backup og meta

การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน กับเทคนิคง่าย ๆ ที่อาจช่วยให้อาการดีขึ้น

การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน กับเทคนิคง่าย ๆ ที่อาจช่วยให้อาการดีขึ้น

การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถรับมือกับโรคได้ดีขึ้น โดยเฉพาะหากผู้ป่วยเป็นคนในครอบครัว การสอบถามถึงอาการ การศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรค รวมทั้งการดูแลเรื่องโภชนาการ และการให้กำลังใจ นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น และมีกำลังใจในการรักษาอาการต่อไป

การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน

การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน จำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับโรคเบาหวาน เพื่อจะได้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง นอกจากนั้น ยังมีเทคนิคง่าย ๆ ในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่อาจช่วยให้อาการและความรู้สึกของผู้ป่วยดีขึ้น ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ โรคเบาหวาน

มีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับ โรคเบาหวาน มากมาย เช่น ผู้ที่เป็นเบาหวานไม่ควรออกกำลังกายซึ่งไม่เป็นความจริง ดังนั้นควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ว่าโรคเบาหวานคืออะไร สามารถป้องกันในกรณีฉุกเฉินได้อย่างไร หรือสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนได้อย่างไร รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพื่อจะได้ดูแลคนในครอบครัวที่ป่วยเป็นเบาหวานให้ดียิ่งขึ้น

2.ช่วยบรรเทาความเครียด

ความเครียดอาจเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งจะทำให้ควบคุมโรคเบาหวานได้ยากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการจัดการกับโรคเบาหวานอาจทำให้เกิดความเครียด ดังนั้นจึงควรช่วยกันหาวิธีบรรเทาความเครียด เช่น ชวนไปออกกำลังกาย ไปเที่ยวพักผ่อน หรือชมภาพยนต์ตลกที่บ้านร่วมกัน

3.เป็นฝ่ายสนับสนุน

ควรจำไว้ว่าผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ต้องรับผิดชอบและจัดการกับ โรคเบาหวาน ด้วยตนเอง ส่วนคนในครอบครัวควรเป็นฝ่ายสนับสนุน ไม่ใช่ผู้คุมที่คอยบงการผู้ป่วยโรคเบาหวาน  นอกจากนี้คนในครอบครัวเองควรให้กำลังใจและสนับสนุนผู้ป่วยโรคเบาหวานด้วย

4.ทำความเข้าใจอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ของคนเป็นเบาหวาน

การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจะช่วยให้อาการอารมณ์แปรปรวนดีขึ้น เนื่องจากการขึ้นลงของระดับน้ำตาลในเลือด สามารถทำให้ผู้ป่วยสับสน กระวนกระวายใจ วิตกกังวล  การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ อาจช่วยให้อารมณ์แปรปรวนของผู้ป่วยเบาหวานลดลงได้

5.กรณีที่เป็นคู่สมรส ควรพูดคุยกันเรื่องปัญหาทางเพศ

โรคเบาหวาน อาจส่งผลให้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเกิดความผิดปกติหรือเปลี่ยนแปลงไปได้ รวมถึงอวัยวะเพศ เช่น ผู้หญิงที่เป็นโรคเบาหวานอาจมีปัญหาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และปัญหาช่องคลอดแห้ง ซึ่งอาจทำให้เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ ส่วนผู้ชายที่เป็นโรคเบาหวานอาจมีแนวโน้มว่าจะเกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ (Erectile dysfunction)

นอกจากนี้การเป็นโรคเบาหวานยังอาจส่งผลต่อความนับถือตนเอง (self-esteem) ซึ่งอาจทำให้บางคนสนใจเรื่องทางเพศน้อยลง ดังนั้นการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นสามีหรือภรรยาเป็นโรคเบาหวาน ควรพูดคุยกันเรื่องปัญหาทางเพศ หรือปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางออกร่วมกัน

6.กินอาหารที่มีประโยชน์

ทั้งผู้ป่วยโรคเบาหวานและสมาชิกในครอบครัวควรกินอาหารที่มีประโยชน์ โดยลดน้ำหวาน ลดอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีอาหารสำหรับโรคเบาหวานโดยเฉพาะ

การวางแผนการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยเพิ่มผักและผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด นม ไขมันที่มีประโยชน์ และอาหารโปรตีนสูง ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีสุขภาพดีแล้ว คนดูแลผู้ป่วยเบาหวานเองก็มีสุขภาพดีด้วย

7.คิดในแง่บวกเสมอ

ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (Centers for Disease Control and Prevention, CDC)  ให้ข้อมูลว่า โรคเบาหวาน เป็นโรคที่ทำให้เสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับที่ 7 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้น การได้รับวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน อาจเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับบางคน เนื่องจากเป็นโรคที่มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน

ทั้งนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนในครอบครัวควรพูดคุยกับผู้ป่วยในแง่บวกและให้กำลังใจ เช่น พูดถึงผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 แต่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข มากไปกว่านั้นผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจไม่ต้องการได้ยินข่าวร้าย ว่าใครเสียชีวิตจากการเป็นโรคเบาหวานไปแล้วบ้าง สมาชิกในบ้านจึงควรพูดคุยในเรื่องที่เป็นแง่ดีและไม่ควรเล่าเรื่องราวในแง่ลบ เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเครียดได้

8.ออกกำลังกายด้วยกัน

การออกกำลังกายเป็นประจำ สำคัญต่อสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เนื่องจากการออกกำลังกายและการลดน้ำหนักสามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน และออกกำลังกาย 5 วันต่อสัปดาห์ จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่จะให้ดียิ่งกว่านั้น คนในครอบครัวควรไปออกกำลังกายด้วยกันเพื่อจะได้มีสุขภาพดีกันทั้งครอบครัว

สิ่งสำคัญในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานคือ การเลือกกิจกรรมหรือการออกกำลังกายที่ผู้ป่วยชอบ หรือบางครั้งอาจให้สมาชิกในบ้านสลับการเลือกกิจกรรมที่ทำร่วมกัน เช่น การเดิน การปั่นจักรยาน การออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อ (Strength Training) และการออกกำลังกายแบบยืดหยุ่น (Flexibility exercises) ซึ่งจะทำให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนได้ประโยชน์จากการออกกำลังกาย เป็นการช่วยบรรเทาความเครียดจากการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่าง ๆ อีกด้วย

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Helping a Loved One With Diabetes. https://www.webmd.com/diabetes/help-loved-one. Accessed January 19, 2022.

How to help a loved one cope with diabetes – CDC. https://www.cdc.gov/diabetes/ndep/pdfs/NDEP_Help_Loved_One_Cope_Diabetes.pdf. Accessed January 19, 2022.

Statistics About Diabetes. https://www.diabetes.org/resources/statistics/statistics-about-diabetes. Accessed January 19, 2022.

My Friend Has Diabetes. How Can I Help?. https://kidshealth.org/en/teens/friend-diabetes.html. Accessed January 19, 2022.

Dos and Don’ts: Supporting Loved Ones With Diabetes. https://www.everydayhealth.com/type-2-diabetes/living-with/dos-donts-supporting-loved-ones-diabetes/. Accessed January 19, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

19/01/2022

เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีการดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน

การออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อควบคุมอาการและทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 19/01/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา