backup og meta

โรคคลั่งกินคลีน (orthorexia) ภาวะที่คนรักอาหารสุขภาพต้องระวัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 22/05/2020

    โรคคลั่งกินคลีน (orthorexia) ภาวะที่คนรักอาหารสุขภาพต้องระวัง

    เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า อาหารสุขภาพ หรืออาหารคลีนนั้นดีต่อร่างกาย แต่จะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อคุณกินให้พอดี เพราะหากคุณหมกหมุ่นกับการกินอาหารสุขภาพ หรือคลั่งกินคลีน มากเกินไป ก็สามารถเป็นภัยต่อสุขภาพได้เช่นกัน Hello คุณหมอ เลยอยากแนะนำให้คนรักสุขภาพ เลือกกินคลีนแต่พอดี เพราะไม่เช่นนั้น คุณอาจกลายเป็น โรคคลั่งกินคลีน หรือออร์โทเร็กเซีย ได้ง่ายๆ

    ทำความรู้จัก โรคคลั่งกินคลีน

    ออร์โทเร็กเซีย (Orthorexia หรือ Orthorexia nervosa) หรือโรคคลั่งกินคลีน เป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ในกลุ่มโรคการกินผิดปกติ ที่เกิดจากผู้ป่วยหมกมุ่นกับการกินอาหารเพื่อสุขภาพ หรือเคร่งกับการกินอาหารคลีนเกินไป ไม่รู้จักยืดหยุ่น จนแทนที่กินแล้วจะดีต่อสุขภาพ กลับกลายคลั่งในการกินอาหารสุขภาพจนร่างกายขาดสารอาหารจำเป็น ทำให้เสียสุขภาพ

    ปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญยังไม่ทราบแน่ชัดว่าโรคคลั่งกินคลีนนั้นเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ แต่ก็มีแนวโน้มว่าผู้ที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือมีประวัติเป็นโรคการกินผิดปกติอื่นๆ เช่น โรคคลั่งผอม อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคคลั่งกินคลีนได้ นอกจากนี้ ผู้ที่ยึดติดในความสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) ชอบวิตกกังวล ชอบควบคุมสิ่งต่างๆ หรือมีหน้าที่การงานที่ต้องโฟกัสกับสุขภาพหรือรูปร่าง ก็มีแนวโน้มเป็นโรคคลั่งกินคลีนสูงเช่นกัน

    สัญญาณ-อาการ-โรคคลั่งกินคลีน

    สัญญาณและอาการของโรคคลั่งกินคลีน

  • ก่อนซื้อหรือก่อนกินอาหาร ต้องอ่านส่วนผสมและฉลากโภชนาการซ้ำแล้วซ้ำอีก
  • รู้สึกกังวลเกี่ยวกับส่วนประกอบในอาหารมากขึ้นเรื่อยๆ
  • ไม่กินอาหารบางประเภทเลย เช่น งดน้ำตาลทุกชนิด งดเนื้อสัตว์ทุกชนิด ไม่กินคาร์โบไฮเดรตเลย ไม่กินผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทุกอย่าง
  • เลือกกินแต่อาหารที่ได้ชื่อว่า “ดีต่อสุขภาพ” หรือเป็นอาหารคลีนเท่านั้น
  • ชอบวิจารณ์หรือตัดสินพฤติกรรมการกินของคนอื่น
  • หมดเวลาหลายชั่วโมงไปกับการคิดว่ามื้อต่อไปจะกินอาหารอะไรดี
  • รู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือหัวเสียสุดๆ เมื่อรู้ว่าสถานที่ที่ไปไม่มีอาหารคลีน หรืออาหารสุขภาพให้กิน
  • รู้สึกผิด เป็นกังวล หรือรู้สึกแปดเปื้อน เวลาที่ต้องกินอาหารที่คิดว่าไม่ดีต่อสุขภาพ
  • ติดตามแต่โซเชียลมีเดียที่เกี่ยวข้องกับอาหารคลีน หรือไลฟ์สไตล์เพื่อสุขภาพ
  • สุขภาพกายแย่ลง เช่น น้ำหนักลดผิดปกติ ไม่ค่อยมีพลังงาน อ่อนเพลียง่าย เหนื่อยล้าตลอดเวลา เวลาป่วยแล้วต้องใช้เวลาพักฟื้นนานกว่าที่ควร
  • ห่วงเรื่องรูปร่างหรือรูปลักษณ์ของตัวเองมาก แต่พฤติกรรมนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคนที่เป็นโรคคลั่งกินคลีน
  • โรคคลั่งกินคลีน… กับปัญหาที่อาจตามมา

    โรคคลั่งกินคลีน อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่นๆ ได้ เช่น การขาดสารอาหาร จนส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ทำงานผิดปกติ มีปัญหาอาหารไม่ย่อย กระดูกถูกทำลาย ฮอร์โมนไม่สมดุล ระบบเผาผลาญผิดปกติ และผู้ที่เป็นโรคคลั่งกินคลีนส่วนใหญ่ก็มักจะมีปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคทางจิตเวชที่เกิดจากการใช้สุราและสารเสพติด ซึ่งนอกจากจะทำให้คุณเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ด้วย

    แค่นั้นยังไม่พอ โรคคลั่งกินคลีนอาจทำให้คุณมีปัญหาในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม หรือส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการเรียนและการทำงานของคุณได้อีกด้วย

    คลั่งกินคลีน… แก้ไขยังไงดี

    หากคุณสงสัยว่าตัวเองอาจเป็นโรคคลั่งกินคลีน สิ่งแรกที่คุณควรทำโดยด่วนคือ เข้าพบคุณหมอ เพราะหากคุณหมอวินิจฉัยว่าคุณเป็นโรคคลั่งกินคลีนจริง จะได้รักษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ส่วนใหญ่จะรักษาด้วยจิตบำบัด เพื่อช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยบริโภคอาหารหลากหลายประเภทขึ้น กล้าเผชิญหน้ากับอาหารที่ตัวเองรู้สึกหวาดกลัวหรือเคยหลีกเลี่ยง และช่วยให้น้ำหนักกลับมาอยู่ในเกณฑ์ดีต่อสุขภาพ และหากคุณมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ เนื่องจากโรคคลั่งกินคลีน คุณหมอก็จะได้รักษาปัญหาสุขภาพนั้นๆ ด้วย

    แต่นอกจากเข้ารับการรักษากับคุณหมอแล้ว คุณก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการกินและการใช้ชีวิตโดยรวมด้วย เช่น พยายามกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ให้หลากหลายขึ้น ออกกำลังกายแต่พอดี อย่าหักโหมเกินไป ทำกิจกรรมผ่อนคลาย หรือใช้เวลาร่วมกับผู้อื่นบ้าง โดยเฉพาะเวลากินอาหาร คุณจะได้ไม่หมกหมุ่นอยู่กับตัวเอง หรือนิสัยการกินเดิมๆ มากจนเกินไป และทางที่ดี คุณควรบอกให้คนใกล้ชิดทราบถึงโรคการกินผิดปกติของคุณด้วย พวกเขาจะได้ช่วยเตือนเวลาเห็นคุณมีพฤติกรรมการกินผิดๆ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 22/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา