หากร่างกายมีฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในระดับต่ำ อาจส่งผลเสียต่าง ๆ ต่อร่างกาย อารมณ์ ความต้องการทางเพศ รวมไปถึงสุขภาพของกระดูก เป็นต้น ดังนั้น การ เพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจน ให้กับร่างกาย จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่จะมีวิธีไหนบ้างที่คุณจะสามารถเพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจนให้กับร่างกายได้บ้าง
[embed-health-tool-ovulation]
วิธีธรรมชาติที่จะช่วย เพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจน ในร่างกาย
ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เป็นฮอร์โมนเพศที่สำคัญในร่างกายมนุษย์ โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนที่รับผิดชอบต่อลักษณะทางเพศและความสามารถในการสืบพันธุ์ของผู้หญิง ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเป็นฮอร์โมนที่มีส่วนสนับสนุนการมีรอบเดือนและการตั้งครรภ์
เมื่อคุณมีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนในระดับต่ำ เช่น ในวัยหมดประจำเดือน อาจส่งผลเสียต่ออารมณ์ ความต้องการทางเพศ สุขภาพกระดูก และอื่น ๆ ซึ่ง วิธีธรรมชาติที่จะช่วย เพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจน ในร่างกายได้ง่าย ๆ มีดังนี้
อาหารที่ช่วย เพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจน
- ถั่วเหลือง
ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ และมิโซะ เป็นแหล่งไฟโตเอสโทรเจน (Phytoestrogens) ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย โดยจับกับตัวรับเอสโตรเจน (Estrogen receptor) การศึกษาจากแหล่งที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับถั่วเหลืองและผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านม นักวิจัยพบว่า การกินถั่วเหลืองที่สูงขึ้นนั้นเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่ลดลงของการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม อาจเป็นเพราะประโยชน์ของไฟโตเอสโทรเจนที่คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน
- เมล็ดแฟลกซ์
เมล็ดแฟกซ์มีไฟโตเอสโทรเจนในปริมาณสูง ไฟโตเอสโทรเจนหลักในเมล็ดแฟลกซ์ เรียกว่า “ลิกแนน (Lignans)” ซึ่งมีประโยชน์ในการเผาผลาญเอสโตรเจน การศึกษาในสัตว์ทดลองจากแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ในปี ค.ศ. 2017 แสดงให้เห็นว่า อาหารที่อุดมด้วยเมล็ดแฟลกซ์ สามารถลดความรุนแรงและความถี่ของมะเร็งรังไข่ในไก่ได้ แต่ยังจำเป็นต้องมีการวิจัยในมนุษย์มากขึ้น
- เมล็ดงา
เมล็ดงาเป็นอีกแหล่งหนึ่งของไฟโตเอสโทรเจน การศึกษาในสัตว์ที่เชื่อถือได้ในปี ค.ศ. 2014 ได้ทำการศึกษาผลกระทบของถั่วเหลืองและน้ำมันงาต่อหนูที่ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนนักวิจัยพบว่า อาหาร 2 เดือนที่เสริมด้วยถั่วเหลืองและน้ำมันงา สามารถปรับปรุงสุขภาพกระดูกได้ งานวิจัยนี้ยังแสดงให้เห็นถึงผลในเชิงบวกของฮอร์โมนเอสโตรเจนในทั้งงาและถั่วเหลือง แม้ว่าจะต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์อีก
วิตามินและแร่ธาตุที่ช่วย เพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจน
- วิตามินบี
วิตามินบีมีส่วนสำคัญในการสร้างและกระตุ้นฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย หากร่างกายมีวิตามินบีในระดับต่ำอาจทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง การศึกษาหนึ่งจากแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ นักวิจัยเปรียบเทียบระดับของวิตามินบีบางชนิดกับความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า วิตามินบี 2 และวิตามินบี 6 ในระดับที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมที่ลดลง ซึ่งอาจเกิดจากผลกระทบของวิตามินเหล่านี้ต่อการเผาผลาญของฮอร์โมนเอสโตรเจน
- วิตามินดี
วิตามินดีทำหน้าที่เป็นฮอร์โมนในร่างกาย การศึกษาจากแหล่งที่เชื่อถือได้อธิบายเอาไว้ว่า วิตามินดีและเอสโตรเจนทำงานร่วมกันเพื่อลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด ความเชื่อมโยงระหว่างฮอร์โมนเหล่านี้ เกิดจากบทบาทของวิตามินดีในการสังเคราะห์เอสโตรเจน สิ่งนี้บ่งบอกได้ถึงประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นจากการเสริมวิตามินดีในระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ต่ำ
- โบรอน (Boron)
โบรอนเป็นแร่ธาตุที่มีบทบาทหลากหลายในร่างกาย มีการวิจัยถึงประโยชน์เชิงบวกในการลดความเสี่ยงของมะเร็งบางชนิด โบรอนยังจำเป็นสำหรับการเผาผลาญของฮอร์โมนเพศเทสโทสเตอโรน (Testosterone) และเอสโตรเจน นักวิจัยเชื่อว่า โบรอนมีผลต่อตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยทำให้ร่างกายสามารถใช้เอสโตรเจนที่มีอยู่ได้ง่ายขึ้น
- ดีไฮโดรอีพิแอนโดรสเตอโรน (Dehydroepiandrosterone หรือ DHEA)
ดีไฮโดรอีพิแอนโดรสเตอโรน เป็นฮอร์โมนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นเอสโตรเจนและฮอร์โมนเพศชายได้ ภายในร่างกาย DHEA จะถูกแปลงเป็นแอนโดรเจน (Androgens) ก่อนแล้วจึงเปลี่ยนเป็นเอสโตรเจน (Estrogen) ต่อไป การศึกษาจากแหล่งที่เชื่อถือได้พบว่า DHEA อาจให้ประโยชน์ที่คล้ายคลึงกับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย
อาหารเสริมสมุนไพรที่ช่วยเพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจน
- แบล็กโคฮอส (Black cohosh)
แบล็กโคฮอสเป็นสมุนไพรพื้นเมืองของอเมริกาที่เคยถูกนำมาใช้ในการรักษาอาการต่าง ๆ รวมถึงปัญหาอาการของวัยหมดประจำเดือน จากแหล่งที่เชื่อถือได้นักวิจัยเชื่อว่า แบล็กโคฮอส ยังมีสารประกอบบางอย่างที่กระตุ้นตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน แม้ว่าจะยังคงต้องการการวิจัยเพิ่มเติม แต่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบล็กโคฮอส ก็ถือว่ามีประโยชน์เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่ในระดับต่ำ
- เรด โคลเวอร์ (Red Clover)
เรด โคลเวอร์เป็นอาหารเสริมสมุนไพรที่มีสารประกอบจากพืชจำนวนหนึ่งที่เรียกว่า ไอโซฟลาโวน (Isoflavones) ซึ่งอาจทำหน้าที่คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย ไอโซฟลาโวนเหล่านี้ได้แก่
- Biochanin A
- Formononetin
- เจนีสทีน (Genistein)
- เดดซีน (Daidzein)
การศึกษาจากแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ตรวจสอบผลกระทบของเรด โคลเวอร์ต่ออาการร้อนวูบวาบและระดับฮอร์โมนในผู้หญิง การศึกษาทั้ง 4 ชิ้นแสดงให้เห็นว่า ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วยผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจำพวกเรด โคลเวอร์
- ตังกุย (Dong Quai)
ตังกุยเป็นยาแผนจีนที่ใช้กันทั่วไปสำหรับอาการวัยหมดประจำเดือน เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสมุนไพรอื่น ๆ ตังกุยมีสารประกอบที่ทำหน้าที่เป็นไฟโตเอสโทรเจน การศึกษาหนึ่งจากแหล่งที่เชื่อถือได้ นักวิจัยได้ตรวจสอบสารประกอบเอสโตรเจนที่เป็นไปได้ในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสมุนไพรยอดนิยม 17 ชนิด พวกเขาพบสารประกอบที่เป็นไปได้ 2 ชนิดในตังกุยที่มีฤทธิ์ในการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน
ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเป็นฮอร์โมนเพศที่สำคัญ โดยเฉพาะในร่างกายของผู้หญิง ปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนต่ำมักเกิดขึ้นในวัยหมดประจำเดือนหรือภาวะสุขภาพอื่น ๆ อาหารเสริมวิตามินและแร่ธาตุ รวมถึงอาหารเสริมสมุนไพร ล้วนเป็นวิธีธรรมชาติในการเพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย
หากวิธีธรรมชาติไม่เพียงพอที่จะเพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน การไปพบคุณหมอเพื่อปรึกษาเกี่ยวกับทางเลือกในการรักษาอื่น ๆ เช่น การบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน ถือเป็นเรื่องที่ควรทำ