1วันควรกินกี่แคล หมายถึง จำนวนพลังงานจากสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวันซึ่งมีหน่วยวัดเป็นกิโลแคลอรี่หรือแคลอรี่ โดยจำนวนพลังงานที่ร่างกายของแต่ละคนควรได้รับใน 1 วันนั้น ขึ้นอยู่กับหลาปัจจัย อย่างเพศ อายุ น้ำหนัก ส่วนสูง หรือไลฟ์สไตล์ เช่น เพศชายอายุ 20 ปี ปกติแล้วมักต้องการพลังงานประมาณ 2,400-3,000 แคลอรี่/วัน ส่วนเพศหญิงในวัยเดียวกัน มักต้องการพลังงานน้อยกว่า หรือประมาณ 2,000-2,400 แคลอรี่/วัน
อย่างไรก็ตาม หากเพศหญิงคนดังกล่าวเป็นนักกีฬา หรือทำงานที่ต้องออกแรงมาก พลังงานที่ต้องการภายใน 1 วัน อาจมากกว่านั้น หรืออยู่ในระดับเดียวกับเพศชายอายุ 20 ปี ทั้งนี้ จำนวนแคลอรี่ที่ควรได้รับในแต่ละวันควรเหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย ไม่มากหรือน้อยเกินไป เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ภาวะอ่อนเพลีย สมองเสื่อม
[embed-health-tool-bmi]
แคลอรี่ คืออะไร
แคลอรี่ (Calorie) ย่อมาจากกิโลแคลอรี่ (Kilocalorie) เป็นหน่วยวัดของจำนวนพลังงานที่ร่างกายจะได้รับเมื่อบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มแต่ละชนิด
หากได้รับปริมาณแคลอรี่เกินกว่าระดับที่ร่างกายต้องการใช้ จะทำให้เกิดการสะสมของพลังงานส่วนเกินในรูปแบบของไขมัน ซึ่งเป็นสาเหตุของการมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ ลงพุง หรือเป็นโรคอ้วน
โดยปกติบนบรรจุภัณฑ์ของอาหารหรือเครื่องดื่มมักมีฉลากบอกจำนวนพลังงานเป็นหน่วยแคลอรี่หรือกิโลแคลอรี่ แต่ในบางผลิตภัณฑ์อาจมีฉลากที่ใช้หน่วยวัดพลังงานเป็นกิโลจูล (Kilojoule หรือ KJ) โดย 4.184 กิโลจูลเท่ากับ 1 กิโลแคลอรี่
1วันควรกินกี่แคล
ผู้ชาย ผู้หญิง เด็กชาย และเด็กหญิงในช่วงอายุต่าง ๆ ควรบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่ม เพื่อให้ได้รับแคลอรี่ภายใน 1 วันดังต่อไปนี้
ผู้ชาย
- อายุ 19-30 ปี ควรได้รับ 2,400-3,000 แคลอรี่/วัน
- อายุ 31-59 ปี ควรได้รับ 2,200-3,000 แคลอรี่/วัน
- อายุ 60 ปี ขึ้นไป ควรได้รับ 2,000-2,600 แคลอรี่/วัน
ผู้หญิง
- อายุ 19-30 ปี ควรได้รับ 2,000-2,400 แคลอรี่/วัน
- อายุ 31-59 ปี ควรได้รับ 1,800-2,200 แคลอรี่/วัน
- อายุ 60 ปี ขึ้นไป ควรได้รับ 1,600-2,000 แคลอรี่/วัน
เด็กผู้ชาย
- อายุ 2-4 ปี ควรได้รับ 1,000-1,600 แคลอรี่/วัน
- อายุ 5-8 ปี ควรได้รับ 1,200-2,000 แคลอรี่/วัน
- อายุ 9-13 ปี ควรได้รับ 1,600-2,600 แคลอรี่/วัน
- อายุ 14-18 ปี ควรได้รับ 2,000-3,200 แคลอรี่/วัน
เด็กผู้หญิง
- อายุ 2-4 ปี ควรได้รับ 1,000-1,400 แคลอรี่/วัน
- อายุ 5-8 ปี ควรได้รับ 1,200-1,800 แคลอรี่/วัน
- อายุ 9-13 ปี ควรได้รับ 1,400-2,200 แคลอรี่/วัน
- อายุ 14-18 ปี ควรได้รับ 1,800-2,400 แคลอรี่/วัน
ทั้งนี้ นอกจากเพศและวัยแล้ว ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจช่วยระบุได้ว่า 1วันควรกินกี่แคล มีดังนี้
- น้ำหนักและส่วนสูง หากเป็นผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือมีค่าดัชนีมวลกายเกิน 30 ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย และต้องการลดน้ำหนัก ควรใช้พลังงานให้มากกว่าจำนวนแคลอรี่ที่ได้รับ เพื่อเพิ่มการเผาผลาญไขมันในร่างกาย และป้องกันโรคต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน
- ไลฟ์สไตล์ ผู้ที่ใช้แรงงานและผู้ที่ออกกำลังสม่ำเสมอ มักต้องการพลังงานในการดำเนินชีวิตประจำวันมากกว่าคนทั่วไป ควรบริโภคอาหารให้ได้สัดส่วนและจำนวนแคลอรี่ที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- ภาวะสุขภาพ ภาวะสุขภาพบางอย่าง เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย เช่น ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) เมื่อเป็นแล้วจะทำให้การเผาผลาญพลังงานจากอาหารช้าลง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวมากขึ้นเนื่องจากมีพลังงานส่วนเกินมากไป
- อากาศและสภาพแวดล้อม ในพื้นที่ที่อากาศหนาว ร่างกายจะต้องการแคลอรี่มากกว่าปกติ เพื่อรักษาอุณหภูมิและทำให้รู้สึกอบอุ่น ส่วนพื้นที่ที่อากาศร้อน ร่างกายจะต้องการแคลอรี่น้อยกว่า
แคลอรี่ กับการลดน้ำหนัก
หากร่างกายได้รับจำนวนพลังงานเกินความจำเป็น อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนเนื่องจากพลังงานส่วนเกินจะถูกสะสมในรูปแบบของไขมัน การได้รับพลังงานจากอาหารน้อยลง จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายเผาผลาญไขมันที่สะสมไว้นำมาใช้เป็นพลังงาน และทำให้น้ำหนักตัวค่อย ๆ ลดลง
อย่างไรก็ตาม จำนวนพลังงานที่ร่างกายควรได้รับระหว่างลดน้ำหนัก ไม่ควรต่ำกว่า 1,200 แคลอรี่ต่อวัน เพราะหากร่างกายได้รับพลังงานน้อยเกินไป ระดับการเผาผลาญพลังงานจะต่ำลง ซึ่งส่งผลให้การลดน้ำหนักเป็นไปได้ยากขึ้น
นอกจากนั้น หากต้องการลดน้ำหนักอย่างต่อเนื่องและได้ผล นอกเหนือจากการจำกัดปริมาณแคลอรี่ที่ควรได้รับในแต่ละวันแล้ว
คำแนะนำเกี่ยวกับการบริโภคแคลอรี่
ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- บริโภคโปรตีนให้มากขึ้น โดยเฉพาะโปรตีนจากพืช ธัญพืชในแต่ละมื้อ เพราะโปรตีนช่วยให้อิ่มท้องได้นาน และลดโอกาสบริโภคพลังงานส่วนเกิน
- หลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำตาล เพราะให้พลังงานสูง ซึ่งน้ำตาลมักเป็นส่วนผสมในของหวานและขนมหลาย ๆ ชนิด โดยน้ำตาล 100 กรัม ให้พลังงาน 387 แคลอรี่
- เลือกดื่มน้ำก่อนมื้ออาหาร เพื่อลดความหิวและการบริโภคพลังงานส่วนเกิน งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับการดื่มน้ำก่อนมื้ออาหาร ตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Nutrition ปี พ.ศ. 2559 นักวิจัยแบ่งผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวน 14 รายออกเป็น 2 กลุ่ม โดยให้กลุ่มแรกดื่มน้ำปริมาณ 568 มิลลิลิตรก่อนอาหารเช้า ส่วนอีกกลุ่มไม่ดื่มเครื่องดื่มใด ๆ เพื่อวัดความแตกต่างหลังมื้ออาหาร พบว่า กลุ่มที่ไม่ได้ดื่มน้ำก่อนมื้ออาหาร มีความหิวและต้องการบริโภคอาหารมากกว่ากลุ่มที่ดื่มน้ำก่อนมื้ออาหาร นักวิจัยจึงสรุปว่า การดื่มน้ำก่อนมื้ออาหารอาจช่วยทำให้อิ่มท้องและเป็นประโยชน์ต่อการลดน้ำหนัก
- ออกกำลังกาย เพื่อกระตุ้นการเผาผลาญสารอาหารต่าง ๆ ให้เป็นพลังงาน โดยการออกกำลังแต่ละรูปแบบ จะส่งผลต่อการเผาผลาญพลังงานได้ไม่เท่ากัน เช่น การเล่นเทนนิสช่วยเผาผลาญพลังงานได้ 728 แคลอรี่/ชั่วโมง การวิ่งช่วยเผาผลาญได้ 755 แคลอรี่/ชั่วโมง การกระโดดเชือกช่วยเผาผลาญได้ 1,074 แคลอรี่/ชั่วโมง