backup og meta

หิวตอนกลางคืนบ่อยมากจนผิดปกติ หรือคุณจะเป็น โรคหิวตอนดึก (Night Eating Syndrome)

หิวตอนกลางคืนบ่อยมากจนผิดปกติ หรือคุณจะเป็น โรคหิวตอนดึก (Night Eating Syndrome)

มื้อเช้าก็กินไปเยอะ มื้อเที่ยงยิ่งจัดหนัก มื้อเย็นก็ไม่เคยพลาด แต่ตกดึกก็ยังคงหิวอยู่เหมือนเดิม เรียกได้ว่าเกิดมาเพื่อกินทุกมื้อโดยแท้จริง แต่การหิวในตอนกลางคืนนั้นเป็นอาการโดยปกติจริงหรือ? จงอย่าชะล่าใจไป เพราะคุณอาจกำลังอยู่ในภาวะของ โรคหิวตอนดึก อยู่ก็ได้ วันนี้มารู้จักกับ อาการหิวตอนดึก ไปพร้อม ๆ กันกับ Hello คุณหมอ

รู้จักกับ โรคหิวตอนดึก (Night Eating Syndrome)

อาการหิวตอนดึก  คือ อาการหรือความรู้สึกหิวในตอนกลางคืน แม้ว่าจะมีการรับประทานอาหารเย็นไปจนอิ่มแล้วก็ตาม เพราะรู้สึกว่าถ้าหากไม่กินในตอนดึกจะทำให้นอนไม่หลับหรือไม่สามารถที่จะกลับไปนอนได้ถ้าไม่มีอะไรตกถึงท้องในตอนกลางคืน อาการหิวตอนดึก นี้ จัดว่าเป็นหนึ่งในปัญหาที่เกี่ยวข้องทั้งพฤติกรรมในการนอนหลับและเกี่ยวข้องกับความผิดปกติหรือพฤติกรรมในการกินด้วย

สาเหตุของ โรคหิวตอนดึก

สาเหตุของ อาการหิวตอนดึก นั้น ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเกิดขึ้นจากอะไร แต่อาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากความไม่สมดุลกันของฮอร์โมนในร่างกาย จนส่งผลต่อการรับประทานอาหารและการตื่นขึ้นในกลางดึกเพื่อมารับประทานอาหาร ซึ่งอาจเป็นความผิดปกติที่ฮอร์โมนสำหรับควบคุมความหิว หรือฮอร์โมนที่ควบคุมความอิ่ม อย่างไรก็ตาม อาการเช่นนี้อาจพบได้บ่อยในกลุ่มวัยรุ่นและวัยเรียนที่มักจะหิวบ่อย ๆ ในกลางดึก แรก ๆ อาจเป็นเพียงพฤติกรรม แต่หากไม่หยุดและปล่อยไปเรื่อย ๆ ก็อาจไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายนัก นอกจากนี้ ยังอาจเป็นผลมาจากการควบคุมอาหาร ที่ปกติเคยกินอาหารตามใจมาตลอด แต่เมื่อต้องมาควบคุมอาหารในแต่ละมื้อ อาจทำให้รู้สึกไม่อิ่ม และหิวในตอนกลางคืน

อาการของโรคหิวตอนดึก

ใคร ๆ ก็สามารถที่จะหิวกันบ่อย ๆ ได้ทั้งนั้น บางคนเพิ่งกินมื้อเที่ยงเสร็จ พอถึงบ่ายก็หิวขึ้นมาอีก กินมื้อเย็นจนอิ่มแปล้ ตกดึกมาก็ยังหิวอีกเหมือนเดิม ซึ่งสถานการณ์เช่นนั้นน่าจะเกิดขึ้นบ่อยกับใครหลายคนจนมองว่าเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว แต่…ถ้าหากมีอาการดังต่อไปนี้ นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังมี อาการหิวตอนดึก

  • ไม่รู้สึกหิวในตอนเช้า
  • รู้สึกอยากรับประทานอาหารแค่เฉพาะตอนกลางคืน และระหว่างที่กำลังนอน
  • มีอาการนอนไม่หลับ 4-5 คืนต่อสัปดาห์
  • มีความรู้สึกว่าต้องกินเท่านั้นถึงจะสามารถนอนหลับ หรือกลับไปนอนได้ ถ้าไม่กินจะนอนไม่หลับ
  • มีอารมณ์ซึมเศร้าในช่วงตอนเย็น

แม้ อาการหิวตอนดึก จะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับการกิน และอาจจะมีความคล้ายกับโรคกินไม่หยุด (Binge Eating Disorder หรือ BED) แต่ยังคงมีความแตกต่างจากโรคกินไม่หยุดตรงที่ โรคกินไม่หยุด จะกินอาหารปริมาณเยอะ ๆ ในคราวเดียว แต่โรคหิวตอนดึก จะกินในปริมาณที่น้อยกว่า

วิธีรักษาอาการหิวตอนดึก

แนวทางการรักษา อาการหิวตอนดึก นั้น คุณหมอและผู้เชี่ยวชาญอาจมีการใช้เทคนิคและวิธีการบำบัดที่เรียกว่า การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive-Behavioral Therapy หรือ CBT) โดยมีประเด็นสำคัญอยู่ที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ทั้งพฤติกรรมการกินและพฤติกรรมการนอน ผู้เชี่ยวชาญอาจมีการแนะนำให้จัดการกับตารางการกินในแต่ละวัน โดยเฉพาะการรับประทานอาหารมื้อเช้าควรเป็นมื้อหลักและมื้อจำเป็น เพราะการกินมื้อเช้าจะช่วยแก้ไขวงจรการกินใหม่ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าวอาจจะไม่เห็นผลในทันที แต่เมื่อความรู้สึกไม่หิวในตอนเช้าเริ่มหายไป ก็แปลว่าเริ่มมีสัญญาณที่จะกลับมามีพฤติกรรมการกินที่เป็นปกติแล้ว สำหรับผู้ที่มีอาการเข้าข่ายว่าจะเป็นโรคหิวตอนดึก ควรหาเวลาไปพบคุณหมอและผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการวินิจฉัยและรับทราบข้อมูลที่ครบถ้วนต่อไป

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Is Night Eating Syndrome?. https://www.webmd.com/mental-health/eating-disorders/binge-eating-disorder/what-is-night-eating-syndrome#1. Accessed on February 27, 2020.

Night Eating Syndrome. https://www.verywellmind.com/what-is-night-eating-syndrome-4171515. Accessed on February 27, 2020.

Night Eating Syndrome. https://www.mirror-mirror.org/night-eating-syndrome.htm. Accessed on February 27, 2020.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Sukollaban Khamfan


บทความที่เกี่ยวข้อง

กินตอนกลางคืน ทำให้อ้วนจริงหรือ แล้วจะรับมือกับความหิวกลางดึกได้อย่างไร

เหตุผลที่คุณ หิวตลอดเวลา เป็นเพราะอะไรกันแน่


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา