backup og meta

อาหารเด็ก7เดือน ที่ช่วยเสริมสุขภาพและพัฒนาการ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 09/06/2023

    อาหารเด็ก7เดือน ที่ช่วยเสริมสุขภาพและพัฒนาการ

    นมแม่เป็นแหล่งพลังงานและสารอาหารหลักที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเด็ก 7 เดือน อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ อาหารเด็ก7เดือน ที่เป็นอาหารประเภทอื่นเสริมด้วยได้ โดยอาจให้เด็ก 7 เดือนกินธัญพืช พืชหัว ผักใบเขียว ผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากนมวัว ไข่สุก เนื้อปลา ที่บดหรือปั่นจนละเอียดและเคี้ยวง่าย ในปริมาณน้อย วันละ 2-3 ครั้ง ซึ่งอาจเสริมสร้างโภชนาการและช่วยให้ทารกมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย

    เด็ก7เดือน กินอาหารแข็งได้หรือยัง

    อาหารแข็ง (Solid Food) เป็นอาหารที่ผ่านการบดจนละเอียดเพื่อช่วยให้ย่อยได้ง่าย เหมาะกับระบบย่อยอาหารของเด็กที่ยังทำงานได้ไม่เต็มที่ โดยทั่วไปจะเป็นผักและผลไม้บด เนื้อสัตว์บด ธัญพืชบด เป็นต้น บางครั้งอาจผสมกับนมแม่เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการและช่วยให้เด็กกินได้สะดวกขึ้น

    คุณพ่อคุณแม่สามารถให้เด็กเริ่มกินอาหารแข็งได้เมื่อเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายของเด็กเริ่มต้องการพลังงานมากขึ้นและจำเป็นต้องได้รับสารอาหารอื่น ๆ นอกเหนือไปจากนมแม่ในการเจริญเติบโต ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรให้กินนมแม่ในปริมาณเท่าเดิมควบคู่ไปด้วย ไม่ควรหยุดให้นมแม่โดยทันที เนื่องจากนมแม่ยังคงเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ มีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

    ทั้งนี้ เด็ก 7 เดือน ถือเป็นวัยที่กินอาหารแข็งได้แล้ว และหากให้เด็กเริ่มกินอาหารแข็งตั้งแต่อายุ 6 เดือน ในตอนนี้เด็กก็จะคุ้นเคยกับการกินอาหารแข็งบ้างแล้ว แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่บดหรือปั่นอาหารให้ละเอียด เด็กจะได้กินง่ายขึ้นและช่วยให้ย่อยง่ายด้วย โดยควรให้เด็ก 7 เดือนกินอาหารแข็งครั้งละครึ่งถ้วย วันละ 2-3 ครั้ง ในมื้อเช้า มื้อเที่ยง และมื้อเย็น และสามารถเพิ่มปริมาณอาหารในแต่ละมื้อได้ตามวัยของเด็ก

    อาหารเด็ก7เดือน มีอะไรบ้าง

    อาหารเด็ก7เดือน ที่เหมาะสมตามช่วงวัย อาจมีดังนี้

    ผัก

    คุณพ่อคุณแม่ควรล้างผักให้สะอาดก่อนนำมาประกอบอาหารทุกครั้ง จากนั้นให้ตัดก้านหรือส่วนที่แข็งและเคี้ยวยากออกก่อนจะต้มหรือนึ่งผักให้นิ่มลง แล้วจึงนำมาบดหรือปั่นให้ละเอียด ไม่ควรให้เหลือชิ้นส่วนแข็ง ๆ เด็กจะได้เคี้ยวและกลืนได้ง่าย โดยอาจเลือกผักที่มีเนื้อสัมผัสและรสชาติที่หลากหลาย เพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารครบถ้วน อีกทั้ง การให้เด็กลองกินผักตั้งแต่เนิ่น ๆ ยังอาจช่วยลดปัญหาเด็กไม่กินผักเมื่อโตขึ้นได้ด้วย โดยแนะนำเริ่มด้วยผักสีเขียวก่อนผักสีส้มแดง

    ตัวอย่างผักที่เหมาะสำหรับเด็ก 7 เดือน

    • บรอกโคลี
    • ปวยเล้ง
    • อะโวคาโด
    • แครอท
    • ผักเคล
    • ถั่วเขียว
    • หน่อไม้ฝรั่ง

    ผลไม้

    ควรเลือกผลไม้ที่ไม่สุกงอมหรือหวานจัด และล้างผลไม้ให้สะอาดเพื่อลดการปนเปื้อนสารเคมี สำหรับผลไม้เนื้อแข็งให้ปอกเปลือกออกให้หมด หากผลไม้ชนิดใดมีเมล็ดให้แกะเอาเมล็ดออกให้หมดก่อนนำมาบดหรือปั่น เพื่อให้ได้เนื้อสัมผัสที่อ่อนนุ่มและเคี้ยวง่าย

    ตัวอย่างผลไม้ที่เหมาะเป็น อาหารเด็ก7เดือน

    • กล้วย
    • บลูเบอร์รี
    • กีวี
    • ส้ม
    • แอปเปิล
    • มะม่วง
    • ลูกแพร์
    • ลูกพลัม
    • ลูกพีช
    • เมล่อน
    • สับปะรด
    • มะละกอสุก
    • องุ่น

    อาหารประเภทแป้ง (Starchy food)

    ให้บดหรือปั่นให้ละเอียด และอาจผสมนมแม่หรือนมพาสเจอร์ไรส์ลงไปเพื่อให้เคี้ยวและกลืนได้ง่ายขึ้น

    ตัวอย่างอาหารประเภทแป้งสำหรับเด็ก 7 เดือน

    • มันฝรั่ง
    • มันหวาน
    • ข้าว
    • พาสต้า
    • ข้าวโอ๊ต
    • โจ๊ก
    • ข้าวโพด
    • ขนมปัง
    • ควินัว

    อาหารประเภทโปรตีน

    ให้นำไขมัน กระดูก ก้าง และหนัง ออกก่อนนำมาต้มหรือนึ่งจนสุกและเนื้อเปื่อยนุ่ม จากนั้นจึงค่อยบด ปั่น หรือสับให้ละเอียดก่อนให้เด็กกิน ทั้งนี้ เด็กควรได้รับอาหารที่มีโปรตีนเป็นประจำ เพราะมีเหล็กและสังกะสีที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเด็ก กรณีไข่ไก่หรือไข่เป็ด แนะนำให้ต้มจนสุกก่อน และเริ่มด้วยไข่แดงก่อนเสมอ

    ตัวอย่างอาหารประเภทโปรตีนสำหรับเด็ก 7 เดือน

    • เนื้อสัตว์ปีก เช่น ไก่ เป็ด
    • เนื้อแดง เช่น หมู วัว แกะ
    • พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วชิกพี
    • ไข่เป็ด ไข่ไก่
    • ปลา
    • เต้าหู้

    ผลิตภัณฑ์จากนมวัว

    เป็นอาหารที่มีโปรตีนและแคลเซียมสูง ทำให้ทารกรู้สึกอิ่มได้นาน ช่วยในการดูดซึมวิตามิน และช่วยในการพัฒนาสมอง

    ตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากนมวัวที่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ เหมาะเป็นอาหารด็ก7เดือน

    • โยเกิร์ตไขมันเต็มส่วนไม่เติมน้ำตาล
    • ชีสโซเดียมต่ำ

    อาหารเด็ก7เดือน ที่ควรหลีกเลี่ยง

    อาหารเด็ก7เดือน ที่ควรหลีกเลี่ยง อาจมีดังนี้

    • อาหารและเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาล เช่น ขนมอบ คุกกี้ เค้ก พาย น้ำผลไม้กล่อง น้ำอัดลม
    • อาหารโซเดียมสูง เช่น แฮม ไส้กรอก ปลากระป๋อง หมูหยอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผลไม้กระป๋อง
    • น้ำผึ้ง ไม่ควรให้เด็กอายุน้อยกว่า 12 เดือนกินโดยเด็ดขาด เพราะอาจเสี่ยงติดเชื้อโรคโบทูลิซึมในทารก (Botulism) เป็นอันตรายได้
    • อาหารที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ เช่น น้ำผลไม้ นม โยเกิร์ต ชีส
    • อาหารที่อาจติดคอหรือทำให้สำลัก เช่น ถั่วเขียวและองุ่นไม่บด ฮอทด็อก แครอทดิบ ข้าวโพดคั่ว
    • นมวัวหรือนมถั่วเหลือง ไม่เหมาะสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 เดือน เพราะอาจทำให้เด็กกินนมแม่หรือนมผงสำหรับเด็กได้น้อยลง แต่หากจำเป็นแนะนำให้เริ่มนมถั่วเหลืองหลังอายุ 6 เดือน และเริ่มนมวัวได้ตามความจำเป็นหากนมแม่ไม่เพียงพอ

    เคล็ดลับการให้เด็ก 7 เดือนกินอาหารแข็ง

    • อาหารเด็ก7เดือน ไม่ควรเติมเครื่องปรุง เช่น น้ำตาล น้ำปลา ผงชูรส เพราะอาหารรสเค็มอาจทำให้ไตทำงานหนักเกินไป และน้ำตาลอาจทำให้ฟันผุได้ง่าย
    • ทารกอายุน้อยกว่า 1 ปี ไม่จำเป็นต้องกินของว่าง หากเด็กมีท่าทางงอแงเหมือนหิวระหว่างมื้อ ควรให้กินนมแม่หรือนมชงแทนการให้กินอาหารแข็ง
    • ควรให้เด็กกินอาหารพร้อมคุณพ่อคุณแม่ เด็กจะได้เรียนรู้การกินอาหารและพฤติกรรมต่าง ๆ จากการสังเกตและเลียนแบบคนใกล้ตัว
    • ควรให้เด็กกินอาหารหลากหลายและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพื่อให้เด็กได้รับพลังงานและสารอาหารเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ในช่วงแรกอาจให้กินอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลว และเมื่อเวลาผ่านไป เด็กสามารถเคี้ยวได้มากขึ้นแล้ว จึงเปลี่ยนเป็นอาหารที่สับหรือหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ
    • ในช่วงแรกเด็กอาจไม่ยอมกินอาหารแข็งที่ตัวเองไม่คุ้นเคย คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรบังคับให้เด็กกินอาหารชนิดนั้นทันที อาจรอสัก 2-3 วัน จึงค่อยให้เด็กลองกินอาหารนั้นใหม่อีกครั้ง หากเด็กยังไม่ยอมกินก็ค่อยพยายามใหม่ในครั้งต่อไป เมื่อเด็กเริ่มคุ้นเคยกับสี รสชาติ และเนื้อสัมผัสใหม่ ๆ ก็จะยอมกินในที่สุด
    • จัดเตรียมอาหารกินเล่นเป็นชิ้น ๆ หรือฟิงเกอร์ฟูดที่เด็กสามารถหยิบกินได้ง่าย เช่น กล้วยสุก ฟักทองสุก ขนมปังปิ้ง ชีสแผ่นบาง
    • หลีกเลี่ยงการให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 เดือนดื่มน้ำผลไม้กล่อง เพราะมักมีน้ำตาลสูง อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพฟันได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 09/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา