backup og meta

ชมพู่ ผลไม้ฉ่ำน้ำ รูปทรงแปลกตา กับประโยชน์สุขภาพที่คุณอาจไม่เคยรู้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 27/04/2021

    ชมพู่ ผลไม้ฉ่ำน้ำ รูปทรงแปลกตา กับประโยชน์สุขภาพที่คุณอาจไม่เคยรู้

    ผลไม้รูปทรงแปลกอย่าง ชมพู่ (Rose Apple) จัดเป็นผลไม้อีกหนึ่งชนิดที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี หลายคนชอบกินชมพู่มาก โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน เพราะกินแล้วสดชื่น ยิ่งหากแช่เย็นก่อนกินก็จะยิ่งกรอบ อร่อยขึ้นไปอีก แต่คุณรู้ไหมว่า นอกจากความอร่อยแล้ว ชมพู่ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมากด้วย ว่าแต่ประโยชน์สุขภาพของชมพู่จะมีอะไรบ้าง แล้วเวลาบริโภคเราจะต้องระมัดระวังอะไรหรือเปล่า ไปหาคำตอบจากบทความนี้กันเลย

    คุณค่าทางโภชนาการใน ชมพู่

    ชมพู่เป็นผลไม้ฉ่ำน้ำที่มีแคลอรี่ต่ำ แต่อุดมไปด้วยสารอาหารนานาชนิด ชมพู่สด 100 กรัม ให้พลังงาน 25 กิโลแคลอรี่ และให้สารอาหารต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • โปรตีน 0.60 กรัม
  • วิตามินเอ 8.4 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 1 (ไทอามิน) 0.020 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 (ไรโบฟลาวิน) 0.030 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3 (ไนอาซิน) 0.800 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 22.3 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 29 มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม 123 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 5 มิลลิกรัม
  • นอกจากวิตามินและแร่ธาตุข้างต้นแล้ว ในชมพู่ยังมีซัลเฟอร์ (Sulfer) ฟอสฟอรัส (Phosphorus) แมงกานีส เหล็ก รวมถึงสารพฤกษเคมี เช่น กรดบิทูลินิก (Betulinic Acid) สารแจมโบไซน์ (Jambosine) ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพหลายประการ เช่น ต้านมะเร็ง ต้านการติดเชื้อราที่ผิวหนัง

    ประโยชน์สุขภาพของ ชมพู่

    ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

    ในชมพู่มีสารแอลคาลอยด์ (Alkaloid) ซึ่งสารประกอบอินทรีย์ที่มีไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบ ที่เรียกว่า “แจมโบไซน์ (Jambosine)” ซึ่งงานศึกษาวิจัยเผยว่า สารประกอบชนิดนี้มีส่วนช่วยกระบวนการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลของร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ อีกทั้ง ชมพู่ยังเป็นผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ จึงช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งอาจส่งผลดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานด้วย

    ช่วยในการขับถ่าย

    นอกจากจะฉ่ำน้ำแล้ว ชมพู่ยังเป็นแหล่งไฟเบอร์ชั้นยอด เมื่อร่างกายของเราได้รับน้ำและไฟเบอร์อย่างเพียงพอ จะช่วยให้อาหารเคลื่อนผ่านจากกระเพาะอาหารไปสู่ลำไส้ใหญ่ได้สะดวกขึ้น จึงช่วยบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับระบบอาหารและการขับถ่าย เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ได้

    ดีต่อสุขภาพหัวใจ

    สารอาหารนานาชนิด และไฟเบอร์ที่มีมากในชมพู่ช่วยให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดของเราแข็งแรงขึ้นได้ นอกจากนี้ ชมพู่ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระและโพแทสเซียมสูง ที่ช่วยให้ระดับคอเลสเตอรอล (Cholesterol) ในเลือดเป็นปกติ ความเสี่ยงในการเกิดโรคในระบบหัวใจและหลอดเลือดที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น ภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง จึงลดลงตามไปด้วย

    ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน

    วิตามินซี (Vitamin C) เป็นวิตามินที่มีส่วนสำคัญในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และชมพู่ก็เป็นผลไม้อีกหนึ่งชนิดที่มีวิตามินซีสูงมาก ชมพู่ 100 กรัม มีวิตามินซีถึง 22.3 ไมโครกรัม กินแล้วจึงช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจน (Collagen) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเช่นกัน นอกจากนี้ คอลลาเจนยังช่วยบำรุงผิวหนัง ชะลอการเกิดริ้วรอย ทั้งยังดีต่อสุขภาพข้อต่อและกระดูกด้วย

    ช่วยป้องกันมะเร็ง

    วิตามินซีและวิตามินเอที่มีมากในชมพู่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นยอด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยืนยันแล้วว่า ช่วยขัดขวางการเจริญเติบโตของเนื้องอกและเซลล์มะเร็ง จึงลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งบางชนิดได้ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด

    ความเสี่ยงในการบริโภค ชมพู่ ที่ควรรู้

    เมล็ด ราก และใบชมพู่มีสารพิษอย่าง “ไซยาไนด์” (Cyanide) อยู่ในปริมาณเล็กน้อย หากเผลอกินเข้าไปจะส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตลดลงอย่างฉับพลัน และอาจร้ายแรงถึงขึ้นทำให้หยุดหายใจได้ ฉะนั้น เวลากินชมพู่ คุณจึงต้องระวังให้ดี อย่าให้มีเมล็ดติดไปกับเนื้อชมพู่ และคุณไม่ควรกินชมพู่มากเกินไปด้วย เพราะอาจทำให้เกิดอาการคันคอและไอได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 27/04/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา