backup og meta

ประโยชน์จาก การกินตับ มีอะไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 27/11/2023

    ประโยชน์จาก การกินตับ มีอะไรบ้าง

    การกินตับ หมายถึง การกินเครื่องในสัตว์ชนิดหนึ่ง ซึ่งได้รับความนิยมในการนำมาประกอบอาหารในหลาย ๆ วัฒนธรรม รวมถึงเมืองไทย เมนูอาหารที่มีตับเป็นส่วนประกอบ เช่น ตับหวาน ตับไก่ย่าง ต้มเครื่องใน ตับทอดกระเทียม นอกจากตับจะมีรสชาติดีแล้ว ยังมีคุณค่าสารอาหารและให้ประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย

    ข้อมูลโภชนาการของตับ

    ตามข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA) ระบุว่า ตับหมูปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาร 165 กิโลแคลอรี่ และประกอบด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ดังนี้

    • โปรตีน 26 กรัม
    • ไขมัน 4.4 กรัม
    • คาร์โบไฮเดรต 3.76 กรัม

    นอกจากนี้ ตับยังอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินบี 2 หรือไรโบฟลาวิน วิตามินบี 3 หรือไนอะซิน วิตามินบี 5  วิตามินบี 6 วิตามินบี 9 หรือกรดโฟลิก วิตามินบี 12 วิตามินซี วิตามินดี วิตามินเค 2 สังกะสี เหล็ก แมงกานีส ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ซีลีเนียม ทองแดง โคลีน ไบโอติน

    ประโยชน์ของการกินตับต่อสุขภาพ

    ตับหมูมีโปรตีนค่อนข้างสูง ในตับหมูแค่ 100 กรัม ให้โปรตีนมากถึง 26 กรัม ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1/2 เท่าของปริมาณแนะนำที่ผู้หญิงควรได้รับต่อวัน และ 1/3 เท่าของปริมาณแนะนำที่ผู้ชายควรได้รับต่อวัน และไขมันในตับหมู ไม่ได้มีแค่ไขมันอิ่มตัว แต่ยังมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวมีพันธะคู่หลายคู่ (Polyunsaturated Fatty Acid) ซึ่งดีต่อร่างกายด้วย นอกจากนั้น การกินตับยังมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ดังนี้

    อาจช่วยส่งเสริมพลังงานตลอดทั้งวัน

    ตับอุดมไปด้วยวิตามินบีนานาชนิด ที่มีคุณสมบัติในการแปลงพลังงานจากอาหารเป็นพลังงานเคมีที่ไปหล่อเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย อีกทั้งวิตามินบีทั้งหลายยังมีส่วนสำคัญในระบบเผาผลาญไขมัน จึงทำให้ร่างกายเผาผลาญไขมันเป็นพลังงานได้ดีขึ้นด้วย และอาจช่วยให้ไขมันสะสมในร่างกายลดลง และเสริมสร้างกล้ามเนื้อ

    อาจช่วยบำรุงผิวได้

    ตับ มีวิตามินเอสูงซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีมีประโยชน์ต่อผิวพรรณ ช่วยป้องกันเซลล์ผิวไม่ให้ถูกทำลายจากภาวะเครียดออกซิเดชัน หรือมีอนุมูลอิสระมากเกินไป เนื่องจากโดดแสงแดด มลพิษทางอากาศ การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา นอกจากนี้ ตับสัตว์ยังเป็นแหล่งของสังกะสีและไกลซีน ที่มีส่วนช่วยในผลิตคอลลาเจนและชะลอการสูญเสียคอลลาเจนใต้ชั้นผิวหนัง เมื่อมีคอลลาเจนเพียงพอ ผิวหนังก็จะแข็งแรง ยืดหยุ่น และชุ่มชื้น ทำให้เกิดรอยตีนกาและริ้วรอยต่าง ๆ ช้าลง

    อาจช่วยบำรุงสุขภาพหัวใจ

    ตับมีสารอาหารหลายชนิดที่มีส่วนช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น วิตามินเค 2 ที่ช่วยป้องกันแคลเซียมหรือหินปูนเกาะหลอดเลือดและกระดูก  โฟเลต (Folate) และไรโบฟลาวิน (Riboflavin) มีคุณสมบัติในการช่วยขจัดสารโฮโมซิสทีน (Homocysteine) ที่อาจเป็นอันตรายต่อหลอดเลือด และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจวาย รวมถึงโรคมะเร็งด้วย

    อาจช่วยให้สมองใส อารมณดีขึ้น

    การกินตับตับอาจช่วยเสริมสร้างการทำงานของสมอง ทั้งในด้านสมาธิ ความจำ และการรับรู้ รวมถึงช่วยพัฒนาสุขภาพจิตให้ดีขึ้นได้ด้วย งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า สารอาหารในตับอย่างโคลีน ช่วยพัฒนาการทำงานของสมอง ป้องกันโรควิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน นอกจากนั้น วิตามินเค 2 ในตับยังอาจช่วยป้องกันการก่อตัวของคราบหรือพลัคในสมอง จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ได้

    การกินตับ อาจช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ

    ตับเป็นแหล่งของสารอาหารสำคัญที่จำเป็นต่อการสร้างกล้ามเนื้อ เพราะมีโปรตีน กรดอะมิโนจำเป็น รวมถึงวิตามินเอ ที่ช่วยเพิ่มเทสโทสเตอโรน เสริมสร้างกล้ามเนื้อและกระดูก และวิตามินเค 2 ที่ช่วยเพิ่มสมรรถภาพในการออกกำลังกายและเล่นกีฬา ช่วยเพิ่มเทสโทสเตอโรน ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง

    การกินตับ อาจช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกัน

    ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต้องการวิตามินเอในการสร้างเซลล์ เพื่อต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมและการติดเชื้อต่าง ๆ ในร่างกาย นอกจากนั้น วิตามินเอยังอาจช่วยลดการติดเชื้อและความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อร้ายแรง เช่น วัณโรค โรคปอดอักเสบ โรคไข้มาลาเรีย นอกจากนี้ วิตามินและแร่ธาตุอื่น ๆ ในตับ เช่น วิตามินซี สังกะสี ก็มีส่วนช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มให้แข็งแรงเช่นกัน

    ข้อควรระวังในการบริโภคตับ

    ตับสัตว์อาจมียาฆ่าแมลง ยาปฏิชีวนะ หรือสารเคมีตกค้างอยู่ หากต้องการกินตับ ควรเลือกซื้อตับจากแหล่งที่เชื่อถือได้

    นอกจากนั้น แม้ตับจะอุดมไปด้วยสารอาหารนานาชนิด แต่มีคอเลสเตอรอลสูง โดยตับหมู 100 กรัม มีปริมาณคอเลสเตอรอลประมาณ 355 มิลลิกรัม ในขณะที่ปริมาณแนะนำที่ร่างกายควรได้รับต่อวันนั้นอยู่ที่ 300 มิลลิกรัม ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาคอเลสเตอรอลสูงจึงควรบริโภคอย่างระมัดระวัง หรืออาจเลี่ยงไปรับประทานอาหารอุดมวิตามินและแร่ธาตุชนิดอื่นแทน เช่น ไข่ ผักใบเขียว ถั่วและเมล็ดพืช ปลาแซลมอน

    นอกจากนี้ การได้รับวิตามินบางชนิดมากเกินขนาด ก็อาจทำให้มีวิตามินชนิดนั้น ๆ สะสมอยู่ในร่างกาย จนเกิดภาวะเป็นพิษได้ เช่น หากได้รับวิตามินเอเกินขนาด อาจทำให้ตับพัง ปวดศีรษะ อาเจียน วิงเวียน ปวดข้อปวดกระดูก ดังนั้น ควรบริโภคตับด้วยความระมัดระวัง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 27/11/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา