backup og meta

ไม่กล้าสัมผัสอะไร หวาดระแวงเชื้อโรค คุณอาจจะกำลังเป็น โรคกลัวความสกปรก อยู่รึเปล่า

ไม่กล้าสัมผัสอะไร หวาดระแวงเชื้อโรค คุณอาจจะกำลังเป็น โรคกลัวความสกปรก อยู่รึเปล่า

ความหวาดกลัวต่อสิ่งสกปรกและเชื้อโรคนั้นจัดได้ว่าเป็นความรู้สึกปกติ ที่ไม่ว่าใครต่างก็ต้องมี เพราะคงไม่มีใครอยากที่จะเอามือไปสัมผัสกับสิ่งสกปรกให้เปื้อนมือ หรือสัมผัสกับเชื้อโรคให้เสี่ยงอันตรายต่อร่างกาย แต่ในบางครั้ง หากอาการกลัวสิ่งสกปรกและเชื้อโรคนั้นมีความรุนแรงอย่างมากผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าคุณกำลังเป็น โรคกลัวความสกปรก ก็เป็นได้ อาการของโรคนี้เป็นอย่างไร และจะรักษาให้หายได้หรือไม่ หาคำตอบได้จากบทความนี้

โรคกลัวความสกปรก (Mysophobia) คืออะไร

เป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วว่า สิ่งสกปรกนั้นมักจะแฝงไปด้วยเชื้อโรคตัวร้าย ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ดังนั้น การหวาดกลัว ไม่อยากสัมผัสสิ่งสกปรกเหล่านี้ จึงนับได้ว่าเป็นเรื่องปกติที่ใครๆ เขาก็เป็นกัน แต่ในบางคน อาจจะมีอาการหวาดกลัวสิ่งสกปรกและเชื้อโรคเหล่านี้มากจนเกินความจำเป็น และอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ อาการแบบนี้เรามักจะเรียกว่า เป็นผู้ที่มีอาการของโรคกลัวสิ่งสกปรก

โรคกลัวความสกปรก (Mysophobia) บางครั้งอาจจะเรียกว่าโรคกลัวเชื้อโรค (Germaphobia) อาการหวาดกลัวความสกปรกอย่างรุนแรงจนเข้าขั้น โฟเบีย (Phobias) นั้นจะแตกต่างไปจากความกังวลและความกลัวทั่วๆ ไป คนที่กังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อโรค มักจะแค่ล้างมือหลังจากสัมผัสสิ่งสกปรก หรือฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโรค แต่ผู้ที่เป็นโรคกลัวความสกปรกนั้น อาจจะล้างมือบ่อยครั้งซ้ำไปซ้ำมา หรือไม่กล้าสัมผัสกับใครเพราะกลัวติดเชื้อโรค อาการเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันทั้งสิ้น

อาการของผู้ที่เป็นโรคกลัวความสกปรก

อาการเบื้องต้นของโรคกลัวความสกปรกคือการหวาดกลัวเชื้อโรค ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแต่ละคน บางคนอาจจะหวาดกลัวเชื้อโรคเพียงชนิดเดียวเป็นพิเศษ เช่น ผู้หวาดกลัวเชื้อโควิด-19 ในขณะที่บางคนอาจจะหวาดกลัวเชื้อโรคหรือโรคทุกชนิด หรือแม้กระทั่งเศษฝุ่นเศษดินทั่วไป

อาการที่พบเห็นได้ทั่วไปมีดังนี้

  • ล้างมือบ่อยเกินไป
  • ใช้สบู่ เจลล้างมือ หรือน้ำยาสำหรับฆ่าเชื้อโรคในปริมาณมาก
  • กลัวการสัมผัสกับผู้อื่น
  • กลัวการป่วยอย่างรุนแรง
  • แสดงออกให้เห็นถึงอาการหวาดกลัวเมื่อได้ยินข่าวเกี่ยวกับเชื้อโรคอย่างเห็นได้ชัด
  • หมกหมุ่นอยู่กับความสะอาด
  • ไม่ยอมเข้าใกล้สถานที่บางแห่ง เช่น แหล่งทิ้งขยะ หรือโรงพยาบาล

โรคกลัวความสกปรก เกี่ยวข้องอะไรกับ โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือไม่?

หลายคนอาจสังเกตเห็นความคล้ายคลึงกันระหว่างโรคกลัวความสกปรกกับโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder ; OCD) เนื่องจากหนึ่งในอาการที่พบได้มากของทั้งสองโรคนี้คืออาการล้างมือบ่อยๆ แต่จุดประสงค์ในการล้างมือของทั้งสองโรคนี้จะมีความแตกต่างกัน เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำนั้น จะล้างมือเพื่อบรรเทาความรู้สึกเป็นทุกข์ที่เกิดจากการกระทำที่ไม่สมบูรณ์ เป็นหนึ่งในขั้นตอนที่พวกเขารู้สึกว่าต้องทำ เพื่อให้ขจัดความกังวลและความหวาดกลัวที่เกิดขึ้น ในขณะที่ผู้ที่เป็นโรคกลัวความสกปรก จะล้างมือโดยมีจุดประสงค์แค่เพียงต้องการกำจัดเชื้อโรคเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่าง 2 โรคนี้อาจจะมองออกยากมากจนต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเป็นผู้วินิจฉัยโรค

ผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

โรคหวาดกลัวความสกปรกนั้น นอกจากจะทำให้มีอาการชอบล้างมือบ่อยๆ ไม่ยอมเข้าใกล้สถานที่สกปรกแล้ว ยังอาจส่งผลให้พวกเกิดความหวาดกลัวต่อเชื้อโรคที่อาจจะติดกับตัวผู้อื่น จนทำให้หลีกเลี่ยง ไม่ยอมเข้าใกล้ หรือไม่ยอมสัมผัสตัวกับผู้อื่น ทั้งยังอาจหลีกเลี่ยงกิจกรรมการเข้าสังคม งานสังสรรค์หรือ ปาร์ตี้ การประชุม หรือแหล่งที่อาจจะมีการรวมตัวของคนเยอะๆ การเดินทางก็จะไม่ใช้ขนส่งสาธารณสุข แต่จะต้องเดินทางโดยรถส่วนตัว เพื่อหลีกเลี่ยงผู้คน หรือแม้กระทั่งการมีเซ็กส์ก็อาจจะเป็นไปไม่ได้ เพราะพวกเขาจะรู้สึกว่าสกปรกและไม่ปลอดภัย นานวันเข้า พฤติกรรมเหล่านี้จะส่งผลให้กลายเป็นการแปลกแยก และกลายเป็นโรคกลัวการเข้าสังคมในที่สุด

หนทางในการรักษาโรคกลัวความสกปรก

เป้าหมายของการรักษาโรคกลัวความสกปรก อยู่ที่การช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจและลดความกลัวต่อเชื้อโรค ทำให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติมากยิ่งขึ้น โดยใช้วิธีดังต่อไปนี้

การบำบัด เช่น การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy ; CBT) สามารถช่วยให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสามารถเผชิญหน้ากับความกลัวต่อเชื้อโรคและสิ่งสกปรกได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการบำบัดโดยใช้เทคนิค Exposure therapy ให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับต้นตอของความกลัวโดยตรง โดยมีเป้าหมายในการลดความวิตกกังวลและความกลัวต่อเชื้อโรคที่ทำให้เกิดความกลัวเหล่านั้น

การใช้ยา ในบางกรณีอาจต้องมีการใช้ยาต้านซึมเศร้าในกลุ่ม SSRI หรือ SNRI ร่วมกับการทำจิตบำบัด เพื่อช่วยควบคุมและบรรเทาอาการวิตกกังวลจากการให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับต้นตอของความกลัวในระหว่างการบำบัด นอกจากนี้ก็อาจใช้ยาอื่น เช่น ยากดประสาท เพื่อช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวลได้เช่นกัน

การปรับไลฟ์สไตล์ ลักษณะไลฟ์สไตล์บางอย่างอาจช่วยในการบรรเทาความกลัวต่อเชื้อโรคได้ เช่น นั่งสมาธิ ทำจิตให้ผ่อนคลาย โยคะ ออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และลดการบริโภคคาเฟอีนและสารกระตุ้น ที่อาจส่งผลให้อาการวิตกกังวลรุนแรงขึ้นได้

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

How to Treat Mysophobia or the Fear of Germs https://www.verywellmind.com/all-about-msyophobia-fear-of-germs-2671871.Accessed 23 March 2020

Mysophobia: the Fear of Germs https://www.goodtherapy.org/blog/mysophobia-fear-germs-phobia-1024127.Accessed 23 March 2020

Mysophobia https://www.goodtherapy.org/blog/psychpedia/mysophobia.Accessed 23 March 2020

All About Germaphobia https://www.healthline.com/health/germaphobia.Accessed 23 March 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

ห่างไกลจากเชื้อโรคต่างๆ รอบตัว ด้วย การล้างมือ อย่างถูกต้อง

ย้ำคิดย้ำทำ กับเพอร์เฟกชันนิสต์ เส้นกั้นบางๆ ของจิตผิดปกติ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา