backup og meta

5 อาหารที่ช่วยดีท็อกลำไส้ มีอะไรบ้าง

5 อาหารที่ช่วยดีท็อกลำไส้ มีอะไรบ้าง

ดีท็อกลำไส้ (Detox) เป็นวิธีการล้างสารพิษในร่างกายด้วยการรับประทานอาหารที่มีส่วนช่วยในการสนับสนุนการทำงานในลำไส้ ส่งเสริมการเจริญเติบโตของแบคทีเรียดีในลำไส้ที่ช่วยในการย่อยอาหาร เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายขับสารพิษตกค้างออกมาผ่านการอุจจาระ ซึ่งอาจช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเสีย ท้องผูกและลดแก๊สในกระเพาะอาหาร รวมถึงอาการอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับสารพิษสะสมในระบบทางเดินอาหารและลำไส้ เช่น สิว โรคภูมิแพ้ การติดเชื้อ กรดในกระเพาะอาหาร หงุดหงิดง่าย คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย ความรู้สึกไม่สดชื่น

[embed-health-tool-bmr]

5 อาหารที่ช่วยดีท็อกลำไส้

อาหารที่อาจช่วย ดีท็อกลำไส้ และส่งผลดีต่อสุขภาพ อาจมีดังนี้

  1. ผักและผลไม้

ผักและผลไม้หลายชนิดอุดมไปด้วยใยอาหารที่มีประโยชน์ต่อการทำงานของระบบทางเดินอาหาร และการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งอาจช่วยล้างสารพิษในลำไส้ผ่านทางอุจจาระ และยังช่วยเพิ่มมวลอุจจาระ ทำให้อุจจาระนิ่มขึ้นและขับถ่ายได้ดีขึ้น

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของผลไม้และใยอาหารที่อาจส่งผลต่อสุขภาพ พบว่า การบริโภคผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วยใยอาหาร ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ดีในลำไส้ที่มีหน้าที่ในการย่อยอาหาร ทั้งยังส่งผลดีต่อการเคลื่อนไหวลำไส้ จึงอาจมีส่วนช่วยในการปกป้องสุขภาพทางเดินอาหารและลำไส้ เช่น ช่วยป้องกันอาการท้องผูก อาการลำไส้แปรปรวน โรคลำไส้อักเสบ โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ ยังอาจช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารและลำไส้ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

ตัวอย่างผักและผลไม้ที่นิยมรับประทานเพื่อช่วยดีท็อกลำไส้ มีดังนี้

  • มะนาว อุดมไปด้วยวิตามินซีที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ อาจช่วยล้างสารพิษในลำไส้ ช่วยรักษาสมดุลความเป็นกรด-ด่างในร่างกาย และกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร อาจส่งผลให้การเคลื่อนไหวของลำไส้และการขับถ่ายดีขึ้น
  • ขิง อาจมีฤทธิ์ช่วยส่งเสริมระบบเผาผลาญในร่างกายจึงอาจช่วยลดแคลอรี่ได้ดี ทั้งยังช่วยกระตุ้นเร่งกระบวนการขับของเสียออกจากร่างกาย จึงอาจสามารถใช้เป็นอาหารดีท็อกลำไส้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • เซเลอรี่ (Celery) อุดมไปด้วยสารพฤกษเคมีอย่างสารไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients) ที่มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบย่อยอาหารและช่วยล้างสารพิษในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังอุดมไปด้วยใยอาหารสูงที่ช่วยส่งเสริมการเคลื่อนไหวของลำไส้ เพิ่มมวลอุจจาระส่งผลดีต่อการขับถ่าย
  • มะละกอ อุดมไปด้วยใยอาหารสูงและเบต้าแคโรทีน ที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ อาจช่วยล้างสารพิษในลำไส้ เสริมภูมิคุ้มกัน อาจมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ ที่ช่วยในการขับถ่าย และอาจช่วยบรรเทาอาการท้องผูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • แอปเปิ้ล อุดมไปดวยสารต้านอนุมูลอิสระอย่างโพลีฟีนอล (Polyphenol) และฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ทั้งยังมีเส้นใยอาหารสูงที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร ช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ช่วยล้างสารพิษ ทำให้ลำไส้และระบบย่อยอาหารมีสุขภาพดี
  • สับปะรด อุดมไปด้วยวิตามินซีสูง ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยล้างสารพิษ ล้างลำไส้ และยังช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ที่ช่วยในการย่อยอาหาร ทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังอุดมไปด้วยใยอาหารที่ช่วยเพิ่มมวลอุจจาระและเพิ่มความสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ซึ่งส่งผลดีต่อการขับถ่าย
  1. ชาเขียว

ชาเขียวอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอย่างฟีนอลิก (Phenolic) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยต้านอนุมูลอิสระและช่วยขับสารพิษที่ตกค้างอยู่ภายในร่างกาย รวมทั้งยังอาจช่วยส่งเสริมการทำงานและการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในลำไส้ที่มีหน้าที่ในการเผาผลาญอาหาร ส่งผลให้ลำไส้มีสุขภาพดีตามไปด้วย ชาเขียวจึงอาจเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยดีท็อกลำไส้ได้

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Molecules เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 ศึกษาเกี่ยวกับชาเขียวและความสัมพันธ์กับจุลินทรีย์ในลำไส้ของมนุษย์ พบว่า ชาเขียวอุดมปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในลำไส้และช่วยส่งเสริมการทำงานของจุลินทรีย์ในการเผาผลาญสารอาหาร ขัดขวางการพัฒนาของสิ่งมีชีวิตที่เป็นอันตรายและอาจช่วยขับสารพิษในลำไส้ได้ดี จึงอาจช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพ เช่น โรคอ้วน โรคมะเร็ง

  1. ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว และเมล็ดพืช

ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว และเมล็ดพืช  เช่น ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลันเตา ถั่วแดง อัลมอนด์ ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ควินัว เมล็ดเจีย เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง เป็นแหล่งอาหารที่ดีต่อสุขภาพและอาจช่วยดีท็อกลำไส้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอย่างฟีนอลิก  (Phenolic) และใยอาหาร ที่มีช่วยส่งเสริมการเคลื่อนไหวของลำไส้ เพิ่มมวลอุจจาระทำให้ขับถ่ายได้ดีขึ้น ส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในลำไส้ รวมถึงอาจช่วยขับสารพิษ ต้านการอักเสบ เพิ่มความแข็งแรงของเยื่อบุผิวลำไส้ที่อาจช่วยป้องกันโรคบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพลำไส้และทางเดินอาหาร เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ท้องผูก โรคลำไส้อักเสบ

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ใน British Journal of Nutrition เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2557 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของธัญพืชไม่ขัดสีต่อจุลินทรีย์ในลำไส้ พบว่า การรับประทานธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว และเมล็ดพืช อาจมีส่วนช่วยส่งเสริมการทำงานของลำไส้และการเจริญเติบโตที่ดีของจุลินทรีย์ในลำไส้ จึงอาจช่วยเพิ่มความแข็งแรงของเซลล์และเยื่อบุผิวในลำไส้ใหญ่ ต้านการอักเสบ ที่อาจช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้รวมทั้งเส้นใยที่ไม่ละลายน้ำปริมาณมากในธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว และเมล็ดพืช อาจมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มมวลอุจจาระ ลดระยะเวลาการเคลื่อนย้ายอุจจาระในลำไส้ จึงทำให้ขับถ่ายได้ดีและง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว และเมล็ดพืช ยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอย่างฟีนอลิกซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่อาจช่วยขับสารพิษในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในลำไส้ ทั้งยังอาจช่วยต้านการอักเสบและเพิ่มความแข็งแรงของเยื่อบุลำไส้ ซึ่งอาจช่วยป้องกันโรคลำไส้อักเสบได้

  1. น้ำมันมะพร้าว

น้ำมันมะพร้าวอุดมไปด้วยกรดไขมันที่อาจช่วยต้านแบคทีเรีย ต้านจุลินทรีย์ชนิดไม่ดี ต้านเชื้อรา และอาจยังช่วยปรับปรุงสุขภาพของลำไส้ โดยช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนของแบคทีเรียชนิดดี ซึ่งอาจช่วยเสริมความสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ได้ รวมถึงช่วยส่งเสริมการเผาผลาญและช่วยในการย่อยอาหาร จึงอาจใช้น้ำมะพร้าวในการดีท็อกลำไส้ได้

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Earth and Environmental Science เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับผลของน้ำมันมะพร้าวต่อจุลินทรีย์ในลำไส้ พบว่า การบริโภคน้ำมันมะพร้าวอาจช่วยเสริมความสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ เพิ่มการเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในลำไส้ ซึ่งประกอบด้วยแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) อัลโลบาคูลัม (Allobaculum) บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ชนิดดีที่มีหน้าที่ในการเผาผลาญอาหารและช่วยส่งเสริมการทำงานของลำไส้ จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพบางประการที่เกี่ยวข้องกับความไม่สมดุลของจุลินทรีย์และความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคตับแข็ง โรคข้ออักเสบ โรคหลอดเลือด โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ โรคโครห์น (Crohn’s Disease) เมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของน้ำมันมะพร้าวในการช่วยดีท็อกลำไส้

  1. อาหารที่อุดมไปด้วยโพรไบโอติก

การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโพรไบโอติก (Probiotics) เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว กิมจิ อาหารหมักดองต่าง ๆ อาจช่วยเสริมความสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยอาหารและเพิ่มการทำงานของระบบย่อยอาหาร จึงอาจเป็นอาหารดีท็อกลำไส้ที่ช่วยล้างสารพิษ รวมทั้งยังอาจช่วยเสริมความแข็งแรงของสุขภาพลำไส้ที่อาจช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือด โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ โรคโครห์น เมตาบอลิกซินโดรม

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Therapeutic Advances in Gastroenterology เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2556 ศึกษาเกี่ยวกับผลของโพรไบโอติกต่อจุลินทรีย์ในลำไส้ พบว่า การรับประทานอาหารอาจมีผลกระทบโดยตรงต่อจุลินทรีย์ในลำไส้ หากจุลินทรีย์เกิดความไม่สมดุลอาจส่งผลทำให้เกิดการอักเสบ ภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง ความผิดปกติของระบบประสาท และอาจทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคตับแข็ง โรคหลอดเลือด โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ โรคโครห์น เมตาบอลิกซินโดรม ดังนั้น การรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพลำไส้ อาจช่วยเสริมความสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ รวมถึงอาจช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ในลำไส้ให้เหมาะสม เพื่อสุขภาพลำไส้ที่แข็งแรง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

การทำดีท็อกซ์ดีจริงหรือ. https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=129. Accessed May 24, 2022

“Detoxes” and “Cleanses”: What You Need To Know. https://www.nccih.nih.gov/health/detoxes-and-cleanses-what-you-need-to-know. Accessed May 24, 2022

The Truth About Detox Diets. https://www.webmd.com/diet/a-z/detox-diets. Accessed May 24, 2022

Effects of probiotics on gut microbiota: mechanisms of intestinal immunomodulation and neuromodulation. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3539293/#:~:text=Probiotics%20may%20restore%20the%20composition,intestinal%20or%20systemic%20disease%20phenotypes. Accessed May 24, 2022

Effect of virgin coconut oil on caecal microbiota composition in alloxan-induced diabetic rats. https://iopscience.iop.org/article/10.1088/1755-1315/333/1/012080/pdf. Accessed May 24, 2022

Impact of whole grains on the gut microbiota: the next frontier for oats?. https://www.cambridge.org/core/journals/british-journal-of-nutrition/article/impact-of-whole-grains-on-the-gut-microbiota-the-next-frontier-for-oats/7D421E4843AEA0E4548A92BBC284093E. Accessed May 24, 2022

Green Tea and Its Relation to Human Gut Microbiome. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/34206736/. Accessed May 24, 2022

Whole Fruits and Fruit Fiber Emerging Health Effects. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6315720/. Accessed May 24, 2022

What’s the Deal with Detox Diets?. https://www.eatright.org/health/wellness/fad-diets/whats-the-deal-with-detox-diets. Accessed May 24, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/05/2024

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

5 อาหารสร้างภูมิคุ้มกัน มีอะไรบ้าง

อาหารที่ย่อยง่าย มีอะไรบ้าง ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/05/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา