backup og meta

เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ มีประโยชน์ต่อลูกน้อยและคุณแม่อย่างไร

เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ มีประโยชน์ต่อลูกน้อยและคุณแม่อย่างไร

การ เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ ถือเป็นเรื่องที่เหล่าคุณแม่ควรจะทำเป็นอย่างมาก เนื่องจากในน้ำนมแม่นั้นมีสารอาหารที่เหมาะสมสำหรับทารก ทั้งยังเป็นอาหารที่เหมาะสมกับการย่อยของเด็กอีกด้วย นอกจากสารอาหารแล้ว ในน้ำนมแม่ยังมีประโยชน์อะไรต่อทารกอีกบ้าง ต้องติดตามกันใน Hello คุณหมอ

ประโยชน์ของการ เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่

จากการศึกษาพบว่า การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งของทารกและคุณแม่ด้วย ซึ่งเราจะมาดูประโยชน์ที่มีต่อทารกกันก่อน สำหรับประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ มีดังนี้

ให้คุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับทารก

หน่วยงานด้านสุขภาพส่วนใหญ่มักจะแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน จากนั้นจะแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี ในน้ำนมของแม่นั้นมีทุกสิ่งที่ทารกต้องการในข่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ทั้งยังมีสัดส่วนที่เหมาะสม องค์ประกอบในน้ำนมแม่ยังสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของทารกได้ โดยเฉพาะในช่วง 1 เดือนแรกของชีวิต

ในช่วงวันแรกหลังคลอด หน้าอกจะผลิตของเหลวสีเหลืองข้นออกมา ซึ่งเรียกว่า “น้ำนมเหลือง” ซึ่งมีโปรตีนที่สูง น้ำตาลต่ำ และเต็มไปด้วยสารประกอบที่เป็นประโยชน์ต่อทารก

โคลอสตรัม (Colostrum) เป็นนมชนิดแรกที่เหมาะกับทารกแรกเกิด เพราะมันสามารถช่วยพัฒนาระบบย่อยอาหารของทารกแรกเกิด หลังจากนั้น 2-3 วันแรก หน้าอกจะเริ่มผลิตน้ำนมในปริมาณที่มากขึ้น สิ่งเดียวที่อาจขาดในน้ำนมแม่ก็คือ วิตามินดี นั่นเอง เพื่อชดเชยการขาดวิตามินดี ได้มีการแนะนำให้หยดวิตามินดีตั้งแต่อายุ 2-4 สัปดาห์

มีแอนติบอดีที่สำคัญ

น้ำนมแม่เต็มไปด้วยแอนติบอดีที่ช่วยให้ลูกน้อยต่อสู้กับไวรัสและแบคทีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในน้ำนมเหลืองซึ่งเป็นนมแรก โคลอสตรัมให้อิมมูโนโกลบูลินเอ (Immunoglobulin A หรือ IgA) ในปริมาณที่สูง เช่นเดียวกับแอนติบอดีอื่นๆ อีกหลากหลายชนิด

เมื่อแม่สัมผัสกับไวรัสหรือแบคทีเรีย ร่างกายก็จะเริ่มผลิตแอนติบอดี จากนั้นแอนติบอดีเหล่านี้จะหลั่งออกมาทางน้ำนมและส่งไปยังทารกระหว่างการให้นมนั่นเอง อิมมูโนโกลบูลินเอสามารถปกป้องทารกไม่ให้ป่วย โดยการสร้างชั้นป้องกันในจมูก คอ และระบบย่อยอาหารของทารก ด้วยเหตุนี้คุณแม่ที่ให้นมลูกที่เป็นไข้หวัด อาจให้แอนติบอดีแก่ทารก เพื่อช่วยต่อสู้กับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณแม่ป่วยก็จำเป็นจะต้องปฏิบัติตามสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด ล้างมือบ่อยๆ และพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกน้อยติดเชื้อ จากการศึกษาจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า ทารกที่ไม่ได้กินน้ำนมแม่ มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ เช่น ปอดบวม ท้องร่วง และการติดเชื้อ

ลดความเสี่ยงของโรค

การ เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ มีประโยชน์ต่อสุขภาพของทารกเป็นอย่างมาก การเลี้ยงลูกน้อยด้วยน้ำนมแม่ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยและโรคต่างๆ ของทารกได้ ซึ่งความเจ็บป่วยและโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับทารก มีดังนี้

  • การติดเชื้อในหูชั้นกลาง การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่อย่างเดียว 3 เดือนขึ้นไป อาจลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในหูชั้นกลางของทารกได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ไม่ถึง 3 เดือนขึ้นไป อาจจะช่วยลดความเสี่ยงได้ 23 เปอร์เซ็นต์
  • การติดเชื้อทางเดินหายใจ การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่อย่างเดียวเป็นเวลานานกว่า 4 เดือน ช่วยลดความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาโรคในโรงพยาบาลสำหรับการติดเชื้อเหล่านี้ได้ถึง 72 เปอร์เซ็นต์
  • โรคหวัดและการติดเชื้อ ทารกที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียวเป็นเวลา 6 เดือน อาจมีความเสี่ยงในการเป็นหวัดร้ายแรงและการติดเชื้อในหูหรือลำคอลดลงถึง 63 เปอร์เซ็นต์
  • การติดเชื้อในกระเพาะอาหาร การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความเชื่อมโยงกับการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อในลำไส้ลงถึง 64 เปอร์เซ็นต์ โดยจะสามารถส่งผลได้นานถึง 2 เดือน หลังจากที่หยุดให้นมบุตร
  • ความเสียหายของเนื้อเยื่อในลำไส้ การให้นมทารกที่คลอดก่อนกำหนดมีความเชื่อมโยงกับการลดความเสี่ยงของภาวะลำไส้เน่าในทารกแรกเกิด (Necrotizing Enterocolitis) ได้ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์
  • กลุ่มอาการเสียชีวิตของทารกอย่างกะทันหัน (SIDS) การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถลดความเสี่ยงได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ หลังจากที่หยุดให้น้ำนมแม่ 1 เดือนความเสี่ยงจะลดลง 36 เปอร์เซ็นต์ในปีแรก
  • โรคภูมิแพ้ การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่อย่างเดียวเป็นเวลาอย่างน้อย 3-4 เดือน สามารถลดความเสี่ยงของโรคหอบหืด โรคผิวหนัง โรคภูมิแพ้ และโรคเรื้อนกวาง ได้ 27-42 เปอร์เซ็นต์
  • โรคช่องท้อง ทารกที่กินน้ำนมแม่ในช่วงที่ได้รับกลูเตนครั้งแรก จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคแพ้กลูเตน (Coeliac Disease) ลดลง 52 เปอร์เซ็นต์
  • โรคลำไส้อักเสบ ทารกที่กินน้ำนมแม่อาจมีโอกาสเป็นโรคลำไส้อักเสบในวัยเด็กน้อยลงประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์
  • โรคเบาหวาน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 3 เดือน สามารถทำให้ความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 1 ลดลงมากขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ และโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ลดลงมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวในวัยเด็ก การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเวลา 6 เดือนหรือนานกว่านั้น สามารถลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในวัยเด็กได้ 15-20 เปอร์เซ็นต์

ส่งเสริมน้ำหนักที่ดีต่อสุขภาพ

การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่นั้น จะช่วยเพิ่มน้ำหนักที่ดีต่อสุขภาพและช่วยป้องกันโรคอ้วนในวัยเด็กได้ จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า อัตราการเกิดโรคอ้วนในทารกที่กินนมแม่นั้นลดลง 15-30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับทารกที่กินนมผง ทั้งนี้ เรื่องของระยะเวลาก็สำคัญเช่นกัน เนื่องจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในแต่ละเดือน จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนของเด็กในอนาคตได้ 4 เปอร์เซ็นต์

แน่นอนว่าการพัฒนาของแบคทีเรียในลำไส้ของเด็กแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน แต่ทารกที่ได้รับน้ำนมจากแม่จะมีแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการกักเก็บไขมันได้ ทารกที่กินนมแม่จะมีสารเลปติน (Leptin) ในระบบทางเดินอาหารมากกว่าทารกที่กินนมผสม โดยเลปตินนั้นเป็นฮอร์โมนหลักในการควบคุมความอยากอาหารและการกักเก็บไขมัน

ทารกที่กินนมแม่จะควบคุมการดื่มนมของตัวเองได้ พวกเขาจะกินได้จนกว่าจะรู้สึกพอใจและอิ่ม ซึ่งมันส่งผลไปถึงการพัฒนารูปแบบการกินที่ดีต่อสุขภาพของทารกเอง

ทำให้เด็กฉลาด

จากการศึกษาบางชิ้นชี้ให้เห็นว่า อาจมีความแตกต่างกันในการพัฒนาสมองระหว่างทารกที่กินน้ำนมแม่กับทารกที่กินนมสูตร ความแตกต่างนี้อาจเกิดจากความใกล้ชิดทางกาย การสัมผัส และการสบตาที่เกิดขึ้นระหว่างให้นมบุตร นอกจากนั้น จากการศึกษาหนึ่งชี้ให้เห็นว่า ทารกที่กินนมแม่นั้น มีคะแนนความฉลาดสูงกว่าและมีโอกาสน้อยที่จะมีปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมและการเรียนรู้เมื่อโตขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เด่นชัดที่สุดที่พบในทารกที่คลอดก่อนกำหนด ก็คือ ความเสี่ยงต่อปัญหาของพัฒนาการ นั่นเอง

เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่-มีประโยชน์ต่อลูกน้อยและคุณแม่

ประโยชน์ของน้ำนมแม่ที่มีต่อตัวแม่เอง

การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ นอกจากจะมีประโยชน์อย่างมากต่อทารกแล้ว มันยังมีประโยชน์ต่อตัวคุณแม่เองอีกด้วย ซึ่งประโยชน์ต่างๆ ที่คุณแม่จะได้รับจากการให้นมลูก มีดังนี้

ช่วยลดน้ำหนัก

ในขณะที่ผู้หญิงบางคนดูเหมือนจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นในระหว่างที่ให้นมบุตร แต่ผู้หญิงบางคนก็เหมือนจะน้ำหนัดลดลงได้อย่างง่ายดาย ถึงแม้ว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะทำให้คุณแม่ต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 500 แคลอรี่ต่อวัน แต่ความสมดุลของฮอร์โมนในร่างกายก็ยังแตกต่างจากปกติอย่างมาก

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเหล่านี้ จะทำให้ผู้หญิงที่ให้นมบุตรมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น และอาจมีแนวโน้มที่จะเก็บไขมันเอาไว้ใช้ผลิตน้ำนมอีกด้วย

ช่วยให้มดลูกหดตัว

ในระหว่างตั้งครรภ์ มดลูกของคุณแม่จะเจริญเติบโตอย่างมาก โดยจะขยายขนาดจากลูกแพร์ไปจนเต็มพื้นที่หน้าท้อง หลังคลอดทารกออกมาแล้ว มดลูกจะต้องผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “มดลูกเข้าอู่ (Involution)” ซึ่งเป็นการช่วยให้มดลูกกลับมามีขนาดเท่าเดิม ฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นตลอดการตั้งครรภ์จะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนกระบวนการมดลูกเข้าอู่นี้

ร่างกายของคุณจะหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซินในปริมาณที่สูงในระหว่างการคลอด เพื่อช่วยคลอดทารกและลดการตกเลือด ทั้งมันยังเพิ่มขึ้นในระหว่างการให้นมบุตร กระตุ้นการหดตัวของมดลูก และลดการตกเลือด ช่วยให้มดลูกกลับมามีขนาดเท่าเดิม จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า แม่ที่ให้นมบุตรโดยทั่วไปจะมีการสูญเสียเลือดน้อยลงหลังคลอด และมดลูกจะเข้าอู่ได้เร็วขึ้น

มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าลดลง

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เป็นภาวะซึมเศร้าประเภทหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ไม่นานหลังการคลอดบุตร ซึ่งมีผลต่อมารดามากถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผู้หญิงที่ให้นมบุตรดูเหมือนจะไม่ค่อยมีอาการซึมเศร้าหลังคลอด เมื่อเทียบกับคุณแม่ที่ให้ทารกหย่านมก่อนกำหนด หรือไม่ได้ให้นมบุตร

อย่างไรก็ตาม ผู้ทีมีอาการซึมเศร้าหลังคลอด ในช่วงต้นหลังคลอดก็มีแนวโน้มจะมีปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แม้ว่าหลักฐานจะค่อนข้างหลากหลาย แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งเสริมการดูแลและความผูกพันของแม่กับลูก

สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คือ ปริมาณฮอร์โมนออกซิโทซินที่เพิ่มขึ้นระหว่างการคลอดและการให้นมลูก โดยฮอร์โมนออกซิโทซินมีฤทธิ์ต้านความวิตกกังวลในระยะยาว นอกจากนี้ยังกระตุ้มให้เกิดความผูกพัน โดยส่งผลต่อบริเวณสมอง โดยเฉพาะส่วนที่ส่งเสริมการเลี้ยงดูและการผ่อนคลาย

ลดความเสี่ยงของโรค

การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ดูเหมือนจะช่วยป้องกันมะเร็งและโรคต่างๆ ให้แม่ได้ในระยะยาว ระยะเวลาทั้งหมดที่ผู้หญิงใช้ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นมีความเชื่อมโยงความเสี่ยงที่ลดลงของมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ โดยในความเป็นจริงผู้หญิงที่ให้นมบุตรนานกว่า 12 เดือน ในช่วงชีวิตของพวกเขาจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ลดลง 28 เปอร์เซ็นต์ ในแต่ละปีของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมที่ลดลง 4.3 เปอร์เซ็นต์

การศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ ยังระบุด้วยว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาจป้องกันภาวะเมแทบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) ซึ่งเป็นกลุ่มภาวะที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และปัญหาสุขภาพอื่นๆ ผู้หญิงที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเวลา 1-2 ปี ตลอดชีวิตจะมีความเสี่ยงของการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคข้ออักเสบ โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ และโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ลดลง 10-50 เปอร์เซ็นต์

ป้องกันการมีประจำเดือน

การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่อย่างต่อเนื่องจะหยุดการตกไข่และการมีประจำเดือนชั่วคราว ผู้หญิงบางคนใช้โอกาสนี้ในการคุมกำเนิดในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังคลอด คุณอาจจะถือว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เป็นประโยชน์ ในขณะที่คุณใช้เวลาอันมีค่ากับทารกแรกเกิด โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเกี่ยวกับประจำเดือน

ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย

การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่นั้นไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เลย นอกจากนั้นคุณยังไม่ต้องมานั่งคำนึงถือสิ่งต่างๆ เหล่านี้

  • คำนวณว่าลูกน้อยของคุณต้องดื่มน้ำมากแค่ไหนในแต่ละวัน
  • ใช้เวลาในการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อขวดนม
  • ผสมและอุ่นขวดนมในช่วงกลางวัน หรือกลางดึก
  • คิดหาวิธีอุ่นขวดนมระหว่างเดินทาง
  • ต้องทำให้น้ำนมแม่อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมและพร้อมดื่มเสมอ

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

11 Benefits of Breastfeeding for Both Mom and Baby. https://www.healthline.com/nutrition/11-benefits-of-breastfeeding. Accessed August 13, 2020

Breastfeeding Overview. https://www.webmd.com/parenting/baby/nursing-basics#2. Accessed August 13, 2020

Benefits of breastfeeding. https://www.nhs.uk/conditions/pregnancy-and-baby/benefits-breastfeeding/. Accessed August 13, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/03/2021

เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ประโยชน์และความเชื่อผิด ๆ ของการอาบน้ำนม

น้ำนมเหลือง คุณค่าของนมหยดแรกจากอกแม่ที่ลูกรักคู่ควร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 15/03/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา