น้อยหน่า ผลไม้เมืองร้อนที่มีลักษณะเป็นทรงรีอ้วนป้อม มีเปลือกเป็นเกล็ดซ้อน ๆ สีเขียวอ่อน เนื้อในสีขาว ซึ่งนอกจากจะมีรสชาติหวานอร่อยแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เช่น อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ดีต่อสุขภาพระบบทางเดินอาหาร ช่วยบำรุงสายตา อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังการรับประทานเปลือกและเมล็ดของน้อยหน่า เนื่องจากอาจเป็นพิษต่อร่างกายได้
[embed-health-tool-bmr]
ทำความรู้จักกับ น้อยหน่า สุดยอดไม้ผลเมืองร้อน
น้อยหน่า (Custard Apple หรือ Cherimoya) มีชื่อทางวิทยาศาตร์ว่า Annona squamosa พบได้มากในประเทศเขตร้อน โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ น้อยหน่านั้นจะมีลักษณะผลเป็นทรงรีป้อม ๆ เปลือกรูปร่างคล้ายกับเกล็ด ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ สีเขียวอ่อน เมล็ดสีดำ ส่วนเนื้อข้างในจะเป็นสีขาว รสชาติหวานมัน สามารถตักรับประทานได้เลย เลยเป็นที่ชื่นชอบอย่างมาก โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก
นอกจากผลสุกของน้อยหน่าที่สามารถนำมารับประทานได้แล้ว ส่วนอื่น ๆ ของต้นน้อยหน่า เช่น ผลดิบ เมล็ด และใบน้อยหน่า ก็ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ได้อีกด้วย เช่น ใบน้อยหน่า สามารถนำมาตำรวมกับเหล้าขาว แล้วใช้ชโลมศีรษะ เพื่อรักษาเหาได้
คุณค่าทางโภชนาการของน้อยหน่า
น้อยหน่า เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยใยอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุ โดยในน้อยหน่า 100 กรัม จะมีคุณค่าทางโภชนาการดังต่อไปนี้
- พลังงาน 94 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 24 กรัม
- ไขมัน 29 กรัม
- ใยอาหาร 4 กรัม
- โปรตีน 2 กรัม
- วิตามินบี 1 10% ของปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน
- วิตามินบี 2 9% ของปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน
- วิตามินบี 6 15% ของปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน
- วิตามินซี 44% ของปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน
- แคลเซียม 2% ของปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน
- ธาตุเหล็ก 5% ของปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน
- แมงกานีส 20% ของปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน
นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น โพแทสเซียม โซเดียม แมกนีเซียม สังกะสี และวิตามินบีอื่นๆ อีกด้วย
ประโยชน์สุขภาพที่ได้จากน้อยหน่า
ดีต่อระบบทางเดินอาหาร
น้อยหน่านั้นเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยใยอาหาร ที่มีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหารและการย่อยอาหาร ช่วยทำให้อุจจาระดูดซึมน้ำได้มากขึ้น และช่วยป้องกันอาการท้องผูกได้
ในน้อยหน่า 1 ถ้วย อาจให้ใยอาหารได้มากถึง 17% ของปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน อีกทั้งยังเป็นใยอาหารชนิดละลายน้ำ (Soluble fiber) ที่มีประโยชน์ต่อเชื้อแบคทีเรียดีที่อยู่ในลำไส้ ทำให้ร่างกายได้รับกรดไขมันที่มีประโยชน์ และช่วยทำให้สุขภาพของระบบทางเดินอาหารแข็งแรงอีกด้วย
อาจช่วยต้านมะเร็งได้
น้อยหน่านั้นจะอุดมไปด้วย สารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กรดคอรีโนอิค (Kaurenoic acid) สารฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) สารแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) และวิตามินซี ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้ สามารถช่วยป้องกันการเกิดภาวะเครียดที่เกิดจากออกซิเดชัน (Oxidative stress) ที่อาจส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคหัวใจ หรือโรคมะเร็ง
ดีต่อสุขภาพหัวใจ
มีงานวิจัยพบว่า การรับประทานน้อยหน่า อาจสามารถช่วยลดระดับของความดันโลหิตลงได้ เนื่องจากในน้อยหน่านั้นมีโพแทสเซียมและแมกนีเซียมสูง สารอาหารทั้งสองนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าจะสามารถช่วยลดความดันโลหิตทั้งค่าบนและค่าล่างได้ โดยการช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนง่ายขึ้น และลดความดันโลหิตลง
ภาวะความดันโลหิตสูงนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือดต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคหลอดเลือดสมอง การรับประทานน้อยหน่าเพื่อช่วยลดความดันโลหิตสูง จึงสามารถช่วยบำรุงสุขภาพหัวใจ และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
บำรุงสายตา
น้อยหน่านั้นอุดมไปด้วยสารลูทีน (Lutein) สารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มแคโรทีนอยด์ ที่มีฤทธิ์ในการช่วยบำรุงสายตา โดยการต่อต้านสารอนุมูลอิสระที่อาจทำให้เซลล์ของดวงตาเสื่อมลงได้
มีงานวิจัยที่พบว่า การรับประทานอาหารที่มีสารลูทีนสูง เช่น น้อยหน่า สามารถช่วยทำให้สุขภาพของดวงตาดีขึ้น และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับดวงตา เช่น ตาพร่า การมองเห็นลดลง หรือจอประสาทตาเสื่อม (Age-Related Macular Degeneration: AMD)
ข้อควรระวัง
แม้ว่าน้อยหน่าจะเป็นผลไม้ที่มากประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้เช่นกัน เนื่องจากในผลน้อยหน่านั้น อาจจะมีส่วนประกอบที่เป็นพิษอยู่ด้วย
ในน้อยหน่า จะมีสารที่เรียกว่า แอนโนนาซิน (Annonacin) ที่สามารถพบได้ในพืชตระกูล Annona รวมไปจนถึงน้อยหน่าได้อีกด้วย สารแอนโนนาซินนี้สามารถส่งผลกระทบต่อสมอง และระบบประสาทได้ สารแอนโนนาซินนี้สามารถพบได้ในทุกส่วนของน้อยหน่า แต่ส่วนที่พบได้มากที่สุดคือบริเวณเมล็ด และเปลือกของผลน้อยหน่า
มีงานวิจัยที่พบว่า ในประเทศเขตร้อน ที่มีการรับประทานพืชในตระกูล Annona เช่น น้อยหน่า เป็นจำนวนมาก อาจจะมีความเสี่ยงมากกว่าในการเกิดโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) ชนิดที่ไม่ตอบสนองต่อยารักษาโรคพาร์กินสันตามปกติ หรือโรคในระบบประสาทอื่นๆ ได้