backup og meta

เซลล์เม็ดเลือดขาว คืออะไร มีหน้าที่สำคัญอย่างไร

เซลล์เม็ดเลือดขาว คืออะไร มีหน้าที่สำคัญอย่างไร

เซลล์เม็ดเลือดขาว เป็นเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกัน ที่ทำหน้าที่ต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส สารก่อภูมิแพ้ ที่อาจก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยและโรคร้ายแรง การดูแลให้เซลล์เม็ดเลือดขาวมีสุขภาพดี อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ ได้

เซลล์เม็ดเลือดขาว คืออะไร

เซลล์เม็ดเลือดขาว คือ เซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันที่ผลิตจากไขกระดูกซึ่งมีหลากหลายชนิดและสามารถพบได้ทั่วทั้งร่างกาย เซลล์เม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส รวมถึงสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการเกิดความเจ็บป่วยและโรคร้ายแรง เช่น โรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคโควิด-19 โดยในระหว่างกระบวนการขจัดสิ่งแปลกปลอมอาจทำให้มีอาการจาม อาการไอ หรือมีไข้ได้

หน้าที่ของเซลล์เม็ดเลือดขาว

หน้าที่ของเซลล์เม็ดเลือดขาว อาจแตกต่างกันออกไปตามชนิดของเซลล์เม็ดเลือดขาว ดังต่อไปนี้

  • นิวโทรฟิล (Neutrophil) เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีปริมาณมากที่สุด มีหน้าที่ตอบสนองต่อเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา โดยการดักจับเชื้อโรคโดยตรง
  • โมโนไซด์ (Monocyte) เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งมีประสิทธิภาพดักจับเชื้อโรคต่าง ๆ ได้สูงกว่านิวโทรฟิล ทำหน้าที่ทำลายเชื้อโรค โดยอาจเพิ่มปริมาณขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการติดเชื้อไวรัส เชื้อรา วัณโรคและโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิด
  • อีโอซิโนฟิล (Eosinophil) เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีปริมาณน้อยในกระแสเลือด มีหน้าที่ตอบสนองต่อเชื้อปรสิต และสิ่งแปลกปลอมที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้
  • เบโซฟิล (Basophil) เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีปริมาณน้อยที่สุดในกระแสเลือด มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เลือดแข็งตัว และอาจมีปริมาณเพิ่มขึ้นเมื่อเกิดอาการแพ้
  • บี-เซลล์ (B-cells) หรือ เรียกอีกอย่างได้ว่า บี-ลิมโฟไซต์ (B-lymphocyte) ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่คอยช่วยผลิตแอนติบอดีเพื่อตอบสนองเมื่อร่างกายติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อปรสิต และสิ่งแปลกปลอม
  • ที-เซลล์ (T-cells) เรียกอีกอย่างได้ว่าเรียกอีกอย่างได้ว่า ที-ลิมโฟไซต์ (T-lymphocyte) เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่จดจำสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ร่างกายสามารถรับมือได้เมื่อมีการติดเชื้อในครั้งถัดไป
  • เนเชอรัล คิลเลอร์ เซลล์ (Natural killer cells) เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่ช่วยป้องกันเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย รวมถึงเซลล์มะเร็งภายในร่างกาย

โรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาว

ปกติแล้วร่างกายมักมีเซลล์เม็ดเลือดขาวประมาณ 4,000-11,000 เซลล์/เลือด 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร แต่หากมีปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ต่ำกว่าหรือสูงกว่าเกณฑ์ อาจส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ดังนี้

  • ไข้หวัดธรรมดา เกิดจากการติดเชื้อไรโนไวรัส (Rhinovirus) ที่เข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูก ปาก ตา และสามารถแพร่กระจายผ่านละอองสารคัดหลั่งจากการไอ การจาม หรือการพูดคุยอย่างใกล้ชิดได้ โดยสังเกตได้จากอาการไอ ปวดศีรษะ เจ็บคอ และมีไข้สูงกว่า 38.5 เป็นเวลานานกว่า 3 วัน
  • ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) เข้าสู่ร่างกายผ่านทางเดินหายใจเหมือนกับไข้หวัดธรรมดา แต่อาจส่งผลให้มีอาการที่รุนแรงกว่า เช่น อาเจียน ท้องเสีย ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก และคัดจมูก นอกจากนี้ ควรพบคุณหมอทันทีหากรู้สึกเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก วิงเวียนศีรษะต่อเนื่อง ริมฝีปากซีดและชัก
  • โรคโลหิตจาง อาจมีสาเหตุมาจากไขกระดูกทำงานผิดปกติ ที่ส่งผลให้ผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดน้อยลง ซึ่งอาจส่งผลให้เลือดไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเซลล์ในร่างกายได้เพียงพอ อีกทั้งยังอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น โดยอาจสังเกตอาการได้จากมีเลือดออกตามเหงือกและไรฟัน ผื่นผิวหนัง หัวใจเต้นผิดปกติ เหนื่อยล้าง่าย มีไข้และปวดศีรษะ
  • โควิด-19 (Covid-19) เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา (SARS-CoV-2) ที่เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจผ่านสารคัดหลั่งที่มีเชื้อไวรัส ทำให้เกิดอาการคล้ายกับไข้หวัด แต่อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เหงื่อออกตอนกลางคืน ผื่นลมพิษ เจ็บหน้าอก หากไม่รับการรักษาอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของปอด ทำให้ระบบหายใจล้มเหลว นำไปสู่การเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวและระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
  • เอชไอวี/เอดส์ เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่แพร่กระจายผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การถ่ายเลือด และสารคัดหลั่งในช่องคลอด ซึ่งอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงเรื่อย ๆ หากไม่เข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว และอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อราในปอด วัณโรค การติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
  • โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดจากการกลายพันธุ์ของเซลล์เม็ดเลือดขาว ที่อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง โดยสังเกตได้จากอาการอ่อนเพลีย มีไข้ หนาวสั่น น้ำหนักลดลงกะทันหัน ปวดกระดูก เลือดออกง่าย และเหงื่อออกมากในช่วงเวลากลางคืน หากมีอาการเหล่านี้ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาในทันที

นอกจากนี้ ความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาวยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส หนองใน หรืออาจเกิดอาการแพ้ต่อสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ เช่น แพ้ฝุ่น แพ้น้ำหอม แพ้ขนสัตว์ หากมีข้อกังวลใจหรือไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยเมื่อสังเกตว่าตนเองมีอาการผิดปกติ

การดูแลสุขภาพของเซลล์เม็ดเลือดขาว

การดูแลสุขภาพของเซลล์เม็ดเลือดขาวเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน อาจทำได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการดูแลตัวเอง ดังต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยป้องกันเซลล์เสื่อมสภาพ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็งบางชนิด
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอในระดับปานกลาง เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน วิ่ง ว่ายน้ำ อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในการต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อช่วยให้ร่างกายผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวได้อย่างเต็มที่และสามารถต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา เชื้อปรสิต และสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • เลิกสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันลดลง หรือลดปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเจ็บป่วยได้ง่าย
  • ดูแลสุขอนามัยก่อนหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ เช่น สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งจากช่องคลอด องคชาต หรือทวารหนัก เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ
  • ฉีดวัคซีนตามกำหนดเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ และช่วยบรรเทาอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อ
  • โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงโรคอื่น ๆ อาจส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ดังนั้น จึงควรรับการรักษาและปฏิบัติตามแผนการรักษาที่คุณหมอกำหนด เพื่อช่วยฟื้นฟูให้ร่างกายแข็งแรง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เซลล์เม็ดเลือดขาวและระบบภูมิคุ้มกันสามารถช่วยต้านทานเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

White Blood Count (WBC). https://medlineplus.gov/lab-tests/white-blood-count-wbc/.Accessed October 12, 2022

Why Is My White Blood Cell Count Low?. https://www.webmd.com/cancer/white-blood-cell-count-low.Accessed October 12, 2022

What Are White Blood Cells? https://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?ContentID=35&ContentTypeID=160.Accessed October 12, 2022

common cold. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/common-cold/symptoms-causes/syc-20351605.Accessed October 12, 2022

Influenza. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/flu/symptoms-causes/syc-20351719.Accessed October 12, 2022

Aplastic anemia. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/aplastic-anemia/symptoms-causes/syc-20355015.Accessed October 12, 2022

Coronavirus disease (COVID-19). https://www.who.int/health-topics/coronavirus#tab=tab_1.Accessed October 12, 2022

HIV/AIDS. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hiv-aids/symptoms-causes/syc-20373524.Accessed October 12, 2022

Leukemia. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/leukemia/symptoms-causes/syc-20374373.Accessed October 12, 2022

Leukemia. https://www.webmd.com/cancer/lymphoma/understanding-leukemia-basics.Accessed October 12, 2022

Primary myelofibrosis. https://medlineplus.gov/genetics/condition/primary-myelofibrosis/.Accessed October 12, 2022

How to boost your immune system. https://www.health.harvard.edu/staying-healthy/how-to-boost-your-immune-system.Accessed October 12, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

12/10/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

มาทำความรู้จักกับ อาการลูคีเมีย หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว

เม็ดเลือดขาวต่ำ อาการ สาเหตุ การรักษา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 12/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา