เอื้องหมายนา หรือเอื้องเพชรม้าเป็นพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งพบได้ในประเทศจีน และประเทศอินเดีย ลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงประมาณ 1-2 เมตร มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ลำต้นเป็นสีแดง และดอกสีขาว ปัจจุบันมักปลูกเป็นไม้ประดับ และสามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามสวนสาธารณะ
เอื้องหมายนามีสารต่าง ๆ ที่ออกฤทธิ์ป้องกันโรคตับซึ่งเกิดจากสารพิษได้ เช่น ซาโปนิน (Saponin) สเตียรอยด์ (Steroid) ไกลโคไซด์ (Glycoside)
การศึกษาชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับคุณสมบัติในการป้องกันการบาดเจ็บที่ตับจากการรับประทานยาพาราเซตามอลของเอื้องหมายนาที่ตีพิมพ์ในวารสาร African Journal of Traditional, Complementary and Alternative Medicines เมื่อปีพ.ศ. 2561 นักวิจัยได้ทดลองให้สัตว์ทดลองที่ตับได้รับบาดเจ็บจากฤทธิ์ของยาพาราเซตามอล บริโภคสารสกัดจากเอื้องหมายนา ผลปรากฏว่า สุขภาพตับของสัตว์ทดลองที่บาดเจ็บจากยาพาราเซตามอลนั้นแข็งแรงขึ้นเกือบเท่าภาวะปกติ
อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันสรรพคุณของเอื้องหมายนา
ข้อควรระวังในบริโภคสมุนไพรไทย
แม้สมุนไพรแต่ละชนิดจะมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ แต่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงในการบริโภค โดยเฉพาะหากบริโภคในปริมาณที่มากเกินไปดังนี้
ว่านหางจระเข้
- ว่านหางจระเข้มีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด การบริโภคว่านหางจระเข้ร่วมกับยาลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน จึงอาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติ และอาจเกิดปัญหาสุขภาพได้
- ว่านหางจระเข้ อาจเป็นสาเหตุของอาการแพ้ได้ โดยเฉพาะเมื่อบริโภคเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก โดยอาการที่พบได้ ประกอบด้วยปวดท้องหรือท้องร่วง
ขิง
- ผู้ที่รับประทานยาต้านลิ่มเลือด ควรระมัดระวังเมื่อบริโภคร่วมกับขิง เนื่องจากขิงมีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด อาจส่งผลให้กระบวนการแข็งตัวของเลือดผิดปกติได้
- หากบริโภคขิงมากเกินไป อาจทำให้รู้สึกแสบร้อนและเกิดแผลในช่องปาก รวมทั้งปวดท้อง แน่นท้อง มีแก๊สในกระเพาะ
รางจืด
- ผู้ที่เป็นเบาหวานควรระมัดระวังหากบริโภครางจืดร่วมกับยาที่ลดระดับน้ำตาลในเลือด
- รางจืดอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ หากแพ้ไม่รุนแรง อาการที่พบจะเป็นผื่นแดงตามผิวหนังและอาการคัน แต่สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคหอบหืดควรระมัดระวังการบริโภครางจืด เพราะอาจมีอาการแพ้รางจืดรุนแรงและเกิดผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจลำบาก
เอื้องหมายนา
- หากบริโภคเอื้องหมายนามากเกินไป อาจทำให้เวียนศีรษะ อาเจียน หรือท้องร่วงได้
- ผู้ที่เป็นเบาหวานควรระมัดระวังหากบริโภคร่วมกับยาที่ลดระดับน้ำตาลในเลือด
หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรควรบริโภคสมุนไพรไทยด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรบริโภคเพื่อใช้เป็นยาในการบำรุงครรภ์หรือรักษาโรคเพราะอาจเป็นอันตรายต่อครรภ์หรือทารกได้ หากไม่แน่ใจหรือมีข้อสงสัยควรปรึกษาคุณหมอก่อนบริโภคสมุนไพรไทย
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย