backup og meta

ใครที่ไม่ชอบทำฟัน อาจเพราะคุณเป็น โรคกลัวหมอฟัน (Dentophobia) ก็ได้นะ

ใครที่ไม่ชอบทำฟัน อาจเพราะคุณเป็น โรคกลัวหมอฟัน (Dentophobia) ก็ได้นะ

หลายคนไม่ชอบไปหาหมอ โดยเฉพาะเมื่อเป็นหมอฟัน บางคนอาจไม่ได้ไปหาหมอฟันนานมาก จนจำไม่ได้แล้วด้วยซ้ำว่าไปหาหมอฟันครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ เวลาคนเราไม่อยากไปหาหมอฟัน ก็มักจะมีข้ออ้างต่าง ๆ นานา เช่น ไม่มีเวลาบ้างล่ะ ค่าทำฟันแพงไปบ้างล่ะ หรือหากจำเป็นต้องไปหาหมอฟันจริง ๆ ก็จะรู้สึกวิตกกังวลมากอย่างบอกไม่ถูก แต่คุณเคยคิดบ้างไหมว่า การที่ตัวเองไม่ชอบทำฟัน ไม่อยากไปหาหมอฟัน จริง ๆ แล้ว อาจเป็นเพราะคุณเป็น โรคกลัวหมอฟัน ก็ได้นะ ดังนั้น บทความนี้ Hello คุณหมอ จึงมีข้อมูลเกี่ยวกับโรคกลัวหมอฟันมาฝากกันค่ะ

ทำความรู้จักกับ โรคกลัวหมอฟัน

โรคกลัวหมอฟัน คืออะไร

โรคกลัวหมอฟัน (Dentophobia) เป็นโรคกลัวที่พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ผู้เชี่ยวชาญเผยว่าคนวัยผู้ใหญ่ 7 ใน 10 เป็นโรคนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากประสบการณ์ฝังใจ หรือบาดแผลทางใจที่เกิดขึ้นในอดีต หรือไม่ก็ความกลัวเจ็บ พอไปทำฟันแล้วได้กลิ่นในคลินิกทำฟันที่ค่อนข้างเป็นกลิ่นเฉพาะตัว หรือได้ยินเสียงเครื่องมือทำฟัน ก็มักจะกระตุ้นให้นึกถึงอดีตที่เคยฝังใจ และรู้สึกกลัวขึ้นมา ในบางครั้งผู้ที่เป็นโรคกลัวหมอฟันก็เป็นโรคกลัวหมอ (Iatrophobia) หรือโรคกลัวเข็ม (Trypanophobia) ด้วย

ประเภทของโรคกลัวหมอฟัน

โรคกลัวหมอฟันสามารถแบ่งได้เป็นหลายประเภทขึ้นอยู่กับปัจจัยกระตุ้น และคนที่เป็นโรคกลัวหมอฟันส่วนใหญ่ก็มักจะมีปัจจัยกระตุ้นหลายชนิดรวมกัน หรือหากใครที่เป็นโรคกลัวหมอฟันขั้นรุนแรง ก็อาจกลัวทุกปัจจัยที่เกี่ยวกับการทำฟันเลยก็ได้ โดยประเภทของโรคกลัวหมอฟันนั้นแบ่งได้ตามปัจจัยต่อไปนี้

  • หมอฟัน โรคกลัวหมอฟันของคุณ อาจเกิดจากคุณเคยทำฟันกับหมอฟันบางคน แล้วรู้สึกไม่ดีกับหมอฟันคนนั้น จนกลายเป็นเหตุการณ์ฝังใจ และทำให้เป็นโรคกลัวหมอฟันในที่สุด
  • เสียงและกลิ่น คนที่เคยมีประสบการณ์ไม่ดีในการทำฟัน มักจะกลัวเสียงและกลิ่นในคลินิกทำฟัน โดยเฉพาะเมื่อเป็นเสียงของเครื่องกรอฟัน ที่บางคนได้ยินแล้วถึงกับขนลุก
  • อาการชา การขย้อน และการอาเจียน บางคน โดยเฉพาะคนที่หายใจลำบากหรือเคยสำลัก มักจะกลัวการฉีดยาชาเวลาทำฟัน เพราะกลัวจะทำให้ตัวเองหายใจไม่ออก หรือไม่ก็กลัวว่าตัวเองจะขย้อน ไม่ก็อาเจียนเวลาทำฟัน
  • ความเจ็บปวด หัตถการในการทำฟันส่วนใหญ่ เช่น การขูดหินปูน การถอนฟัน การฝ่าฟันคุด มักมาพร้อมความเจ็บปวดไม่มากก็น้อย ซึ่งอาจทำให้คนที่มีความรู้สึกไวต่อความเจ็บปวดในช่องปากมากเป็นพิเศษ รู้สึกหวาดกลัวขึ้นมาได้
  • เข็มฉีดยา หากคุณเป็นโรคกลัวเข็ม ก็อาจทำให้คุณกลัวการฉีดยาชา ซึ่งเป็นขั้นตอนที่หมอฟันต้องปฏิบัติก่อนการทำหัตถการบางประเภทได้

ปัญหาสุขภาพที่มาพร้อมโรคกลัวหมอฟัน

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า คนเราควรไปพบหมอฟันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน และขูดหินปูนที่เกาะสะสมอยู่บนผิวฟัน และหากสุขภาพเหงือกและฟันของคุณมีปัญหา ก็จะได้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที แต่คนที่เป็นโรคกลัวหมอฟัน มักไม่ได้ไปหาหมอฟันเป็นเวลาติดต่อกันหลายปี เวลามีปัญหาสุขภาพช่องปาก ก็มักจะละเลยจนอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้ ซึ่งปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นเมื่อคุณเป็นโรคนี้ เช่น

  • ฟันผุ หากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ อาจทำให้ฟันหักหรือฟันเน่า จนคุณจำเป็นต้องใช้วิธีการรักษาอย่างการรักษารากฟัน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายแพงมาก
  • เหงือกอักเสบ คราบอาหารและเชื้อแบคทีเรียที่เกาะอยู่ตามขอบเหงือกและซอกฟัน อาจทำให้เหงือกของคุณอักเสบได้ โดยเฉพาะหากคุณสูบบุหรี่ เป็นหญิงตั้งครรภ์ หรือเป็นโรคเบาหวานแต่ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีเท่าที่ควร เป็นต้น และหากปล่อยไว้ ไม่รักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็อาจทำไปสู่โรคปริทันต์อักเสบ หรือปัญหาอื่นที่ร้ายแรงกว่าได้

วิธีรับมือกับโรคกลัวหมอฟัน

โรคกลัวหมอฟัน สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • การบำบัดด้วยการเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว (Exposure Therapy)

การบำบัดด้วยการเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว (Exposure Therapy) ซึ่งวิธีนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของจิตบำบัด และถือเป็นหนึ่งในวิธีรักษาโรคกลัวหมอฟันที่ได้ผลดีที่สุด โดยอาจเริ่มจากแค่เข้าไปสอบถามข้อมูลทั่วไปในการรักษา แต่ยังไม่ต้องตกลงทำฟัน ครั้งต่อไปก็ค่อยนัดทำฟัน โดยค่อย ๆ นัดทำฟันไปทีละอย่าง เริ่มจากหัตถการที่ง่าย ๆ และใช้เวลาไม่นานอย่างการตรวจสุขภาพฟัน ครั้งต่อไปก็ค่อยมาขูดหินปูน อุดฟัน หรือเข้ารับการรักษาต่าง ๆ ตามที่หมอฟันแนะนำ การบำบัดวิธีนี้จะช่วยให้คุณค่อย ๆ ชินกับการทำฟัน และทำให้คุณสามารถพบหมอฟันได้ตามปกติในที่สุด

  • การใช้ยา

การใช้ยาอาจไม่ได้ช่วยรักษาโรคกลัวหมอฟันโดยตรง แต่ยาจะช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวลหรือตื่นตระหนกเวลาไปพบหมอฟันของคุณได้ ส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะให้คุณใช้ยาควบคู่ไปกับการบำบัดด้วยการเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว และบางครั้งแพทย์อาจให้คุณกินยาแก้อาการของโรคกลัวด้วย เช่น ยาลดความดันโลหิต

เมื่อต้องไป หาหมอฟัน เอาชนะความกลัวยังไงดี

สำหรับคนที่เป็นโรคกลัวหมอฟัน เรามีเคล็ดลับในการไปหาหมอฟันที่เหมาะสมกับคุณมาฝาก ดังนี้

  • ไปพบหมอฟันในช่วงที่คนไข้น้อย ๆ เช่น ช่วงเช้า คุณจะได้ไม่ต้องเจอกับเสียงเครื่องมือทำฟันที่กระตุ้นอาการวิตกกังวล หรือโรคกลัวหมอฟันของคุณ
  • พกหูฟังไปด้วย จะได้เปิดเพลงฟังหรือคลิปดูระหว่างรอทำฟัน ทางที่ดีควรเลือกรุ่นที่ตัดเสียงรบกวนรอบข้างได้ หรือจะใช้เป็นที่อุดหูป้องกันเสียงภายนอกไปเลย แต่อย่าลืมแจ้งเจ้าหน้าที่คลีนิกไว้ด้วย เจ้าหน้าที่จะได้มาเรียกเมื่อถึงคิวเข้าทำฟันของคุณ
  • ให้คนในครอบครัว เพื่อน หรือคนรัก ไปคลินิกทำฟันด้วย
  • ฝึกหายใจลึก ๆ หรือนั่งสมาธิเป็นประจำ เพื่อให้รู้สึกสงบขึ้น

อย่างไรก็ดี หากคุณนัดหมอฟันไว้แล้ว แต่ระหว่างรอให้ถึงวันนัด หรือรอเข้าพบคุณหมอ คุณรู้สึกไม่ไหวจริง ๆ แนะนำว่าควรแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อขอยกเลิกนัด แล้วนัดหมายใหม่เมื่อพร้อมจะดีที่สุด เพราะหากคุณฝืนทำฟันทั้ง ๆ ที่ยังไม่พร้อม ก็อาจทำให้โรคกลัวหมอฟันของคุณยิ่งแย่ลงได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

How to Cope with a Fear of the Dentist. https://www.healthline.com/health/mental-health/fear-of-dentist. Accessed June 26, 2020

Why the Fear of Dentists Is so Common. https://www.verywellmind.com/dentophobia-fear-of-dentists-2671855#:~:text=Dentophobia%20(odontophobia)%2C%20or%20fear,lead%20to%20serious%20health%20issues. Accessed June 26, 2020

Strategies to manage patients with dental anxiety and dental phobia: literature review. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4790493/. Accessed June 26, 2020

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

08/04/2021

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

พฤติกรรมง่ายๆ ที่ช่วย ดูแลสุขภาพช่องปาก ให้ดี

คราบพลัค สาเหตุและวิธีป้องกัน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 08/04/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา