backup og meta

วิ่งขึ้นลงบันได เทรนการวิ่งแบบใหม่ที่ช่วยเพิ่มความเร็วและพลังในการวิ่ง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 01/07/2020

    วิ่งขึ้นลงบันได เทรนการวิ่งแบบใหม่ที่ช่วยเพิ่มความเร็วและพลังในการวิ่ง

    การ วิ่งขึ้นลงบันได เป็นรูปแบบการออกกำลังกายที่สามารถทำได้ง่าย แถมส่งผลดีต่อสุขภาพมากมาย นอกจากนี้การวิ่งขึ้นลงบันได ยังเป็นรูปแบบการออกกำลังกายที่ช่วยสร้างความคล่องตัวให้กับเรา นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความเร็วอีกด้วย วันนี้ Hello คุณหมอ มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ การวิ่งขึ้นลงบันได มาฝากกันค่ะ

    วิ่งขึ้นลงบันได (Stair Running) คืออะไร

    การวิ่งขึ้นลงบันไดเป็นรูปแบบการวิ่งรูปแบบหนึ่ง ที่เปลี่ยนจากการวิ่งพื้นราบหรือการวิ่งที่ลู่วิ่งมาเป็นการวิ่งขึ้นลงบันไดแทน ซึ่งการวิ่งขึ้นลงบันไดนั้นนอกจากความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาแล้ว ยังช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้ผู้วิ่งได้อีกด้วย แถมยังช่วยให้ร่างกายเผาผลาญไขมันได้ดีกว่าการวิ่งรูปแบบธรรมดาอีกด้วย

    ซึ่งการวิ่งรูปแบบนี้สามารถทำได้ง่าย ๆ แค่มองหาสถานที่ ที่มีบันได ไม่ว่าจะเป็นบันไดกลางแจ้ง บันไดอาคาร หากคุณไม่สามารถหาบันไดได้ การวิ่งขึ้นเนินก็เป็นอีกวิธีที่มีความคล้ายกับการวิ่งขึ้นลงบันได อาจจะง่ายกว่าเล็กน้อย แต่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายไม่น้อยไปกว่ากันเลยค่ะ

    ประโยชน์ของการ วิ่งขึ้นลงบันได้

    หัวใจแข็งแรง

    การวิ่งขึ้นลงบันได เป็นรูปแบบการวิ่งที่ดีสำหรับการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด การวิ่งรูปแบบนี้จะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดและออกซิเจนดีขึ้น

    ขณะที่วิ่งขึ้นลงบันไดหัวใจจะเต้นเร็วขึ้น ทำให้หัวใจมีการปรับตัวให้เข้ากับการออกกำลังกายเช่นนี้ เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงร่างกายให้เร็วขึ้น หัวใจจึงมีการเริ่มขยายตัวมากขึ้น เมื่อหัวใจขยายได้มากเท่าไรก็จะยิ่งมีการสูบฉีดเลือดได้ดีมากขึ้นเท่านั้น การที่ร่างกายสูบฉีดเลือดได้มากขึ้นเท่าไรร่างกายก็จะได้รับออกซิเจนมากขึ้นและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้เร็วขึ้นเท่านั้น

    ช่วยเผาผลาญแคลอรี่

    การวิ่งขึ้นลงบันได เป็นการวิ่งที่มีแรงต้าน เพิ่มความหนืดในการวิ่ง ทำให้การวิ่งขึ้นลงบันไดเป็นรูปแบบการวิ่งที่ช่วยเผาผลาญแคลอรี่ได้มากกว่าการวิ่งรูปแบบปกติ

    เนื่องจากการวิ่งขึ้นลงบันไดเป็นรูปแบบการวิ่งที่มีความเข้มข้นมาก ๆ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายรูปแบบนี้ในทุก ๆ วัน แต่ควรทำไม่เกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์

    เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อน่อง

    การวิ่งขึ้นลงบันได เป็นรูปแบบการวิ่งที่อาจทำให้ร่างกายได้ใช้กล้ามเนื้อในส่วนที่ไม่ได้ใช้ การวิ่งขึ้นลงบันไดเป็นรูปแบบที่ช่วยเพิ่มความชันในการวิ่ง ทำให้มีการใช้กล้ามเนื้อในส่วนอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เมื่อมีการวิ่งรูปแบบนี้ ร่างกายก็จะมีการปรับตัวตามรูปแบบการใช้ชีวิตของเรา ทำให้กล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อขามีความแข็งแรง มั่นคงมากขึ้น

    ลู่วิ่งในฟิตเนสก็สามารถทำได้ เพียงเพิ่มค่าความชัน ก็จะทำทำให้รู้สึกเหมือนมีการวิ่งขึ้นเขา หรือวิ่งขึ้นบันได

    ประโยชน์สุขภาพอื่น ๆ

    การออกกำลังกายที่มีความเข้มข้นสูง อย่างการวิ่งขึ้นลงบันได เป็นรูปแบบการออกกำลังกายที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย การออกกำลังกายแบบนี้จะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จากการศึกษาการเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายนั้นช่วยลดการเกิดโรคต่างๆ อย่างโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ความเครียดหรือแม้กระทั่งภาวะซึมเศร้าได้

    มาเริ่มต้น วิ่งขึ้นลงบันได้ กันเถอะ

    หากยังไม่เคยออกกำลังกายด้วยการวิ่งขึ้นลงบันไดมาก่อน ควรมีการวางแผนที่ดีเพื่อไม่ให้ร่างกายบาดเจ็บ และได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ในช่วงแรกที่เริ่มวิ่งขึ้นลงบันไดควรเริ่มอย่างช้า ๆ และค่อย ๆ เพิ่มเวลาและความเข้มข้นในการวิ่งขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการวิ่งขึ้นลงบันไดนั้นอาจใช้กล้ามเนื้อส่วนที่คุณไม่เคยใช้มาก่อน

    ดังนั้นหากออกอย่างหนักเลยในครั้งแรกอาจทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อได้ ซึ่งวิธีการเหล่านี้อาจช่วยให้คุณออกกำลังกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    • อบอุ่นร่างกายก่อนการออกกำลังกายเสมอ โดยการยืดกล้ามเนื้อขา น่อง เป็นเวลา 5-10 นาทีเพื่อให้เลือดได้ไหลเวียนและช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อขา
    • ไม่วิ่งขึ้นลงบันไดเลยในครั้งแรก แต่ใช้วิธีการเดินขึ้นลงบันไดทีละขั้น ที่สำคัญขณะที่วิ่งควรมองไปข้างหน้าไม่ก้มลงมองที่เท้าของตนเอง
    • เมื่อผ่านไปได้ 3 สัปดาห์ก็ค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นวิ่ง หากต้องการเพิ่มความเข้มข้นในการออกกำลังกายสามารถวิ่งที่ละ 2 ขั้นได้
    • ควรวิ่งออกกำลังกาย 20-30 นาทีเพื่อให้การวิ่งมีประสิทธิภาพที่สำคัญไม่ควรวิ่งขึ้นลงบันไดในทุก ๆ วัน ควรวิ่งไม่เกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 01/07/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา