backup og meta

วัยใกล้หมดระดู หรือ ระยะก่อนหมดประจำเดือน กับสัญญาณที่ควรรู้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 19/09/2022

    วัยใกล้หมดระดู หรือ ระยะก่อนหมดประจำเดือน กับสัญญาณที่ควรรู้

    สิ่งหนึ่งที่ผู้หญิงส่วนใหญ่หวาดกลัวเมื่ออายุมากขึ้น ก็คือ การเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน หรือวัยทอง เพราะเมื่อเข้าสู่วัยนี้ หลายสิ่งหลายอย่างในร่างกายของคุณจะเปลี่ยนแปลงไป และอาจทำให้คุณรู้สึกไม่แข็งแรงเหมือนที่ผ่านมา แต่ความจริงแล้ว ใช่ว่าผู้หญิงวัยมีประจำเดือนจะก้าวเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเลยทันที เพราะคุณจะต้องผ่าน วัยใกล้หมดระดู หรือระยะก่อนหมดประจำเดือนไปก่อน

    งั้นเรามาดูกันดีกว่าว่าอาการและสัญญาณของวัยใกล้หมดระดูที่คุณสังเกตได้นั้นจะมีอะไรบ้าง เมื่อรู้แล้วคุณจะได้เตรียมพร้อมเข้าสู่วัยทองได้อย่างสุขภาพดีที่สุด

    วัยใกล้หมดระดู หรือระยะก่อนหมดประจำเดือน คืออะไร

    วัยใกล้หมดระดู หรือระยะก่อนหมดประจำเดือน (Perimenopause) คือภาวะที่ร่างกายของเพศหญิงเริ่มผลิตฮอร์โมนที่ควบคุมการมีประจำเดือนหรือรอบเดือน อย่างฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนได้น้อยลงเรื่อย ๆ ส่งผลให้การทำงานของรังไข่เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงวัยก่อนหน้านี้

    โดยปกติแล้ว ผู้หญิงจะเริ่มเข้าสู่วัยใกล้หมดระดู หรือระยะก่อนหมดประจำเดือนในช่วงวัยสี่สิบ และแต่ละคนจะอยู่ในช่วงระยะนี้ยาวนานแตกต่างกันออกไป แต่โดยทั่วไปคือประมาณ 3-4 ปี แต่บางคนก็อาจอยู่ในวัยนี้แค่ไม่กี่เดือน หรือบางคนอาจยาวนานเป็นสิบปีเลยก็ได้ และหากผู้หญิงวัยใกล้หมดระดู ไม่มีประจำเดือนติดต่อกัน 12 เดือน ก็จะถือว่าเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน (Menopause) หรือที่มักเรียกกันว่า “วัยทอง” นั่นเอง

    สัญญาณของวัยใกล้หมดระดู

    หากอยากรู้ว่าคุณเข้าสู่วัยใกล้หมดระดู หรือระยะก่อนหมดประจำเดือนหรือยัง อาจสังเกตได้จากสัญญาณหรืออาการดังต่อไปนี้

    อาการร้อนวูบวาบ

    หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือนมักมีอาการร้อนวูบวาบและมีเหงื่อออกครั้งละประมาณ 5-10 นาที โดยบางคนอาจรู้สึกแค่ตัวอุ่นหรือร้อนขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่บางคนอาจถึงขั้นมีเหงื่อออกท่วมตัว ส่วนใหญ่อาการร้อนวูบวาบนี้จะเกิดขึ้นในช่วงกลางคืนและมักทำให้คุณอยากตื่นมาเข้าห้องน้ำในตอนเช้ามืด

    อาการร้อนวูบวาบนี้สามารถบรรเทาได้ด้วยการฝึกหายใจลึก ๆ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น อากาศร้อน อาหารเผ็ดร้อน เครื่องดื่มร้อน และบริโภคอาหารที่เป็นแหล่งเอสโตรเจนตามธรรมชาติ เช่น ถั่วเหลือง

    ประจำเดือนเปลี่ยนแปลง

    คุณอาจสังเกตเห็นว่าประจำเดือนหรือรอบเดือนมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น ประจำเดือนมาน้อยลง ประจำเดือนมามากขึ้น ระยะเวลาในการมีประจำเดือนเปลี่ยนไป คือ ประจำเดือนหมดเร็วขึ้น ประจำเดือนมานานขึ้น หรือบางเดือนประจำเดือนก็ไม่มาเลย หากประจำเดือนไม่มานานกว่า 60 วัน นั่นอาจหมายความว่าคุณอยู่ในช่วงสุดท้ายของวัยใกล้หมดระดูแล้ว

    ปัญหาในการนอนหลับ

    สัญญาณว่าคุณอยู่ในระยะก่อนหมดประจำเดือนอีกอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อยก็คือ ปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปและอาการเหงื่อออกตอนกลางคืน

    ปัญหาในการนอนหลับนี้ฟังดูแล้วอาจจะเหมือนไม่ร้ายแรงอะไร เพราะสามารถเป็นกันได้ทุกเพศทุกวัย แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ถึงอย่างนั้น คุณเองก็สามารถลดปัญหานี้ได้ด้วยการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้เป็นกิจวัตร นอนหลับให้ตรงเวลา อย่ากินอาหารมื้อหนักหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน (Caffeine) ก่อนนอนอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง เป็นต้น

    ภาวะช่องคลอดแห้ง

    เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยลง เนื้อเยื่อในช่องคลอดก็จะบางลงและแห้งขึ้น ส่งผลให้คุณรู้สึกคัน ปวด เจ็บ แสบ โดยเฉพาะเวลามีเพศสัมพันธ์ ปัญหานี้ทำให้หญิงวัยใกล้หมดระดู และหญิงวัยทองส่วนหนึ่งรู้สึกไม่อยากมีเพศสัมพันธ์หรือมีความต้องการทางเพศลดลง แต่ความจริงแล้ว การมีเพศสัมพันธ์ที่เหมาะสมสามารถช่วยให้เนื้อเยื่อในช่องคลอดหนาและแข็งแรงขึ้นได้

    อารมณ์เปลี่ยนแปลง

    วัยใกล้หมดระดู หรือระยะก่อนหมดประจำเดือนอาจทำให้ผู้หญิงมีอารมณ์เปลี่ยนแปลง หรืออารมณ์แปรปรวนได้ง่ายมาก สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง และยิ่งหากคุณมีปัญหาในการนอนหลับ และเกิดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS หรือ Premenstrual Syndrome) อยู่แล้ว ก็จะยิ่งทำให้อารมณ์แปรปรวนง่ายขึ้นไปอีก

    ขี้หลงขี้ลืม

    การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อารมณ์แปรปรวน และปัญหาในการนอนหลับ มักส่งผลให้หญิงวัยนี้เจอปัญหาขี้หลงขี้ลืม จำอะไรไม่ค่อยได้ เช่น ลืมว่าวางกุญแจบ้านไว้ไหน ลืมนัด รวมถึงทำให้คิดอะไรไม่ค่อยออก หรือโฟกัสอะไรได้ยากด้วย สำหรับผู้หญิงบางคนอาการขี้หลงขี้ลืมนี้อาจดีขึ้นได้เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน หรือวัยทองแล้ว

    อาการของวัยใกล้หมดประจำเดือนส่วนใหญ่สามารถรักษาหรือบรรเทาได้ด้วยวิธีฮอร์โมนบำบัด และการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ เช่น ควบคุมอาหารการกิน ออกกำลังกายให้มากขึ้น และหากคุณรู้สึกว่าอาการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ หรือรุนแรงขึ้น แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอ เพื่อจะได้หาวิธีรักษาที่เหมาะสมกับคุณที่สุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 19/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา