หากร่างกายขาดโปรตีนจะเป็นอย่างไร
หากร่างกายขาดโปรตีนหรือได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ดังนี้
- กระดูกพรุน อาหารที่มีโปรตีนสูงหลายชนิด เช่น นมวัว นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ล้วนเป็นแหล่งสำคัญของแคลเซียมที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน การรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงไม่เพียงพอจึงอาจส่งผลให้ร่างกายขาดแคลเซียมด้วยเช่นกันและส่งผลให้เกิดโรคกระดูกพรุน
- อาการบวมน้ำ อาการบวมที่หน้าท้อง ฝ่ามือ ขา และเท้า อาจเป็นสัญญาณเตือนเมื่อร่างกายขาดโปรตีน
- ปัญหาสุขภาพเส้นผม เล็บและผิวหนัง โปรตีนบางชนิด เช่น อีลาสติน คอลลาเจน เคราติน มีส่วนช่วยให้เส้นผมแข็งแรง กระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผมใหม่ เพิ่มความชุ่มชื้นและความยืดหยุ่นให้ผิว ป้องกันเล็บเปราะบาง หากร่างกายได้รับโปรตีนจากอาหารไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้มีอาการผมร่วง เล็บเป็นคลื่น เล็บฉีกง่าย ผิวหนังหย่อนคล้อย และมีริ้วรอยแก่ก่อยวัยอันควรได้
- อ่อนเพลียและเหนื่อยล้าง่าย โปรตีนเป็นสารอาหารที่ช่วยเพิ่มพลังงาน หากร่างกายได้รับโปรตีนไม่มีเพียงพออาจทำให้ไม่มีแรงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ และอาจส่งผลให้รู้สึกอ่อนเพลียและเหนื่อยล้าได้ง่าย
- แผลหายช้า คอลลาเจนคือโปรตีนที่อาจช่วยซ่อมแซมเซลล์ผิวที่เสียหายและช่วยฟื้นฟูบาดแผล ดังนั้น หากร่างกายได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ เมื่อมีแผลจากอุบัติเหตุหรือจากการผ่าตัด ก็อาจทำให้แผลสมานช้ากว่าปกติ
- เจ็บป่วยบ่อย โปรตีนมีกรดอะมิโนที่อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในการต้านเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม ดังนั้น เมื่อร่างกายมีระดับโปรตีนไม่เพียงพอก็อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวและระบบภูมิคุ้มกันลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้เจ็บป่วยบ่อยได้
ข้อควรระวังในการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง
การรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง ควรเน้นการรับประทานโปรตีนที่ดีต่อสุขภาพ เช่น อกไก่ ปลาแซลมอน เนื้อสัตว์ไร้ไขมัน ธัญพืชไม่ขัดสี ผัก ผลไม้และผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ ควรหลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณการรับประทานอาหารแปรรูป ของทอด อาหารทะเล ที่อาจส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลสูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ไขมันไม่ดีสะสมในร่างกายและอุดตันในหลอดเลือด และอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคไตและโรคเบาหวานได้
ปริมาณโปรตีนที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน แบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
- เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ควรได้รับโปรตีน 13 กรัม/วัน
- เด็กอายุ 4-8 ปี ควรได้รับโปรตีน 19 กรัม/วัน
- เด็กอายุ 9-13 ปี ควรได้รับโปรตีน 34 กรัม/วัน
- เด็กผู้หญิงอายุ 14 ปีขึ้นไป ควรได้รับโปรตีน 46 กรัม/วัน
- เด็กผู้ชายอายุ 14-18 ปี ควรได้รับโปรตีน 52 กรัม/วัน
- ผู้ชายอายุ 19 ปีขึ้นไป ควรได้รับโปรตีน 56 กรัม/วัน
นอกจากนี้ สำหรับบุคคลที่เป็นนักกีฬาหรือนักเพาะกายที่ใช้แรงมากอาจจำเป็นต้องรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงในปริมาณมากกว่าบุคคลทั่วไป เพื่อช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและเพิ่มพลังงาน ดังนั้น จึงควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำและแผนการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงอย่างเหมาะสม
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย