backup og meta

ทำไมคนเราถึง ขี้ลืม จำไม่ได้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นโรคอัลไซเมอร์

ทำไมคนเราถึง ขี้ลืม จำไม่ได้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นโรคอัลไซเมอร์

เวลาคนรอบข้างมีอาการขี้หลงขี้ลืม จำอะไรไม่ค่อยได้ หรือความจำไม่ค่อยจะดี เราก็มักจะพูดเล่นกันว่า “ขี้ลืมแบบนี้ เป็นอัลไซเมอร์แหงๆ” หรือ “แก่แล้วอะดิ ถึงได้ขี้ลืมแบบนี้” เพราะคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า อาการขี้ลืมต้องเกิดจากโรคอัลไซเมอร์ ไม่ก็เป็นเพราะอายุมาก แต่ความจริงแล้ว อาการขี้ลืมสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย และไม่จำเป็นต้องมาจากอัลไซเมอร์เสมอไป แล้วอาการ ขี้ลืม จะเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง เราจะเพิ่มความจำของเราได้ไหม Hello คุณหมอ มีคำตอบมาให้แล้ว

หลงลืมง่าย ไม่จำเป็นต้องเกิดจากอัลไซเมอร์

คนเรามักคิดว่าอาการหลงลืมง่าย จำอะไรไม่ค่อยได้ จะต้องเกิดจากภาวะสมองเสื่อม เช่น อัลไซเมอร์ แต่ความจริง อาการขี้ลืม สูญเสียความทรงจำ สามารถเกิดจากสาเหตุอื่นได้อีกมากมาย เช่น

การสูงวัย

เมื่อเราอายุมากขึ้น จนเข้าสู่วัยชรา กระบวนการรู้คิดของเราก็จะค่อยๆ ช้าลง และความสามารถในการจดจำเริ่มบกพร่องมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อให้เป็นผู้สูงอายุที่สุขภาพแข็งแรงดี สามารถจำข้อมูลต่างๆ ได้อยู่ ก็อาจจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก หรือช่วงวัยรุ่นไม่ค่อยได้

ความเครียด

ความเครียดนอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตแล้ว ยังทำลายสมองด้วย ความเครียดที่เกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ หรือความเครียดฉับพลันสามารถกระตุ้นให้เกิดปัญหาสูญเสียความทรงจำชั่วขณะ แต่หากคุณเครียดสะสม ก็อาจนำไปสู่ปัญหาที่ร้ายแรงกว่า อย่างภาวะสมองเสื่อมได้

โรคซึมเศร้า

ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า มักมีอาการวิตกกังวล ไม่สนใจสิ่งรอบตัว และไม่มีสมาธิจะจดจำสิ่งต่างๆ ทำให้สมองที่เกี่ยวข้องกับความจำ สมาธิ และการรับรู้บกพร่องขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นคนขี้ลืม จำอะไรไม่ได้ โดยเฉพาะสิ่งที่ตัวเองไม่สนใจ แถมโรคซึมเศร้ายังทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน นอนไม่หลับ พักผ่อนไม่พอ เลยยิ่งทำให้จำอะไรได้ยากเข้าไปอีก

แอลกอฮอล์และยาเสพติด

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้ยาเสพติด สามารถทำให้ความจำของคุณบกพร่องได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่เห็นเด่นชัดเลยก็คือ เรามักจำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างตอนเมา และหากเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็อาจทำให้สมองเสื่อมได้ ยิ่งถ้าคุณดื่มหนัก หรือใช้ยาเสพติดร้ายแรง ก็จะยิ่งทำให้สมองถูกทำลายอย่างหนัก

การใช้ยารักษาโรค

ยารักษาโรคบางชนิด ทั้งที่แพทย์สั่งจ่ายหรือที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยา ก็อาจมีผลข้างเคียงต่อร่างกาย หรือทำให้สูญเสียความทรงจำได้เช่นกัน ฉะนั้น คุณจึงควรใช้ยาตามคำแนะนำของคุณหมอหรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด หากเปลี่ยนหมอ ก็ควรแจ้งให้หมอทราบด้วยว่าคุณใช้ยาอะไรบ้าง คุณหมอจะได้สั่งยาให้เหมาะสม ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียง

การทำเคมีบำบัด

การทำเคมีบำบัดเพื่อรักษามะเร็ง อาจทำให้เกิดอาการหลงลืม ความจำลดลง สมาธิลดลง หรือที่เรียกว่า “ภาวะคีโมเบรน (chemo brain)” ได้ ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าภาวะนี้เป็นผลจากยาเคมีบำบัด แต่ก็เป็นผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปของการทำเคมีบำบัด ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นแค่ชั่วคราว และสามารถหายได้

ยาระงับประสาท

ผู้เข้ารับการผ่าตัดบางรายที่ได้รับยาระงับประสาทก่อนผ่าตัด อาจประสบผลข้างเคียง เช่น สูญเสียความทรงจำ สับสน เป็นเวลา 2-3 วันหลังได้รับยา

การผ่าตัดหัวใจ

งานศึกษาวิจัยบางชิ้นชี้ให้เห็นว่า การผ่าตัดหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ หรือที่เรียกว่าบายพาสหัวใจ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการสับสน หรือสูญเสียความทรงจำ แต่เมื่อพักฟื้นหลังผ่าตัด อาการก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ

การรักษาด้วยไฟฟ้า

การรักษาด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive Therapy) คือการใช้ไฟฟ้ากระตุ้นผ่านสมองเพื่อทำให้เกิดอาการชัก มักใช้ในการรักษาโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง ภาวะเมเนียของโรคอารมณ์สองขั้ว โรคจิตเภท (Schizophrenia) ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ อาการชักยาวนาน รวมถึงสูญเสียความทรงจำได้

ความเหนื่อยล้า และการนอนไม่พอ

การนอนน้อย หรือนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ จะทำให้คุณรู้สึกอ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง ยิ่งหากปล่อยไว้จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ก็จะส่งผลเสียต่อสมอง ทั้งด้านความจำและการเรียนรู้

การขาดวิตามินบี 12

วิตามินบี 12 สามารถหาได้จากอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ปลา ผลิตภัณฑ์จากนม หากร่างกายได้รับวิตามินบี 12 ไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดอาการที่คล้ายคลึงกับภาวะสมองเสื่อมได้ แต่เมื่อเพิ่มวิตามินบี 12 ให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ อาการเหล่านั้นก็จะหายไป

ปัญหาอื่นๆ

ยังมีภาวะสุขภาพอีกมากมาย ที่สามารถส่งผลต่อสมอง และความจำของคุณได้ เช่น สมองกระทบกระเทือน อาการบาดเจ็บที่ศีรษะ ปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรคตับ โรคไต โรคไข้สมองอักเสบ ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง (Normal Pressure Hydrocephalus) การตั้งครรภ์ วัยหมดประจำเดือน การติดเชื้อ (เช่น โรคปอดบวม) โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ เนื้องอกในสมอง โรคนอนไม่หลับ

หากอาการขี้ลืม จำอะไรไม่ค่อยได้ที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากสภาวะข้างต้น หรือไม่ได้เกิดจากโรคอัลไซเมอร์ ส่วนใหญ่ก็มักจะมีอาการดีขึ้น หรือหายเป็นปกติได้ เมื่อเรารักษาสภาวะที่เป็นสาเหตุจนหายดีแล้ว

ขี้ลืม เพราะแก่ กับขี้ลืมเพราะอัลไซเมอร์ สังเกตยังไงดี

เราสามารถสังเกตความแตกต่างของอาการหลงลืม หรือสภาวะสูญเสียความทรงจำ ที่เกิดจากการสูงวัย และเกิดจากโรคอัลไซเมอร์ได้เองเบื้องต้น ดังนี้

ขี้ลืมเพราะอายุมาก

  • ตัดสินใจอะไรแย่ๆ แต่นานๆ ครั้ง
  • ลืมจ่ายบิลรายเดือน เช่น ค่าเช่าห้อง ค่าโทรศัพท์
  • ลืมว่าเป็นวันอะไร แต่ก็นึกได้ภายหลัง
  • บางทีก็นึกคำพูดไม่ออก
  • ทำของหายบ้าง นานๆ ครั้ง

ขี้ลืมเพราะอัลไซเมอร์

  • ตัดสินใจอะไรผิดๆ เป็นประจำ
  • มีปัญหากับการหาเงินมาจ่ายบิลรายเดือน
  • ลืมวัน เดือน ปี เป็นประจำ
  • มีปัญหาในการสื่อสาร พูดคุย
  • จำไม่ได้ว่าวางอะไรไว้ตรงไหน หาของไม่เจอ และทำของหายประจำ

วิธีเพิ่มความจำ กันหลงลืม ที่ทำเองได้ง่ายๆ

ตั้งสติ มีสมาธิ

ความขี้ลืม อาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าคุณกำลังหมกมุ่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือมีสิ่งรบกวนจิตใจมากเกินไป ดังนั้น คุณต้องโฟกัสทีละเรื่อง ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำ อย่าทำอะไรพร้อมกันหลายๆ อย่าง เพราะผู้เชี่ยวชาญเผยว่า การทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน จะยิ่งทำให้ความจำมีปัญหา โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น และวัยทำงาน

ผ่อนคลายความเครียด

ความเครียดเป็นอันตรายต่อสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำ ทำให้ความจำมีปัญหา คุณจึงควรหาเวลาผ่อนคลายความเครียดบ้าง ระหว่างทำงานก็ควรพักสายตา ไปกินข้าวนอกออฟฟิศ จะไม่ได้เอาแต่คิดเรื่องงาน ตอนอยู่บ้านหรือช่วงวันหยุด ก็ทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ เพื่อไม่ให้เครียดสะสม

หาอุปกรณ์ช่วยเตือนความจำ

การจดบันทึกกิจกรรม หรือนัดหมายต่างๆ ลงบนปฏิทิน กระดาษโน้ต หรือนาฬิกาปลุกในโทรศัพท์มือถือ ช่วยเตือนความจำของคุณได้ นอกจากนี้ การเก็บอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ที่เดิมหลังใช้งานเสร็จ จอดรถที่เดิมตลอดหากทำได้ ก็ช่วยทำให้คุณหลงลืมน้อยลงได้เช่นกัน

ทำกิจกรรมพัฒนาสมอง และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

กิจกรรมพัฒนาสมอง เช่น การอ่านหนังสือ เรียนรู้สิ่งใหม่ รวมถึงการพบปะพูดคุย มีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เพื่อนฝูง คนรอบข้างอยู่เสมอ ถือเป็นส่วนสำคัญที่สามารถช่วยเพิ่มและรักษาความสามารถในการรู้คิด (cognitive abilities) ของคุณได้

ขี้ลืม ถึงขั้นนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอ

เมื่อเราอายุมากขึ้น ปัญหาด้านความจำ และความเสื่อมถอยของทักษะทางการคิดก็จะยิ่งมากขึ้นเป็นเงาตามตัว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ยิ่งแก่ก็จะยิ่งขี้ลืม แต่หากคุณสงสัยว่า ปัญหาด้านความจำที่เป็น อาจเกิดจากโรคอัลไซเมอร์ หรือปัญหาสุขภาพรุนแรง ควรรีบไปพบคุณหมอทันที

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Is Your Memory Normal?. https://www.webmd.com/alzheimers/features/is-your-memory-normal#1. Accessed December 11, 2019

Memory loss: When to seek help. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/alzheimers-disease/in-depth/memory-loss/art-20046326. Accessed December 11, 2019

The Different Causes of Memory Loss. https://www.verywellmind.com/what-causes-memory-loss-4123636. Accessed December 11, 2019

Do Memory Problems Always Mean Alzheimer’s Disease?. https://www.nia.nih.gov/health/do-memory-problems-always-mean-alzheimers-disease. Accessed December 11, 2019

THE NON-ALZHEIMER’S CAUSES OF MEMORY LOSS. https://www.aging.com/the-non-alzheimers-causes-of-memory-loss/. Accessed December 11, 2019

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

สัญญาณเตือน ที่บ่งบอกว่าคุณกำลัง มีเนื้องอกในสมอง

อาหารบำรุงสมองผู้สูงอายุ ลดความเสี่ยงสมองเสื่อม เพิ่มความจำ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา