โดยทั่วไป เด็กสามารถเริ่มกินอาหารแข็งหรืออาหารเสริมอื่น ๆ นอกเหนือจากนมแม่หรือนมผงได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรเลือก อาหารเด็ก6เดือน ที่เหมาะกับช่วงวัยและสุขภาพของเด็ก เช่น ผักและผลไม้ที่บดหรือปั่นละเอียด อาหารที่มีธาตุเหล็ก อาหารประเภทแป้ง อาหารที่มีโปรตีน ซึ่งนอกจากจะให้สารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย สมอง และระบบประสาทของเด็กแล้ว ยังช่วยฝึกพัฒนาการในการเคี้ยวและการกลืนอาหาร รวมถึงช่วยให้เด็กได้เรียนรู้เนื้อสัมผัสของอาหารด้วย
[embed-health-tool-vaccination-tool]
เด็กเริ่มกินอาหารแข็ง (Solid foods) ได้เมื่อไหร่
อาหารแข็ง คือ อาหารเสริมโภชนาการสำหรับทารกที่นอกเหนือไปจากน้ำนมแม่หรือนมผง โดยทั่วไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถให้เด็กเริ่มกินอาหารแข็งควบคู่ไปกับการให้กินนมแม่ได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป เพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น แร่ธาตุ วิตามิน ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่สมบูรณ์แข็งแรงตามวัย
ทั้งนี้ ควรเริ่มให้เด็กกินอาหารเนื้อนิ่ม รสชาติอ่อน เคี้ยวและกลืนได้ง่าย เพื่อป้องกันการสำลักอาหารหรืออาหารติดคอ โดยอาจให้เด็ก 6 เดือนกินอาหารแข็งวันละ 2 ครั้ง เพียงครั้งละ 2-3 ช้อนโต๊ะ/มื้อ เนื่องจากกระเพาะอาหารของเด็กวัยนี้ยังเล็ก จึงอาจยังรับอาหารได้น้อย และหากอิ่มเกินไปก็อาจทำให้กินนมแม่ได้น้อยลง
คุณพ่อคุณแม่สามารถป้อนอาหารเด็ก6เดือนด้วยช้อน หรือให้เด็กฝึกหยิบจับอาหารด้วยตัวเองก็ได้ ในระยะแรกเด็กอาจเลือกกินเนื่องจากไม่คุ้นเคยกับรูปร่าง เนื้อสัมผัส และรสชาติอาหาร คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรบังคับให้เด็กกินอาหารที่เด็กไม่อยากกินเพราะอาจทำให้กินยากกว่าเดิม ควรให้เด็กกลับไปกินนมแม่หรือนมขวดตามปกติ จากนั้นอาจลองเปลี่ยนอาหารไปเรื่อย ๆ เมื่อเด็กคุ้นเคยกับอาหารแข็งแล้วก็อาจกินอาหารแข็งได้มากขึ้น และเมื่อเวลาผ่านไป กระเพาะอาหารของเด็กจะโตขึ้นตามวัย คุณพ่อคุณแม่สามารถเพิ่มปริมาณอาหารในแต่ละมื้อให้กับเด็กได้
อาหารเด็ก6เดือน ที่เหมาะสมตามวัย
อาหารที่เหมาะสมกับเด็กอายุ 6 เดือน อาจมีดังนี้
- ผลไม้ เช่น กล้วย บลูเบอร์รี่ กีวี ส้ม แอปเปิล มะม่วง ลูกพีช สับปะรด มะละกอ มีวิตามินและแร่ธาตุที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน อีกทั้งผลไม้ส่วนใหญ่ยังมีน้ำเป็นส่วนประกอบ ช่วยให้เด็กไม่ขาดน้ำ นอกจากนี้ การกินผลไม้อย่างหลากหลายยังช่วยให้เด็กได้เรียนรู้รสชาติและเนื้อสัมผัสที่แปลกใหม่ด้วย คุณพ่อคุณแม่ควรล้างผลไม้ให้สะอาดและนำเมล็ดออกก่อนให้เด็กกิน สำหรับผลไม้เนื้ออ่อนควรสับ บด หรือปั่นให้ละเอียด สำหรับผลไม้เนื้อแข็ง ควรปอกเปลือกออกก่อนแล้วนำไปปรุงให้นิ่มเพื่อให้เคี้ยวง่าย
- ผัก เช่น บรอกโคลี ถั่ว ปวยเล้ง กะหล่ำปลี ผักโขม แครอท ผักเคล ผักคะน้า ตำลึง มีสารอาหารอย่างแร่ธาตุ วิตามิน และมีสารพฤกษเคมีที่ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ทั้งยังมีใยอาหารที่ช่วยในการขับถ่าย คุณพ่อคุณแม่ควรล้างผักให้สะอาดและปรุงให้สุกเพื่อให้ผักนิ่มลง จากนั้นจึงบดหรือปั่นให้เคี้ยวง่าย หรืออาจหั่นผักเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือฟิงเกอร์ฟูด (Finger food) เพื่อให้เด็กหยิบเข้าปากเองได้ การให้เด็กกินผักจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ความหลากหลายของรสชาติอาหาร เมื่อเคยชินกับการกินผักก็ช่วยเสริมสร้างนิสัยการไม่เลือกกินผักได้
- อาหารประเภทแป้ง เช่น ข้าวโพด พาสต้า ข้าวฟ่าง ข้าวโอ๊ต มันเทศ มันฝรั่ง ข้าว โดยอาจนำไปต้มหรือนึ่งแล้วบดหรือปั่นให้เนื้อละเอียดและเคี้ยวได้ง่าย และอาจผสมกับนมแม่ นมผง หรือนมพาสเจอร์ไรส์ก็ได้เช่นกัน
- อาหารประเภทโปรตีน เช่น หมู ไก่ ปลา ไข่ พืชตระกูลถั่ว เต้าหู้ ช่วยเสริมสร้างโปรตีนที่จำเป็นต้องใช้ในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ อาหารโปรตีนสูงยังมีสารอาหารอื่น ๆ เช่น เหล็ก สังกะสี ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและช่วยให้เด็กมีพัฒนาการสมบูรณ์ตามวัย
- นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว ที่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ เช่น โยเกิร์ตไขมันเต็มไม่มีน้ำตาล ชีส เป็นแหล่งแคลเซียมชั้นดี ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถนำนมวัวหรือนมแพะมาใช้ประกอบอาหารให้กับเด็กได้ด้วย แต่ควรรอจนเด็กอายุได้ 1 ปี จึงให้กินนมเป็นเครื่องดื่ม เพราะหากให้เด็กอายุ 6 เดือนกินนมอื่น ๆ อาจทำให้กินนมแม่ได้น้อยลง
- อาหารที่มีธาตุเหล็ก ร่างกายของเด็กจะใช้ธาตุเหล็กสำรองจนหมดในช่วงอายุประมาณ 6 เดือน จึงควรให้เด็กกินอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น ตับ ไข่แดง เนื้อสัตว์ เพื่อช่วยให้ร่างกายมีธาตุเหล็กพอใช้ในกระบวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง
อาหารเด็ก6เดือน ที่ควรหลีกเลี่ยง
อาหารเด็ก6เดือน ที่ควรหลีกเลี่ยง อาจมีดังนี้
- อาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูปอย่างเบคอน แฮม แครกเกอร์ ไส้กรอก และไม่ควรเติมเกลือเพื่อปรุงรสในอาหารเด็ก6เดือน เนื่องจากอาจทำให้ไตของเด็กทำงานหนักมากเกินไป
- อาหารที่มีน้ำตาล เช่น น้ำผลไม้เติมน้ำตาล น้ำอัดลม มิลค์เชค เป็นอาหารที่ไม่จำเป็นสำหรับเด็กที่ยังเล็ก อีกทั้งน้ำตาลยังอาจทำให้เด็กฟันผุได้ด้วย
- น้ำผึ้ง เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปีไม่ควรกินน้ำผึ้งเพราะอาจปนเปื้อนเชื้อที่ทำให้เกิดโรคโบทูลิซึมในทารก (Botulism) ส่งผลให้มีการสร้างสารพิษในลำไส้ใหญ่ของเด็ก และอาจทำให้ระบบประสาทเสียหาย เสี่ยงเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้
- อาหารที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ เช่น น้ำผลไม้ นม โยเกิร์ต หรือชีส บางชนิด อาจมีเชื้อโรคปนเปื้อน และทำให้เด็กที่ระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่ป่วยหรือเสียชีวิตได้
- อาหารที่เสี่ยงติดคอ เช่น ถั่ว เยลลี่ ลูกอม มาร์ชเมลโล หมากฝรั่ง รวมถึงอาหารชิ้นใหญ่ที่ยังไม่หั่นอย่างไส้กรอก องุ่น ข้าวโพดคั่ว แอปเปิล
- อาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก หรืออาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เช่น ไข่ดิบ ไข่ลวก มายองเนสโฮมเมด ของหวานที่มีไข่ดิบ หอยดิบ อาหารทะเลดอง อาจทำให้เด็กท้องเสียได้
- อาหารทะเลบางชนิด เช่น ปลาไทล์ฟิช ปลามาร์ลิน ปลากระโทงดาบ ปลาอินทรี ฉลาม เพราะมีสารปรอทปนเปื้อนสูง อาจกระทบต่อพัฒนาการทางระบบประสาทของเด็กได้
เคล็ดลับในการเตรียม อาหารเด็ก6เดือน
การเตรียมอาหารเด็ก6เดือน อาจทำได้ดังนี้
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนเตรียมอาหารให้กับเด็ก และควรล้างวัตถุดิบ เช่น ผัก ผลไม้ ให้สะอาดด้วยการแช่ไว้ในน้ำผสมเกลือป่นอย่างน้อย 10 นาทีก่อนล้างด้วยน้ำเปล่าให้สะอาด หรือล้างด้วยการเปิดให้น้ำสะอาดไหลผ่านประมาณ 5 นาที และควรเลือกซื้อวัตถุดิบจากแหล่งที่มั่นใจว่าสะอาดและถูกหลักอนามัย ไม่มีสารปนเปื้อน
- เริ่มให้เด็กกินอาหารในปริมาณน้อย ๆ ก่อน แล้วค่อยเพิ่มปริมาณตามอายุที่มากขึ้นของเด็ก หากเด็กปฏิเสธอาหารบางอย่าง ควรรอสัก 2-3 วันค่อยให้เด็กลองกินอาหารชนิดนั้นอีกครั้ง
- หั่นอาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ ปรุงให้สุก แล้วบดหรือหั่นเพื่อให้เด็กเคี้ยวได้สะดวกและไม่ทำให้เจ็บเหงือก
- ไม่ปรุงอาหารเด็ก6เดือนให้มีรสจัด เช่น หวานจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด
- ประกอบอาหารด้วยวิธีที่สามารถคงคุณค่าทางโภชนาการเอาไว้ได้มากที่สุด เช่น การนึ่งหรืออบผักซึ่งจะทำลายสารอาหารในผักน้อยกว่าการต้ม
- ในช่วงแรกที่เริ่มให้เด็กกินอาหารแข็ง อาจเลือกเป็นอาหารแบบกึ่งเหลวกึ่งแข็ง เช่น แอปเปิลบดผสมกับนมแม่เล็กน้อย เต้าหู้ไข่ในน้ำแกงจืด เมื่อเด็กเริ่มคุ้นชินกับอาหารแข็งแล้วจึงผสมน้ำหรือของเหลวให้น้อยลง และอาจเพิ่มเนื้อสัมผัสอื่น ๆ เข้าไปในอาหารแต่ละมื้อ เช่น เติมซีเรียลข้าวโอ๊ต เพื่อให้เด็กยอมรับรสชาติและเนื้อสัมผัสใหม่ ๆ และยอมกินอาหารหลากหลายขึ้น