อาการโคลิค คืออาการที่ทารกร้องไห้โดยไม่ทราบสาเหตุและร้องไห้บ่อยโดยเฉพาะในช่วงค่ำหรือกลางคืน อาจเกิดขึ้นในทารกแรกเกิดอายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป และจะค่อย ๆ ร้องไห้น้อยลงเมื่ออายุได้ 3-4 เดือน ปกติแล้วทารกมักจะร้องไห้เพื่อส่งสัญญาณบอกคุณพ่อคุณแม่เมื่อรู้สึกหิว ไม่สบายตัว แต่สำหรับอาการโคลิค ทารกจะร้องไห้มากกว่าปกติเป็นเวลานานวันละ 3 ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งอาจสร้างความเครียดและความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่
สาเหตุของอาการโคลิค
โคลิค เป็นอาการที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิดตั้งแต่ 3 สัปดาห์ถึง 3 เดือน โดยทารกมักจะร้องไห้เวลาซ้ำ ๆ เดิม ๆ และมักร้องนานได้ ถึง 100 วัน โดยสาเหตุการเกิดอาจเกิดจากหลาย ๆ ปัจจัย อาการโคลิคอาจเกิดขึ้นเมื่อทารกรู้สึกปวดท้อง จุกเสียด เนื่องจากในกระเพาะอาหารมีแก๊สมาก ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่ระบบย่อยอาหารของทารกยังทำงานไม่เต็มที่ อาการปวดท้อง และส่งสัญญาณบอกด้วยการร้องไห้เป็นเวลานาน ทำให้เกิดความวิตกกังวลกับคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้เลี้ยงดู
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าการที่ทารกร้องไห้อาจเป็นการแสดงความรู้สึกขณะปรับตัวต่อโลกภายนอก เนื่องจากหลังคลอด ทารกจะ เห็นแสงสว่าง วัตถุรอบตัว และได้ยินเสียงชัดขึ้นกว่าตอนอยู่ในท้อง ทำให้อาจไม่ชิน ควบคุมอารมณ์และปรับตัวยาก ดังนั้น จึงทำให้ทารกอาจร้องไห้ออกมา เมื่อทารกเติบโตขึ้นอาจทำให้อาการโคลิคค่อย ๆ บรรเทาลงจนหายได้เอง
อาการโคลิค มีอะไรบ้าง
คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตอาการโคลิคในเด็กทารกได้จากอาการต่อไปนี้
- ทารกร้องไห้โดยไม่ทราบสาเหตุ ร้องไห้หนัก ส่งเสียงกรีดร้องไม่เหมือนร้องไห้ปกติ
- ทารกร้องไห้บ่อย อาจเกิดขึ้นมากกว่า 3 วัน/สัปดาห์
- ทารกร้องไห้นานกว่า 3 ชั่วโมง/วัน มักเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดิม ๆ ทุกวัน หรือในช่วงเย็นและกลางคืน
- ผิวเปลี่ยนสี เช่น หน้าแดง ปากซีด
- ร่างกายทารกเกร็ง เช่น กำมือแน่น หน้าท้อง แขนขาเกร็ง ยกเข่าหรือขาขึ้นขณะร้องไห้
หากทารกมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบพาไปพบคุณหมอ
- มีไข้สูงกว่า 38 องศาขึ้นไป
- หายใจลำบาก
- อาเจียน แหวะนมเป็นปริมาณมาก
- ร้องไห้รุนแรงแบบกรีดร้อง
- ง่วงนอนมากกว่าปกติ ไม่มีความตื่นตัว
- กินนมน้อยกว่าปกติ
- ท้องร่วง มีมูกเลือดปนในอุจจาระ
วิธีดูแลทารกแรกเกิด เมื่อมีอาการโคลิค
วิธีดูแลทารกแรกเกิด เมื่อมีอาการโคลิค อาจทำได้ดังนี้
- ดูก่อนว่าลูก หิว หรือ มีอุจจาระ หรือปัสสาวะ หรือไม่
- อย่าปล่อยให้ทารกร้องนาน ต้องรีบเข้าไปดูแล
- อุ้มทารกหรือใช้รถเข็นเด็กพาทารกออกไปเดินเล่น
- ห่อตัวทารก เพื่อให้ทารกรู้สึกปลอดภัย
- ให้ทารกดูดจุกนมหลอก
- อาบน้ำอุ่นให้ทารก ตามความเหมาะสม
- ทำให้ทารกเรอด้วยการนวดหน้าท้อง หรืออุ้มทารกพาดบ่าและตบหลังเบา ๆ เพื่อไล่อากาศในช่องท้องออก
- ลดแสงไฟรอบห้องลง เนื่องจากแสงไฟอาจรบกวนสายตาทารก
- พูดคุยกับทารก ปลอบทารกขณะร้องไห้ หรืออาจร้องเพลงกล่อม
- ปลี่ยนอาหารให้ทารก เนื่องจากทารกบางคนอาจแพ้อาหารที่กำลังรับประทานส่งผลให้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องร่วง ผื่นขึ้น อาเจียน โดยคุณหมออาจแนะนำให้นมสูตรโมเลกุลเล็กย่อยง่ายให้แทนนมปกติ
- คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่รสไม่จัด ของหมักดอง อาหารที่อาจก่อให้เกิดภูมิแพ้ เช่น ไข่ ถั่ว ข้าวสาลี เพราะสารก่อภูมิแพ้อาจปะปนในน้ำนมส่งผลให้ทารกมีอาการแพ้ ท้องอืด ปวดท้อง
- ปรับตำแหน่งการนอนให้ทารก ควรให้ทารกนอนหงาย และหนุนศรีษะให้สูงเล็กน้อย เพื่อให้ทารกนอนท่าที่สบายขณะพักผ่อน ไม่ควรให้นอนคว่ำเพราะอาจทำให้ทารกหายใจลำบาก เสี่ยงเสียชีวิตกะทันหัน
[embed-health-tool-bmi]