การทำเล็บได้รับความนิยมแพร่หลาย ทั้งการทาสีเล็บ การทำสปาเล็บ รวมถึงการทำเล็บปลอม ซึ่งอาจเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเล็บที่แข็งแรง ทนทาน แต่ใช้เวลาในการทำไม่นาน เล็บปลอม มีด้วยกันหลายประเภท จึงควรเลือกให้เหมาะสมกับความต้องการ และควรศึกษาวิธีดูแลเล็บปลอมที่ถูกต้อง เพื่อให้เล็บปลอมติดทนขึ้น และลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพเล็บที่อาจพบได้จากการต่อเล็บปลอม เช่น เล็บติดเชื้อรา
[embed-health-tool-bmr]
เล็บปลอม มีกี่ประเภท
เล็บปลอมมีด้วยกันอยู่ 2 ประเภท คือ เล็บอะคริลิค กับ เล็บเจล โดยเล็บปลอมทั้งสองประเภทนี้จะแตกต่างกันตั้งแต่วัสดุที่ใช้ทำเล็บปลอม วิธีการต่อเล็บ ไปจนถึงการล้างเล็บ ดังนี้
- เล็บอะคริลิค (Acrylic) เล็บอะคริลิคนั้นเป็นวิธีการต่อเล็บปลอมที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความแข็งแรงมากกว่าเล็บเจล และไม่จำเป็นต้องใช้แสง UV อบให้แห้งแบบเล็บเจล เล็บอะคริลิคทำขึ้นมากจากการผสมผงอะคริลิค ซึ่งเป็นพลาสติกประเภทหนึ่ง เข้ากับน้ำยาเฉพาะของผงอะคริลิค ผสมกันแล้วจะมีลักษณะคล้ายแป้งเปียก เมื่อปล่อยทิ้งไว้ก็จะแห้งและแข็ง ทำให้สามารถขึ้นรูปและตัดเล็บให้เป็นลักษณะที่ต้องการได้สะดวก โดยปกติ หากจะต่อเล็บอะคริลิคจะต้องกรอหรือตะไบส่วนหน้าเล็บก่อน เพื่อให้ตัวอะคริลิคสามารถเกาะกับผิวหน้าเล็บได้ ดังนั้น วิธีนี้จึงอาจจะไม่เหมาะกับผู้ที่มีเล็บบางเพราะอาจทำให้เกิดปัญหาขณะกรอหน้าเล็บได้
- เล็บเจล (Gels) เล็บเจลมีราคาที่แพงกว่าและอยู่ได้นานกว่าเล็บอะคริลิค สามารถทาสีเจลที่ผสมไว้เรียบร้อยแล้วลงบนเล็บได้เลยคล้ายกับการทาสีเล็บตามปกติ จากนั้นจึงอบสีเจลให้แห้งด้วยเครื่องอบยูวี เมื่อสีเจลแห้งแล้วจะมีลักษณะเงาวาวและเรียบเนียน คล้ายกับเล็บจริงมากกว่าเล็บอะคริลิค เล็บเจลจะไม่มีกลิ่นฉุนเหมือนกับการทาสีเล็บตามปกติหรือการต่อเล็บอะคริลิค
ความเสี่ยงสุขภาพจากการต่อเล็บปลอม
การติดเชื้อ
การต่อเล็บปลอมอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อที่เล็บและนิ้วมือ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อรา ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ (CDC) ได้กล่าวว่า ผู้ที่ต่อเล็บปลอมเสี่ยงมีเชื้อโรคสะสมบนนิ้วมือได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ต่อเล็บปลอม ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังล้างมือก็ตาม
การติดเชื้อแบคทีเรียนั้นมักจะเกิดขึ้นในบริเวณช่องว่างระหว่างเล็บจริงกับเล็บปลอม โดยเฉพาะกับเล็บปลอมที่เคยหลุดไปแล้วรอบหนึ่ง และต่อเล็บกลับเข้าไปใหม่โดยไม่ได้ทำความสะอาดให้ดีก่อน โดยเชื้อแบคทีเรียที่มักจะพบได้มากคือ P. aeruginosa เชื้อนี้มักเกิดขึ้นในบริเวณโดยรอบประมาณ 1 มม. ของเล็บที่ติดอยู่กับใต้ผิวหนัง
ส่วนการติดเชื้อรานั้นอาจจะเกิดขึ้น เมื่อมีความชื้นสะสมอยู่ภายใต้เล็บปลอม อย่างเล็บอะคริลิค ยิ่งโดยเฉพาะหากต่อเล็บปลอมไว้นานเกินกว่า 3 เดือนขึ้นไป หรือต่อเล็บปลอมที่เคยหลุดออกแล้วกลับเข้าไปโดยไม่ทำความสะอาดให้ดี ความชื้นที่สะสมอยู่ภายใต้เล็บเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดเชื้อรา และอาจส่งผลให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้
เคยมีตัวอย่างกรณีหนึ่งที่ผู้ป่วยที่ทำเล็บปลอมเกิดอาการติดเชื้อที่นิ้วหัวแม่มือ จนลามเข้าไปถึงกระดูก โดยผู้ป่วยรายนี้ไปทำเล็บปลอมที่ร้านทำเล็บ ช่างทำเล็บขูดร่องเล็บและตัดแต่งเล็บ จากนั้นก็ต่อเล็บโดยใช้กาวร้อน หลังจากทำเล็บผ่านไป 3 วันก็เริ่มมีอาการปวดและอาการบวม จนในที่สุดเริ่มเป็นไข้ และอาการปวดนั้นลุกลามจากปลายนิ้วเข้าไปถึงโคนนิ้ว ทำให้งอนิ้วไม่ได้ เมื่อคุณหมอเอกซเรย์ก็พบว่าเชื้อลุกลามเข้าไปถึงกระดูกแล้ว
อาการแพ้
สารเคมีที่ใช้ในการต่อเล็บปลอมอาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง และอาการแพ้ได้ หากพบอาการผดผื่น รอยแดง คัน บวม หรือเป็นหนอง บริเวณโคนเล็บหรือผิวหนังรอบเล็บ อาจเป็นสัญญาณของอาการแพ้ ในบางกรณี เล็บจริงอาจจะหลุดออกมาจากฐานใต้เล็บได้ด้วย
เล็บอ่อนแอลง
การล้างเล็บหรือกำจัดเล็บปลอมในแต่ละครั้งนั้น อาจต้องแช่นิ้วในน้ำยาล้างเล็บเป็นเวลามากกว่า 10 นาทีขึ้นไป จึงจะสามารถล้างเล็บปลอมเหล่านี้ออกไปได้อย่างหมดจด สารเคมีในน้ำยาล้างเล็บนั้นมีความรุนแรงมาก จะทำให้เล็บจริงแห้ง และทำให้ผิวระคายเคือง เมื่อใช้บ่อยเข้าเล็บก็จะเปราะบางและอ่อนแอลง อีกทั้งการทำเล็บปลอมมักจะมีการกรอหน้าเล็บออกก่อน จึงทำให้แผ่นเล็บบางลงและรู้สึกเจ็บ รวมถึงเล็บฉีกขาดง่ายขึ้น
วิธีป้องกันปัญหาสุขภาพจากการต่อเล็บปลอม
วิธีดังต่อไปนี้อาจช่วยป้องกันอันตรายที่อาจมาพร้อมกับการทำเล็บปลอมได้
- ทดสอบภูมิแพ้ ก่อนที่จะเริ่มต่อเล็บปลอมด้วยวิธีการใดก็ตาม ควรทดสอบภูมิแพ้เสียก่อนว่าแพ้สารเคมีที่ใช้ในการทำเล็บนั้น ๆ หรือไม่ สามารถทดสอบภูมิแพ้ได้ด้วยการทำเล็บปลอมที่เล็บใดเล็บหนึ่ง แล้วปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน เพื่อดูว่าร่างกายเกิดปฏิกิริยาแพ้ เช่น มีรอยแดง คัน ผดผื่น หรือมีอาการปวดใด ๆ ที่บริเวณเล็บและบริเวณรอบ ๆ เล็บนั้นหรือไม่ หากเกิดอาการแพ้ขึ้น ก็ไม่ควรจะทำเล็บต่อ
- ระวังเล็บที่ผิดปกติ อย่าทำเล็บปลอมหากเล็บหรือบริเวณรอบเล็บผิดปกติ เช่น มีอาการระคายเคือง มีอาการติดเชื้อ การทำเล็บปลอมอาจทำให้อาการเหล่านี้แย่ลงได้
- อย่าแซะขอบเล็บ ปกติแล้ว เวลาทำเล็บช่างทำเล็บจะแซะขอบเล็บ เพื่อทำให้เล็บดูสวยงามเรียบร้อย แต่การแซะขอบเล็บอาจทำให้เกิดอาการอักเสบ เป็นหนอง ที่อาจลุกลามไปถึงข้อกระดูกได้
- อย่าต่อเล็บปลอมไว้นานเกินไป ไม่ควรติดเล็บปลอมติดต่อกันนานเกิน 3 เดือน และไม่ควรทำเล็บต่อในทันทีหลังจากที่ล้างเล็บครั้งก่อนแล้ว ควรปล่อยให้เล็บได้พักอย่างน้อย 1 เดือนขึ้นไป
- รักษาความสะอาด พยายามตัดแต่งเล็บเป็นประจำ และอย่าให้มีเศษสิ่งสกปรกใด ๆ ติดอยู่ตามซอกเล็บ เวลาทำเล็บก็ควรเลือกร้านที่มีความสะอาด น่าเชื่อถือ และมั่นใจว่าร้านนั้นดูแลความสะอาดของอุปกรณ์ทำเล็บเสมอ
- รับประทานวิตามินที่ช่วยบำรุงเล็บให้แข็งแรง เช่น เหล็ก สังกะสี ไบโอติน วิตามินบีรวม วิตามินซี