ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จำเป็นต้องเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพราะมีความเสี่ยงในการเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงจากไข้หวัดใหญ่ได้มากกว่า และถึงแม้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้สูงอายุจะเปลี่ยนแปลงไปตามวัย ทำให้อาจตอบสนองต่อวัคซีนได้ไม่ดีเท่าคนวัยอื่น แต่งานศึกษาวิจัยหลายชิ้นก็พบว่า วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดสภาวะทางการแพทย์หรือการเจ็บป่วยเนื่องจากไข้หวัดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วัคซีนไข้หวัดใหญ่แบบไหน เหมาะกับผู้สูงอายุ
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่เหมาะสมกับช่วงวัยของตัวเอง แต่ไม่ควรใช้วัคซีนพ่นจมูก โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ในประเทศไทยเป็นวัคซีนเชื้อตาย มีอยู่ 2 กลุ่ม ได้แก่
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่กลุ่มที่มีส่วนประกอบของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์หลัก (quadrivalent inactivated influenza vaccine)
- กลุ่มที่มีส่วนประกอบของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์หลัก (trivalent inactivated influenza vaccine)
อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุที่เข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อาจเกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น มีรอยบวมแดง หรือเจ็บบริเวณรอยเข็ม แต่ก็ถือเป็นอาการข้างเคียงที่พบได้ปกติ และหากผู้สูงอายุเพิ่งเคยรับการฉีดวัคซีนครั้งแรก ก็อาจทำให้มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และมีอาการอ่อนเพลีย ได้ประมาณ 1-2 วัน แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก หากเทียบกับอาการที่จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน
ผู้สูงอายุกลุ่มไหน ไม่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
แม้วัคซีนไข้หวัดใหญ่จะมีประโยชน์ แต่ผู้สูงอายุที่มีสภาะต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
- เคยเข้ารับวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือวัคซีนอื่นๆ แล้วมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อวัคซีนที่รุนแรง
- เคยเกิดกลุ่มอาการทางตาและทางเดินหายใจ (Oculo-Respiratory Syndrome หรือ ORS) ขั้นรุนแรง หลังจากเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยอาการของกลุ่มอาการนี้ คือ มีอาการตาแดงร่วมกับอาการทางระบบทางเดินหายใจอย่างน้อยหนึ่งอย่าง ได้แก่ หายใจลำบาก ไอ เจ็บคอ หอบ แน่นหน้าอก หน้าบวม
- อยู่ในช่วงเข้ารับการรักษามะเร็งด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัดในกลุ่มที่ยับยั้งการทำงานที่อิมมูนเช็คพอยต์ (Immune Checkpoint Inhibitors)
- เกิดกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain–Barré syndrome หรือ GBS) ที่ส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต โดยไม่ทราบสาเหตุ ภายใน 4 สัปดาห์หลังได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
หากผู้สูงอายุเป็นไข้หวัดใหญ่ ควรทำอย่างไรดี
เนื่องจากผู้สูงอายุมีความเสี่ยงเกิดอาการข้างเคียงรุนแรง ฉะนั้น หากมีอาการหรือสัญญาณของไข้หวัดใหญ่ ก็ควรรีบไปพบคุณหมอทันที เพราะยาต้านไวรัสจะทำงานได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อเริ่มใช้ยารักษาตั้งแต่เนิ่นๆ นั่นก็คือ ภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการ และนอกจากกินยาแล้ว ผู้สูงอายุและคนรอบข้างก็ควรดูแลไม่ให้เชื้อไข้หวัดใหญ่แพร่กระจาย ด้วยวิธีดูแลตัวเองง่ายๆ เช่น ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่หรือไอจาม
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด