สารโพแทสเซียม (Potassium) เป็นสารอาหารสำคัญต่อร่างกาย ที่สามารถพบได้ในอาหารเกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นผัก ธัญพืช หรือเนื้อปลา มีส่วนช่วยในการทำงานของกล้ามเนื้อ ระบบหัวใจ และรักษาความสมดุลของน้ำในร่างกาย วันนี้เรามารู้จักกับ โพแทสเซียม ให้มากขึ้นกว่าเดิมกันดีกว่า กับบทความนี้เลยจาก Hello คุณหมอ
สารโพแทสเซียม ทำหน้าที่อะไร
ลดความดันโลหิตสูง
ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับความดันโลหิต โดยเฉพาะความดันโลหิตสูง มีผลการวิจัยพบว่า การรับประทานอาหารที่ให้ โพแทสเซียม เป็นประจำ มีส่วนช่วยควบคุมระดับความดันของเลือด และช่วยลดความเสี่ยงที่จะมีความดันโลหิตสูง
ดีต่อกระดูกและกล้ามเนื้อ
โพแทสเซียม เป็นสารอาหารที่ช่วยในกระบวนการทำงานของระบบกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของมวลกล้ามเนื้อ เพราะเมื่อแก่ตัวขึ้นมวลกล้ามเนื้อก็จะเริ่มลดประสิทธิภาพลง ดังนั้น การรับประทานโพแทสเซียมให้เพียงพออยู่เสมอ จะช่วยให้มวลกล้ามเนื้อและกระดูกมีความสมบูรณ์ แข็งแรง
ลดความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน
โพแทสเซียมดูแลทั้งกล้ามเนื้อและกระดูก ไม่เพียงแต่กล้ามเนื้อเท่านั้นที่จะแข็งแรงจากการได้รับโพแทสเซียมที่เพียงพอ เพราะโพแทสเซียมยังมีส่วนช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ลดโอกาสที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนได้เช่นกัน
ลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง
ไม่เพียงแต่การทำให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรงเท่านั้น เพราะจากผลการวิจัยพบว่า การรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียม ยังช่วยลดโอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองอักเสบได้อีกด้วย
ลดความเสี่ยงการเป็นนิ่วในไต
การเป็นนิ่วในไต เป็นอาการทางสุขภาพที่น่าเป็นห่วง แต่การดูแลตนเองให้ได้รับ โพแทสเซียม อย่างเพียงพอต่อร่างกายนั้น ช่วยลดโอกาสของการเป็นนิ่วในไตได้
ในแต่ละวันควรได้รับโพแทสเซียมเท่าไหร่
โพแทสเซียม อยู่ในอาหารที่เรารับประทานกันในชีวิตประจำวันเกือบจะทุกชนิด ทั้งผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ไปจนถึงธัญพืชต่าง ๆ แต่แม้จะเป็นสารอาหารที่สามารถหารับประทานได้โดยทั่วไป ก็ยังคงต้องอยู่ในขอบข่ายของปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกาย โดยปริมาณที่ The National Health and Nutrition Examination Survey หรือ NHANES และองค์การอนามัยโลกแนะนำไว้ก็คือ ร่างกายควรได้รับโพแทสเซียมในปริมาณ 3,500–4,700 มิลลิกรัมต่อวัน
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าขาดโพแทสเซียม
โพแทสเซียมให้ประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย แต่เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายไม่ได้รับปริมาณของ โพแทสเซียม เท่าที่ควร ก็จะเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาต่อสุขภาพ หรือที่รู้จักกันว่า ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia) และหากระดับของโพแทสเซียมต่ำยิ่งกว่าที่ควรจะเป็นมาก ๆ ก็จะเกิดอาการและสัญญาณสุขภาพ ดังนี้
ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ อาจมีผลต่อไตจึงอาจทำให้รู้สึกกระหายน้ำบ่อยขึ้น และต้องการที่จะปัสสาวะบ่อยขึ้นด้วย ซึ่งหากปล่อยไว้นานเข้า อาจมีผลต่อระบบกล้ามเนื้อ เสี่ยงที่จะเป็นอัมพาต และหัวใจล้มเหลว ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว จึงควรมั่นใจว่าร่างกายได้รับ โพแทสเซียม อย่างเหมาะสมและเพียงพอ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]