หลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน (Peripheral Arterial Disease หรือ PAD) คือ การตีบตันของหลอดเลือดที่จะนำเลือดจากหัวใจไปเลี้ยงที่ขา ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการสะสมของคราบไขมันที่ผนังหลอดเลือดแดง จริง ๆ แล้วการตีบตันของหลอดเลือดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในหลอดเลือดทุกส่วนของร่างกาย แต่ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดที่ขามากกว่า
คำจำกัดความ
หลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน คืออะไร
โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน เป็นโรคที่เกิดขึ้นเนื่องจาก เกิดการสะสมที่ผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดเกิดการอุดตัน ซึ่งโรคนี้มีผลกระทบต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดภาวะคอเลสเตอรอลสูงและโรคหัวใจ เนื่องจากการสะสมของคราบที่ผนังหลอดเลือดและการตีบตันของหลอดเลือด ในผู้ป่วยที่มีปัญหา หลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดโรคหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมอง
หลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน พบได้บ่อยเพียงใด
จากข้อมูลของ สมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกาพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยเบาหวานที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมักจะมีปัญหา โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน จนทำให้เกิดปัญหาที่ขาและเท้า
อาการ
อาการของ โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน
โดยทั่วไปแล้วผู้ที่มีปัญหาหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตันนั้น มักจะมีสัญญาณและอาการต่าง ๆ เหล่านี้
- ปวดน่อง เมื่อเดินหรืออกกำลังกาย แต่อาการปวดน่องนั้นจะหายไปเมื่อคุณพัก
- รู้สึกชา หรือรู้สึกเหมือนมีเข็มมุดหลาย ๆ เล่มทิ่มที่ขาหรือเท้าส่วนล่าง
- เมื่อเกิดแผลที่ขาและเท้า มักจะหายช้ากว่าปกติ
บางครั้งอาการที่ได้กล่าวไปข้างต้นก็แสดงอาการได้น้อยมาก จนเราไม่สามารถรับรู้ได้ ดังนั้น เมื่อมีความผิดปกติที่เท้าและขาควรจะต้องสังเกตอย่างจริงจัง เพื่อที่จะได้ปรึกษาและทำการรักษาได้ทัน นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณทางกายภาพที่สามารถบ่งบอกได้ว่ามี โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน เช่น
- กล้ามเนื้อลีบ
- ผมร่วง
- ผิวหนังเย็นเมื่อสัมผัส
- นิ้วเท้าเย็นหรือรู้สึกชา
- เล็บเท้าเจริญเติบโตช้า
- ผิวที่ขามันเงา
- เกิดตะคริวที่สะโพกหรือต้นขา
- ขาอ่อนแรง
ควรไปพบคุณหมอเมื่อไร
เมื่อมีอาการปวดขา เกิดอาการชาที่ขา หรืออาการที่ได้กล่าวไปข้างคนควรรีบเข้าปรึกษาแพทย์ถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น แม้ว่าคุณจะไม่มีอาการของ โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน แต่คุณอาจต้องได้รับการตรวจคัดกรองหากคุณ
- อายุเกิน 65 ปี
- อายุมากกว่า 50 ปีและมีประวัติเป็นโรคเบาหวานหรือสูบบุหรี่
- อายุต่ำกว่า 50 ปี แต่มีโรคเบาหวานและปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอื่น ๆ เช่น โรคอ้วน หรือความดันโลหิตสูง
สาเหตุ
สาเหตุของ โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน
โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน เกิดจากมีไขมันสะสมที่ผนังหลอดเลือดเป็นจำนวนมาก ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ซึ่งการสะสมของไขมันที่ผนังนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับหลอดเลือดทุกส่วนในร่างกาย สำหรับหลอดเลือดแดงที่ส่งเลือดไปเลี้ยงที่ขาอุดตัน จะเรียกว่า “หลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน’
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน
ปัจจัยที่ช่วยเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน ได้แก่
- การสูบบุหรี่
- โรคเบาหวาน
- โรคอ้วน ผู้ที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 30
- ความดันโลหิตสูง
- คอเลสเตอรอลสูง
- อายุมาก โดยเฉพาะอายุ 50 ปีขึ้นไป
- ครอบครัวเคยมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง
- มีระดับโฮโมซิสเทอีน (Homocysteine) ในระดับสูง
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน
การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตันนั้น แพทย์จะทำการตรวจสมรรถภาพหลอดเลือดแดง เป็นการตรวจสมรรถภาพการไหลเวียนของหลอดเลือดแดงส่วนปลายด้วยเครื่อง ABI (Ankle-brachial Index) เป็นเครื่องที่ใช้ตรวจหลอดเลือดแดงส่วนปลายบริเวณขา โดยจะนำมาเปรียบเทียบกับความดันโลหิตระหว่างข้อเท้าและแขน หากความดันโลหิตที่เท้าต่ำกว่าความดันโลหิตที่แขนคุณอาจเป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน นอกจากนี้ ยังมีวิธีการตรวจหาโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตันด้วยวิธีอื่น ๆ ด้วย เช่น
- การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
- อัลตราซาวด้วยเครื่อง Doppler Ultrasound
- การตรวจเลือด
- การเดินบนลู่เพื่ออ่านค่าข้อมูลก่อนและหลัง พร้อมทั้งจับความรุนแรงของหลอดเลือดแดงที่ตีบระหว่างที่เดิน
- การตรวจร่างกาย
- การอ่านค่าความดันโลหิตโดยอุปกรณ์อัลตราซาวพิเศษ เพื่อประเมินความดันโลหิตและการไหลของเลือด
การรักษาโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน
การรักษาโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตันมีเป้าหมายหลัก 2 ประการคือ
จัดการอาการต่าง ๆ เช่น อาการปวดขา เพื่อให้กลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ และหยุดการลุกลามการตีบตันของหลอดเลือด เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจวายโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมีวิธีการง่ายๆ โดยการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เช่น เลิกสูบบุหรี่
หากคุณมีสัญญาณหรืออาการของโรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน อาจต้องได้รับการรักษาพยาบาลเพิ่มเติม โดยแพทย์อาจสั่งจ่ายยาเพื่อป้องกันการอุดตันของเลือด ลดความดันโลหิตและคอเลสเตอรอล ควบคุมความเจ็บปวดและอาการอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมีการรักษาโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตันด้วยการผ่าตัดและการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน
การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์เพื่อเยียวยาตัวเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองเพื่อจัดการกับโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน
โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตันเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ด้วยการวิถีชีวิตที่สุขภาพดี เช่น
- เลิกสูบบุหรี่
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยการออกกำลังกายในระดับปานกลางครั้งละ 30 นาที
- ลดระดับคอเลสเตอรอลและความดันโลหิต
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว
- รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
[embed-health-tool-heart-rate]