backup og meta

วิธีลงโทษลูกแฝด และการสร้างวินัยเพื่อปรับนิสัยลูก

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 25/09/2022

    วิธีลงโทษลูกแฝด และการสร้างวินัยเพื่อปรับนิสัยลูก

    ลูกแฝดมีการเจริญเติบโตด้วยกันมาตั้งแต่ในครรภ์ และอยู่ใกล้ชิดกันแทบจะตลอดเวลา จนอาจทำให้เกิดความขัดแย้ง ทะเลาะกัน หรือแย่งของเล่นกันอยู่เรื่อย ๆ พ่อแม่จึงควรมีวิธีอบรมสั่งสอนและ วิธีลงโทษลูกแฝด หรือว่ากล่าวตักเตือน เพื่อให้ลูกได้รู้จักเรียนรู้ถึงสิ่งที่ผิดและสิ่งที่ถูก และวิธีแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ การลงโทษลูกแฝดยังอาจเป็นวิธีที่ช่วยฝึกทักษะให้ฝาแฝดได้รู้จักการประนีประนอม การพูดคุยและต่อรองกันด้วยเหตุผล เพื่อหยุดปัญหาการทะเลาะกัน รวมถึงยังอาจช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างฝาแฝดอีกด้วย

    ทำไมลูกแฝดถึงอาจทะเลาะกันบ่อยครั้ง

    ฝาแฝดอาจมีปัญหากันได้เหมือนกับความสัมพันธ์ของพี่น้องคู่อื่น ๆ แต่อาจมีปัญหากันบ่อยกว่าพี่น้องปกติ เนื่องจากฝาแฝดมีความใกล้ชิดกันมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จึงอาจเป็นการตอบสนองต่อการแข่งขันเพื่อแย่งชิงกันตั้งแต่กำเนิด โดยฝาแฝดแต่ละคนอาจแสดงพฤติกรรมในการทะเลาะที่แตกต่างกัน เช่น ตี โวยวาย หยิก ดึงผม ร้องไห้

    โดยจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Psychology of Rivalry เมื่อ พ.ศ. 2561 ศึกษาเกี่ยวกับการแข่งขันระหว่างฝาแฝดในวัยเด็ก พบว่า ฝาแฝดชอบความใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน เนื่องจากฝาแฝดอาจมีการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันตั้งแต่ในครรภ์จนถึงวัยชรา จึงส่งผลให้มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่น แต่ในทางกลับกัน ตั้งแต่ยังเป็นทารก ฝาแฝดอาจมีการแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงความรักหรือเรียกร้องสิ่งต่าง ๆ จากพ่อแม่ จึงอาจทำให้ฝาแฝดทะเลาะกัน ดังนั้น จึงอาจแยกประเด็นของการมีปัญหากันระหว่างฝาแฝดออกเป็น 2 ประเด็น คือ

  • การแข่งขันกันระหว่างฝาแฝด กับการแย่งชิงความรักและความสนใจจากพ่อแม่
  • การแข่งขันกันระหว่างฝาแฝด และการพึ่งพาอาศัยกันในความสัมพันธ์ของฝาแฝด
  • การทะเลาะกันของฝาแฝดเป็นเรื่องปกติและเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการ เมื่อฝาแฝดได้รับการอบรมสั่งสอนจนเกิดการเรียนรู้ รวมถึงได้ฝึกทักษะการพูดคุยและต่อรองด้วยเหตุผล อาจทำให้การทะเลาะหรือการแข่งขันกันค่อย ๆ ลดลง

    วิธีลงโทษลูกแฝด และการจัดการกับความขัดแย้ง

    พ่อแม่ควรเรียนรู้ถึงวิธีการรับมือและวิธีลงโทษลูกแฝด เมื่อเกิดการทะเลาะหรือมีความขัดแย้งกัน เพื่อหยุดปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ พ่อแม่ควรเรียนรู้ถึงวิธีการอบรมสั่งสอนลูกให้เรียนรู้และฝึกทักษะการควบคุมอารมณ์และการพูดคุยกันด้วยเหตุผล โดยอาจทำได้ดังนี้

  • พ่อแม่ควรควบคุมอารมณ์ของตัวเอง การขึ้นเสียงหรือการขู่ไม่สามารถช่วยให้การทะเลาะกันระหว่างฝาแฝดดีขึ้น แต่อาจยิ่งเพิ่มความโกรธเคืองและความรุนแรงของการทะเลาะ นอกจากนี้ ฝาแฝดอาจเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่ ดังนั้น พ่อแม่จึงควรควบคุมอารมณ์ของตัวเองก่อนและปลอบโยนฝาแฝดให้อารมณ์เย็นลง ก่อนรับฟังปัญหา และสั่งสอนลูกด้วยเหตุผล
  • รับฟังเหตุผล พูดคุยและรับฟังเหตุผลของทั้ง 2 ฝ่าย โดยเปิดโอกาสให้แต่ละคนได้อธิบายเหตุผลของตัวเอง จากนั้น จึงจะตัดสินด้วยเหตุและผลอย่างยุติธรรม
  • สั่งสอนด้วยเหตุผล บางครั้งฝาแฝดอาจไม่ยอมรับในผลการตัดสินหรือบทลงโทษ พ่อแม่จึงต้องอธิบายถึงเหตุผลที่ต้องลงโทษและอบรมสั่งสอนให้ลูกได้เข้าใจถึงพฤติกรรมที่ไม่สมควรทำ เพื่อไม่ให้ฝาแฝดเกิดความโกรธเคืองกัน
  • สร้างกฎระเบียบภายในบ้านอย่างเท่าเทียม พ่อแม่ควรสร้างกฎระเบียบ และสิ่งที่ต้องปฏิบัติร่วมกันภายในบ้านอย่างเท่าเทียม เช่น งานบ้าน บทลงโทษ และพ่อแม่ต้องปฏิบัติตามกฎที่ตั้งไว้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกเข้าใจและไม่เกิดความสับสน หรือเกิดความขุ่นเคืองหากมีความไม่เท่าเทียมกับแฝดอีกคน
  • ให้คำเตือน ฝาแฝดส่วนใหญ่เมื่อเล่นด้วยกันมักเกิดความขัดแย้งบ่อยครั้ง พ่อแม่อาจให้คำเตือนกับลูกว่า หากทะเลาะหรือแย่งของเล่นกันจะมีบทลงโทษอย่างไร เพื่อช่วยลดพฤติกรรมความขัดแย้ง
  • แยกฝาแฝดออกจากกัน การจับฝาแฝดแยกออกจากกันในช่วงเวลาหนึ่ง อาจช่วยให้ลูกรู้สึกคิดถึงกันมากขึ้นเมื่ออยู่ห่างกัน และอาจช่วยลดการทะเลาะกันได้
  • ให้ความสนใจกับฝาแฝดเป็นรายบุคคล บางครั้งพ่อแม่อาจไม่สามารถใส่ใจหรือมีเวลาให้กับฝาแฝดพร้อมกันทั้ง 2 คนได้ ดังนั้น การให้ความสนใจกับฝาแฝดทีละคน อาจช่วยให้ลูกรู้สึกได้รับความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่มากขึ้น ซึ่งอาจช่วยลดความรู้สึกอิจฉาภายในใจของลูกได้
  • ฝึกการเจรจาต่อรอง เป็นการฝึกทักษะการพูดคุย การประนีประนอม และการต่อรองด้วยเหตุผล เช่น การฝึกให้ลูกผลัดกันเล่น การฝึกให้ฝ่ายหนึ่งเลือกว่าจะเล่นเกมไหนก่อนแต่ก็ต้องยอมเล่นเกมต่อไปที่ฝาแฝดอีกคนเลือกด้วย
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 25/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา