ลูกดิ้นตอนกี่เดือน เป็นหนึ่งในคำถามที่คุณแม่มือใหม่อยากรู้มากที่สุด เพราะนอกจากจะต้องการสัมผัสถึงการเคลื่อนไหวของลูกในครรภ์แล้ว การดิ้นของลูกยังนับเป็นการแสดงออกถึงพัฒนาการหรือการมีชีวิตอยู่ของลูกด้วย โดยคุณแม่จะเริ่มสัมผัสและรู้สึกถึงอาการดิ้นของลูกเมื่อเข้าสู่การตั้งครรภ์ประมาณสัปดาห์ที่ 18-20 คุณแม่อาจรู้สึกถึงอาการขยับหรือยกแขนขา เตะเบา ๆ หรือกลิ้งไปมา รวมทั้งอาการสะอึก หลังจากที่สัมผัสได้ถึงอาการลูกดิ้นครั้งแรก คุณแม่ควรเฝ้าติดตามและเริ่มสังเกตลูกดิ้น ด้วยการนับหรือจดบันทึกจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นในแต่ละวันจนกระทั่งถึงวันกำหนดคลอด เพราะลูกดิ้นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าลูกในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรงดี
[embed-health-tool-due-date]
ทำไมลูกถึงดิ้น
ลูกในครรภ์มีพัฒนาการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเคลื่อนไหวร่างกายของลูก เช่น การดิ้น การยืดแขนขา การเตะ การต่อย การกลิ้งตัว เป็นพฤติกรรมตอบสนองของลูกเมื่ออยู่ในครรภ์ ลูกอาจเริ่มดิ้นเมื่อได้ยินเสียง สัมผัสได้ถึงอารมณ์ของแม่ หรือเมื่อรู้สึกว่าท่านั่ง เดิน นอน ของแม่อยู่ในท่าที่ไม่สบาย นอกจากนี้ การรับประทานอาหารบางชนิดก็อาจทำให้ลูกในครรภ์รู้สึกกระฉับกระเฉงมากขึ้น หรือการดิ้นอาจเป็นการตอบสนองที่ทำคุณแม่รู้ว่าลูกกำลังนอนหลับหรือตื่นอยู่
ลูกดิ้นตอนกี่เดือน
ลูกในครรภ์อาจเริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่ 12 สัปดาห์หรือ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ แต่คุณแม่อาจยังไม่รู้สึก เพราะร่างกายของลูกยังเล็กมาก คุณแม่อาจเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นประมาณสัปดาห์ที่ 20 ในท้องแรก และสัปดาห์ที่ 16 ในท้องต่อ ๆ ไป
ในสัปดาห์ที่ 24-36 ของการตั้งครรภ์ ลูกจะดิ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อเสียง อารมณ์ หรือท่าทาง การดิ้นอาจเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น เมื่อเข้าสู่ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์ ลูกอาจเริ่มเคลื่อนไหวช้าลงเล็กน้อยเพื่อเตรียมพร้อมคลอด คุณแม่จึงควรเข้าพบคุณหมอตามนัดเสมอ เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของลูกในครรภ์
การเคลื่อนไหวของลูกในครรภ์แต่ละสัปดาห์ อาจแบ่งได้ดังนี้
- สัปดาห์ที่ 16-19 อาจรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวในครรภ์เล็กน้อย สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรกอาจต้องนั่งในที่เงียบ ๆ หรือนอนราบเพื่อสัมผัสถึงการเคลื่อนไหวของลูก
- สัปดาห์ที่ 20-23 อาจรู้สึกถึงการเตะและต่อยของลูกชัดเจนขึ้นและบ่อยขึ้น ทั้งยังอาจรู้สึกว่าลูกดิ้นมากขึ้นในช่วงเย็นของวัน หรือหลังจากรับประทานอาหาร
- สัปดาห์ที่ 24-28 ในช่วงนี้ถุงน้ำคร่ำอาจมีของเหลวมากถึง 26 ออนซ์ (ประมาณ 768 มิลลิลิตร) ช่วยให้ลูกสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระมากขึ้น เช่น ตีลังกา เตะ ต่อย กระโดด
- สัปดาห์ที่ 29-31 ลูกอาจเคลื่อนไหวน้อยลง แต่รุนแรงและชัดเจนขึ้น เช่น การเตะอย่างแรง
- สัปดาห์ที่ 32-35 ลูกตัวใหญ่ขึ้นจึงอาจมีพื้นที่ในการเคลื่อนไหวน้อยลง ส่งผลให้ลูกเคลื่อนที่ช้าลง แต่ยังคงสามารถสัมผัสได้ถึงอาการขยับตัวอยู่เสมอ
- สัปดาห์ที่ 36-40 เมื่อเข้าใกล้วันครบกำหนดคลอด ลูกจะเคลื่อนไหวช้าลง แต่ยังสามารถนับจำนวนครั้งที่ดิ้นได้แม้ว่าลูกจะตัวใหญ่ขึ้นและพื้นที่น้อยลง โดยลูกจะคว่ำหน้าเพื่อย้ายไปตำแหน่งคลอด อาจทำให้คุณแม่รู้สึกถึงการเตะหรือต่อยของลูกที่ตำแหน่งใต้ซี่โครง ซึ่งอาจทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บปวดได้
ลูกดิ้นมีอาการอย่างไร
ลักษณะการดิ้นของลูกในครรภ์อาจขึ้นอยู่กับพัฒนาการ การเจริญเติบโตในแต่ละสัปดาห์ หรืออาจเป็นการตอบสนองต่อการกระทำของคุณแม่ เช่น ลูกดิ้นเมื่อได้ยินเสียงแม่พูดคุย ลูกดิ้นเมื่อสัมผัสได้ถึงอารมณ์ของแม่ อย่างไรก็ตาม ทารกแต่ละคนอาจมีพฤติกรรมหรือความกระฉับกระเฉงไม่เหมือนกัน บางคนอาจดิ้นตลอดทั้งวัน บางคนอาจดิ้นน้อยหรือน้อยมาก
การดิ้นของลูกในครั้งแรก อาจเป็นลักษณะยกหรือขยับแขนขาไปมา กลิ้งตัวหรือเตะเล็กน้อย เมื่อระยะเวลาตั้งครรภ์ดำเนินไปลูกจะเริ่มดิ้นมากขึ้นและรุนแรงขึ้น คุณแม่สามารถสัมผัสถึงเท้า ข้อศอก การถีบ การเตะ หรือการกลิ้งได้ชัดเจนขึ้น จนบางครั้งคุณแม่อาจรู้สึกเจ็บเมื่อลูกดิ้นรุนแรงมากขึ้น
ลูกเคลื่อนไหวในบางช่วงเวลาของวัน โดยปกติลูกในครรภ์จะนอนหลับครั้งละ 20-40 นาที อาจดิ้นมากในช่วงเวลาที่คุณแม่นอนหลับและดิ้นน้อยลงในช่วงที่คุณแม่ตื่น ซึ่งคุณแม่อาจไม่รู้สึกว่าลูกดิ้นในขณะที่นั่งหรือยืน แต่อาจรู้สึกได้มากกว่าเมื่อนอนราบหรือจดจ่อกับการดิ้นของลูกในครรภ์ โดยลูกจะเริ่มดิ้นบ่อยขึ้นเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 ประมาณสัปดาห์ที่ 28 หรือประมาณ 7 เดือนเป็นต้นไป และเมื่อเข้าสู่ช่วงสัปดาห์ที่ 36 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ลูกอาจเคลื่อนไหวช้าลงแต่ยังคงดิ้นอยู่เสมอ หรืออาจถีบแรงๆ เป็นครั้งคราวแต่อาจไม่ถี่เหมือนในช่วงก่อนหน้า
วิธีนับการดิ้นของลูกในครรภ์
คุณแม่ควรติดตามการเคลื่อนไหวของลูกในครรภ์ทั้งพฤติกรรมการเตะ การถีบ หรือการกลิ้งตัว หากสังเกตเห็นว่า ลูกดิ้นน้อยลงหรือไม่ดิ้นควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อหาสาเหตุความผิดปกติ โดยคุณหมออาจตรวจสอบด้วยการวัดปริมาณน้ำคร่ำ อัลตราซาวด์ หรือตรวจทางเทคนิคเฉพาะเพิ่มเติม เช่น การติดเครื่องที่บริเวณหน้าท้องเพื่อดูสุขภาพของลูกในครรภ์ การประเมินการแข็งตัวของมดลูก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลก่อนคลอดในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง
วิธีที่คุณหมอแนะนำให้นับการดิ้นของลูกในปัจจุบันมีหลายวิธี ขึ้นกับความสะดวกในการนำไปใช้ เช่น
- Count to ten คือ การนับการดิ้นของลูกในครรภ์ให้ครบ 10 ครั้ง ในช่วงเวลา 2 ชั่วโมงต่อกัน ในท่านอนตะแคง โดยเลือกเวลาที่สะดวก หรือเวลาที่ลูกดิ้นเยอะในช่วงเย็น โดยไม่จำเป็นต้องทำหลังรับประทานอาหาร ถ้านับลูกดิ้นไม่ถึง 10 ครั้ง ถือว่าผิดปกติ
- Modified Cardiff count to ten คือ การนับการดิ้นของลูกในครรภ์จนครบ 10 ครั้ง ในเวลา 4 ชั่วโมง นิยมให้นับในช่วงเช้า 8.00-12.00 น. หากพบความผิดปกติ ตอนบ่ายควรไปพบคุณหมอทันที หากคุณหมอตรวจพบความผิดปกติใด ๆ จะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที
- การนับลูกดิ้น 3 เวลาหลังมื้ออาหาร โดยนับครั้งละ 1 ชั่วโมง ถ้าลูกดิ้นน้อยกว่า 3 ครั้งต่อชั่วโมง ถือว่าผิดปกติ
- Daily fetal movement record (DFMR) คือ การนับรวมจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นใน 12 ชั่วโมงต่อวัน ถ้าน้อยกว่า 10 ครั้ง ถือว่าผิดปกติ
หากพบว่ามีลูกดิ้นน้อย หยุดดิ้น หรือดิ้นแรงถี่ ๆ ติดกันจนผิดปกติ ต้องรีบไปโรงพยาบาลเพื่อให้คุณหมอตรวจและประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อความปลอดภัยของลูกในครรภ์