่อยู่ตามลำพังหรือมีภาวะซึมเศร้า การมีมีสัตว์ข้างกายเหมือนเรามีเพื่อนคอยอยู่ด้วยเสมอในยามที่เหนื่อย การที่เราได้ดูแลเขาทำให้เรารู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น มีสิ่งที่ต้องทำ แล้วเขาเองก็รักเรา
แม้ว่าการใช้สัตว์เพื่อการบำบัดนั้นจะยังไม่มีความแพร่หลายในประเทศไทย ทำให้ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการใช้สัตว์เพื่อการบำบัดมากนัก แต่ในต่างประเทศผู้ที่จะสามารถใช้สัตว์เพื่อการบำบัดได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติอยู่ภายใต้ที่ข้อกฎหมายกำหนด เช่น เป็นผู้ป่วยทุพลภาพ มีปัญหาด้านสุขภาพจิต อย่างภาวะซึมเศร้า หรือต้องได้รับจดหมายรับรองจากจิตแพทย์ว่ามีความต้องการใช้สัตว์เพื่อการบำบัดทางอารมณ์ ที่สำคัญต้องใช้สัตว์ที่ผ่านการฝึกฝนเฉพาะด้านและมีใบรับรองอย่างถูกต้องเท่านั้น หรือไม่ก็ต้องเป็นสัตว์ที่มีคุณค่าทางจิตใจกับผู้ป่วย การใช้สัตว์บำบัด จึงจะเห็นผล