backup og meta

ทำไมต้อง ตัดมดลูกและรังไข่ 2 ข้าง

ทำไมต้อง ตัดมดลูกและรังไข่ 2 ข้าง

การตัดมดลูกและรังไข่ 2 ข้างออกเป็นการรักษาที่ต้องได้รับการพิจารณาจากคุณหมอ ซึ่งเป็นการรักษาทางเลือกเมื่อปัญหาสุขภาพของผู้ป่วยมีความรุนแรงและไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซีสต์หรือเนื้องอก มะเร็งรังไข่

สาเหตุที่ต้องตัดมดลูกและรังไข่ 2 ข้าง

การตัดมดลูกและรังไข่ 2 ข้าง อาจทำได้ในกรณีที่ผู้หญิงมีปัญหาสุขภาพร้ายแรง ที่ผ่านการพิจารณาจากคุณหมอแล้วว่าจำเป็นต้องตัดมดลูกและรังไข่ออกเพื่อทำการรักษาโรค มีหลายสาเหตุดังนี้

  • การตั้งครรภ์นอกมดลูก มีการตั้งครรภ์อยู่บริเวณอื่นนอกโพรงมดลูก ส่วนใหญ่พบในบริเวณท่อนำไข่ และบริเวณอื่น เช่น ปากมดลูก รังไข่ หรือในช่องท้อง
  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ คือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญนอกเหนือจากภายในโพรงมดลูก ซึ่งอาจทำให้มีอาการปวดท้องประจำเดือนที่รุนแรงมากขึ้น
  • ซีสต์หรือเนื้องอกที่ไม่เป็นมะเร็ง เป็นก้อนเนื้อ ก้อนซีสต์หรือถุงน้ำรังไข่ที่เจริญเติบโตขึ้นแต่ไม่กลายเป็นมะเร็ง อาจทำให้มีอาการปวดท้องรุนแรงเมื่อมีประจำเดือน
  • การมีฝีหรือถุงหนองร้ายแรงเกิดขึ้นที่ท่อนำไข่  อาจเกิดจากปีกมดลูกอักเสบ การติดเชื้อที่อุ้งเชิงกราน ซึ่งส่งผลให้เกิดถุงหนองที่ท่อนำไข่หรือท่อรังไข่
  • การกลายพันธุ์ของยีน BRCA เป็นยีนหรือพันธุกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งการกลายพันธุ์จะทำให้ดีเอ็นเอของมนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้มีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่
  • การลดความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ ฮอร์โมนที่ผลิตจากรังไข่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม ดังนั้น การตัดรังไข่ออกอาจลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ในผู้หญิงที่มียีน BRCA1 หรือ BRCA2 ผิดปกติ
  • ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease หรือ PID) คือ ภาวะที่มีการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์เพศหญิงส่วนบน ได้แก่ มดลูก รังไข่ เยื่อบุช่องท้องในอุ้งเชิงกราน ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
  • โรครังไข่บิดขั้ว (Torsion Of Ovarian Cyst) มักพบในหญิงวัยเจริญพันธุ์เป็นภาวะที่รังไข่บิดไปรอบ ๆ ซึ่งอาจตัดการไหลเวียนของเลือดที่ไปยังรังไข่และท่อนำไข่ ส่งผลให้มีอาการเจ็บปวดรุนแรง เนื่องจากรังไข่ไม่ได้รับเลือดเพียงพอ ซึ่งหากไม่ได้รับเลือดนานเกินไปอาจทำให้เนื้อเยื่อตายได้ นอกจากนี้ยังอาจมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย
  • ภาวะปวดท้องน้อยเรื้อรังในสตรี (Chronic Pelvic Pain) คือ อาการปวดท้องน้อยนานเกิน 6 เดือน ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน
  • ประจำเดือนมามากกว่าปกติหรือเลือดออกทางช่องคลอดอย่างผิดปกติ ซึ่งไม่สามารถใช้วิธีอื่นรักษาได้ อาจมีสาเหตุจากกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ และโรคเกี่ยวกับกระดูกเชิงกรานอักเสบ
  • การปวดประจำเดือนอย่างรุนแรง ที่เกิดจากโรคมดลูกโต และโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
  • อาการห้อยยานของอวัยวะ คือ มดลูกตกลงไปในช่องคลอดเนื่องจากเอ็นหลวมหรือกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเสียหาย มักเกิดจากการคลอดบุตร

อาการของโรคหรือภาวะความผิดปกติของมดลูกและรังไข่เหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่คุณหมออาจพิจารณาให้จำเป็นต้องตัดมดลูกและรังไข่ 2 ข้างออก เพื่อทำการรักษาอาการและลดความเสี่ยงการลุกลามของโรค

วิธีการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ 2 ข้าง

การผ่าตัดมดลูกและรังไข่ 2 ข้าง อาจแบ่งเป็นหลายประเภทขึ้นอยู่กับสุขภาพของผู้ป่วยและการพิจารณาของคุณหมอ ดังนี้

  • การผ่าตัดรังไข่ข้างเดียว (Unilateral Oophorectomy) คือ การตัดเอารังไข่ที่มีปัญหาข้างใดข้างหนึ่งออก
  • การผ่าตัดรังไข่ทั้ง 2 ข้าง (Bilateral Oophorectomy) คือ การผ่าตัดเปิดหน้าท้องหรืออาจใช้วิธีส่องกล้องเพื่อตัดรังไข่ทั้ง 2 ข้างออก
  • การผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ข้างเดียว (Salpingo-Oophorectomy) คือ การผ่าตัดเอารังไข่และท่อนำไข่ที่มีปัญหาข้างใดข้างหนึ่งออก
  • การผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ออกทั้ง 2 ข้าง (Bilateral Salpingo-Oophorectomy) คือ การผ่าตัดเปิดหน้าท้องหรืออาจใช้วิธีส่องกล้องเพื่อตัดรังไข่และท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างออก
  • การตัดมดลูก (Hysterectomy) คือ การตัดมดลูก รังไข่และท่อนำไข่ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างออก

วิธีการตัดมดลูกและรังไข่ มีดังนี้

  • การเปิดช่องท้องแบบดั้งเดิม เป็นวิธีดั้งเดิม โดยคุณหมอทำการกรีดบริเวณหน้าท้อง เพื่อให้เห็นรังไข่และแยกแต่ละส่วนออกจากเนื้อเยื่อและหลอดเลือดแดงเพื่อนำส่วนที่มีปัญหาออกมา
  • การผ่าตัดผ่านกล้อง คุณหมอจะสอดกล้องขนาดเล็กผ่านช่องสะดือ ซึ่งจะช่วยให้เห็นรังไข่ผ่านทางจอภาพ จากนั้นคุณหมอจะผ่าหน้าท้องเล็กน้อย เพื่อตัดเอารังไข่ออกมาทางหน้าท้องหรือช่องคลอด
  • การผ่าตัดทางช่องคลอด โดยปกติจะทำเมื่อต้องการตัดมดลูกออกด้วย โดยคุณหมอจะส่องกล้องและตัดส่วนที่เสียหายออกมาทางช่องคลอด ซึ่งการผ่าตัดแบบนี้อาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อน้อย และอาจใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน
  • การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง คุณหมอจะตัดช่องท้องขนาดใหญ่เพื่อเอารังไข่ออก โดยการผ่าตัดแบบนี้อาจมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ รวมทั้งอาจใช้ระยเวลานานในการพักฟื้น
  • การผ่าตัดรังไข่โดยใช้หุ่นยนต์ช่วย คุณหมอจะผ่าตัดเล็ก ๆ หลายตำแหน่งเพื่อใส่กล้องของหุ่นยนต์และเครื่องมือพิเศษ จากนั้นจะทำการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อนำรังไข่ออก

ความเสี่ยงของการตัดมดลูกและรังไข่ 2 ข้าง

การตัดมดลูกและรังไข่ 2 ข้าง ในบางกรณีอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งคุณหมอจะอธิบายถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นก่อนทำการผ่าตัด ดังนี้

  • เลือดออกมาก หากมีเลือดออกมากเกินไปขณะผ่าตัด คุณหมออาจต้องทำการถ่ายเลือดออก
  • การติดเชื้อ อาจเกิดขึ้น 1 วันหลังผ่าตัด หรือผ่านไปแล้วหลายสัปดาห์ ซึ่งอาจทำให้มีไข้ ปวดบริเวณใกล้ ๆ แผลผ่าตัด
  • กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้หรืออวัยวะใกล้เคียงอื่น ๆ เสียหาย
  • บางคนอาจแพ้ยาชาอย่างรุนแรง
  • เนื้องอกแตกระหว่างผ่าตัดทำให้เซลล์อาจแพร่กระจายซึ่งก่อให้เกิดมะเร็ง
  • เซลล์รังไข่บางส่วนอาจยังคงหลงเหลืออาจทำให้มีอาการปวดอุ้งเชิงกราน
  • การไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เมื่อเอามดลูกและรังไข่ทั้ง 2 ข้างออก
  • การเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก่อนกำหนด เนื่องจากการเอารังไข่ออกจะหยุดการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่ผลิตในรังไข่ ซึ่งอาจนำไปสู่อาการวัยทอง เช่น ร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้ง อาการซึมเศร้าและวิตกกังวล โรคหัวใจ ปัญหาความจำ ความต้องการทางเพศลดลง โรคกระดูกพรุน

[embed-health-tool-ovulation]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Oophorectomy. https://www.webmd.com/ovarian-cancer/ovaries-removal-surgery. Accessed February 7, 2022

Oophorectomy (ovary removal surgery). https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/oophorectomy/about/pac-20385030#:~:text=An%20oophorectomy%20(oh-of-,the%20uterus%20in%20your%20pelvis. Accessed February 7, 2022

Hysterectomy. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/hysterectomy. Accessed February 7, 2022

Overview-Hysterectomy. https://www.nhs.uk/conditions/hysterectomy/. Accessed February 7, 2022

Oophorectomy. https://www.uofmhealth.org/health-library/tv1854spec. Accessed February 7, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

16/04/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยายุติการตั้งครรภ์ ซื้อที่ไหน ซื้อใช้เองอันตรายไหม

ตั้งครรภ์ แฝด วิธีดูแลตัวเอง และภาวะแทรกซ้อนที่ควรรู้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 16/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา