backup og meta

วิธีนวดเต้าหลังคลอด เพื่อลดอาการคัดตึงเต้านม

วิธีนวดเต้าหลังคลอด เพื่อลดอาการคัดตึงเต้านม

เต้านมหลังคลอดจะประกอบไปด้วยของเหลว เลือด น้ำเหลือง และมีน้ำนมในปริมาณมากกว่าปกติเพื่อเป็นแหล่งอาหารหลักให้กับทารกแรกคลอด ในช่วงนี้คุณแม่อาจมีอาการคัดตึงเต้านม เต้านมขยาย บวม แดงได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยหลังคลอด การศึกษา วิธีนวดเต้าหลังคลอด ที่ถูกต้อง อาจช่วยให้คุณแม่สามารถบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับเต้านมที่เกิดขึ้น และช่วยให้อาการหายไปได้ในเวลาไม่นาน ทั้งนี้ คุณแม่หลังคลอดควรนวดเต้านมควบคู่ไปกับการให้นมลูกบ่อย ๆ เพื่อให้น้ำนมระบายออกจากเต้าได้อย่างสะดวก

[embed-health-tool-vaccination-tool]

อาการคัดตึงเต้านมหลังคลอด เกิดจากอะไร

ตั้งแต่ช่วงใกล้คลอด ฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) ในร่างกายคุณแม่จะกระตุ้นให้เลือดมาหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อเต้านมมากขึ้น จนทำให้มีเลือด น้ำนม และของเหลวอื่น ๆ สะสมอยู่ภายในเต้านม คุณแม่บางคนอาจสังเกตเห็นน้ำนมเหลือง (Colostrum) หรือน้ำนมในระยะแรกไหลซึมออกมาจากหัวนม และอาจรู้สึกถึงอาการคัดตึงเต้านมขึ้นมาบ้างแล้ว

ร่างกายคุณแม่จะเริ่มสร้างน้ำนมตั้งแต่ช่วง 2-5 วันแรกหลังคลอด ต่อมน้ำนมที่อยู่ในเต้านมจะผลิตน้ำนมจนเต็มเต้า เมื่อลูกดูดนมจากเต้า ฮอร์โมนออกซิโตซิน (Oxytocin) จะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อเต้านมคลายตัว ส่งผลให้น้ำนมไหลออกมาเรื่อย ๆ ยิ่งให้นมเยอะและบ่อยเท่าไหร่ ร่างกายก็จะยิ่งผลิตน้ำนมออกมามากเท่านั้น นั่นอาจทำให้หน้าอกของคุณแม่แข็งและบวม ขยายใหญ่ขึ้น มีอาการคัดตึง และปวดเต้านมได้ตั้งแต่ระดับเบาจนไปถึงรุนแรง และอาจทำให้มีไข้ร่วมด้วย แต่ถึงอย่างนั้น คุณแม่ก็ควรให้นมลูกบ่อย ๆ ทุก 2-4 ชั่วโมง หากลูกหลับก็ควรปลุกให้ลูกกินนมตามเวลา เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารเพียงพอ และทำให้ขับน้ำนมออกจากเต้าได้ไวขึ้น เมื่อน้ำนมระบายออกจากเต้าได้คล่องขึ้น อาการอาจบรรเทาลงภายใน 12-48 ชั่วโมง

นวดเต้าหลังคลอด ประโยชน์อย่างไร

การนวดเต้าหลังคลอดอาจช่วยบรรเทาอาการไม่พึงประสงค์จากการคัดตึงของเต้านม ทั้งยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตบริเวณเต้านม ช่วยลดฮอร์โมนเครียด ช่วยให้น้ำนมไหลออกจากเต้าได้สะดวก ส่งผลให้ผลิตน้ำนมมากขึ้น ทั้งยังอาจลดการเกิดไวท์ดอท (White dot) หรือจุดขาวบนหัวนม รวมไปถึงลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะท่อน้ำนมอุดตัน (Blocked duct) ที่เกิดจากน้ำนมไม่สามารถระบายออกมาจากเต้านมได้ตามปกติ จนมีน้ำนมคั่งค้างอยู่ในเต้านม และเกิดก้อนแข็งเป็นไต หากปล่อยทิ้งไว้อาจนำไปสู่ภาวะเต้านมอักเสบ (Mastitis) ได้

วิธีนวดเต้าหลังคลอด

วิธีนวดเต้าหลังคลอด อาจทำได้ดังนี้

  1. วางมือบริเวณกระดูกไหปลาร้า จากนั้นลากไล่ตั้งแต่คอไปจนถึงหัวไหล่ ให้กระดูกไหปลาร้าอยู่ระหว่างนิ้วกลางและนิ้วนาง โดยลงน้ำหนักพอประมาณ ให้รู้สึกถึงแรงกด ทำซ้ำประมาณ 5-10 ครั้ง
  2. วางมือบริเวณกระดูกไหปลาร้า แล้วค่อย ๆ นวดวนตั้งแต่คอไปจนถึงหัวไหล่ ทำซ้ำประมาณ 5-10 ครั้ง
  3. ยกมือขวาพาดไว้หลังศีรษะ แล้วใช้มือซ้ายนวดวนบริเวณเหนือเต้านมขวา ประมาณ 5-10 ครั้ง
  4. ใช้มือขวาประคองใต้ราวนมขวา จากนั้นใช้มือซ้ายค่อย ๆ นวดกดเต้านมขวาเบา ๆ ประมาณ 5-10 ครั้ง
  5. สลับไปนวดเต้านมซ้ายตามขั้นตอนที่ 3-4
  6. เมื่อนวดเต้านมทั้ง 2 ข้างเสร็จแล้ว ให้ยืนเอนตัวไปด้านหน้าในลักษณะโก้งโค้ง ใช้มือประคองเต้านมข้างหนึ่งทั้งด้านบนและด้านล่าง แล้วนวดเต้านม ประมาณ 5-10 ครั้ง
  7. ใช้มือข้างหนึ่งนวดวนเต้านมขึ้นไปทางรักแร้ ประมาณ 5-10 ครั้ง และนวดวนรอบฐานหน้าอก
  8. ทำข้อ 6-7 กับซ้ำเต้านมอีกข้างหนึ่ง
  9. ปล่อยมือจากเต้านม ค่อย ๆ ยืดตัวขึ้นจากท่าโก้งโค้งกลับไปเป็นท่ายืนตรงตามปกติ
  10. หมุนหัวไหล่ไปข้างหลัง 10 ครั้ง
  11. ประสานมือเหนือศีรษะ แล้วค่อย ๆ เอียงตัวไปด้านซ้ายและขวา
  12. ทำซ้ำตั้งแต่ข้อ 1 อีกครั้ง

การดูแลเต้าหลังคลอดด้วยวิธีอื่น ๆ

การดูแลเต้าหลังคลอดด้วยวิธีอื่น ๆ อาจทำได้ดังนี้

  • พยายามให้นมบ่อย ๆ อย่างน้อย 8-12 ครั้ง/วัน หรือทุก ๆ 2-4 ชั่วโมง และควรให้นมทุกครั้งที่ทารกมีอาการงอแงหรือร้องขอกินนม เพื่อให้ทารกได้รับสารอาหารเพียงพอและช่วยให้ระบายน้ำนมออกจากเต้าได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งการให้นมบ่อย ๆ ยังช่วยกระตุ้นให้ต่อมน้ำนมผลิตน้ำนมมากขึ้นด้วย
  • ในช่วง 2-5 วันแรกหลังคลอด ร่างกายอาจผลิตน้ำนมเยอะจนทำให้หน้าอกคัดตึง ให้คุณแม่ใช้ผ้าขนหนูหรือผ้าสะอาดพันรอบหน้าอกเพื่อหยุดการผลิตน้ำนม และหลีกเลี่ยงการสัมผัสหัวนมเนื่องจากอาจไปกระตุ้นให้มีการผลิตน้ำนมเพิ่มขึ้นได้
  • ประคบเต้านมด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นบิดหมาดหรืออาบน้ำอุ่นก่อนให้ทารกกินนมหรือปั๊มนม อาจช่วยให้คุณแม่รู้สึกสบายตัวและกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตบริเวณเต้านม ทำให้เต้านมคัดตึงน้อยลงได้
  • หากเต้านมอักเสบ ให้ประคบเย็นบริเวณเต้านมด้วยถุงเจลแช่เย็น อาจช่วยบรรเทาอาการและทำให้เต้านมอ่อนนุ่มลงได้
  • หากรู้สึกว่าเต้านมยังคัดตึงหลังให้นมหรือปั๊มนมเสร็จ ควรบีบนวดเต้านมเพื่อให้น้ำนมที่อาจเหลืออยู่ไหลออกมาจนเกลี้ยงเต้า
  • หากมีอาการเจ็บเต้านมและหัวนมในช่วงให้นม ควรเลือกใส่ชุดชั้นในผ้าฝ้ายที่ระบายอากาศได้สะดวก ไม่ระคายเคือง และอาจใช้แผ่นซับน้ำนมรองไว้เพื่อป้องกันน้ำนมไหลซึมเลอะเสื้อชั้นใน และควรเปลี่ยนแผ่นซับน้ำนมทุกครั้งที่ป้อนนม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Breastfeeding Support for Mothers Facing Breast Fullness and Engorgement. https://www.uhhospitals.org/services/obgyn-womens-health/patient-resources/pregnancy-resources/Breastfeeding-Guide/breastfeeding-breast-fullness-and-engorgement. Accessed December 28, 2022

Breast Self-Massage for Lactating Mothers. https://www.med.umich.edu/1libr/Gyn/Lactation/BreastMassage.pdf. Accessed December 28, 2022

Benefits of Postpartum Massage. https://www.webmd.com/baby/benefits-postpartum-massage. Accessed December 28, 2022

Breast Care. https://www.urmc.rochester.edu/ob-gyn/obstetrics/after-delivery/breast-care.aspx. Accessed December 28, 2022

Breast engorgement. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/breast-engorgement. Accessed December 28, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

02/03/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีดูแลเต้านมของคุณแม่หลังคลอด เพื่อสุขภาพที่ดีของเต้านม

เต้านมคัด อาการที่คุณแม่หลังคลอดต้องเผชิญ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา