backup og meta

ดนตรีบำบัด โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    ดนตรีบำบัด โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

    โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง เป็นโรคที่มีอาการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเคลื่อนไหว ความจำ ซึ่งอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยในบางราย แต่การใช้ดนตรีบำบัดนั้นช่วยให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหว คำพูดภาษาและการรับรู้ที่ดีขึ้น วันนี้ Hello คุณหมอ มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ดนตรีบำบัด โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง มาให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ

    โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง คืออะไร

    โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis หรือ MS) เป็นโรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันจะทำลาย ไมอิลีน ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยป้องกัน เส้นใยประสาท ส่วนใหญ่แล้วโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มาอายุระหว่าง 20-40 ปี ผู้ที่ป่วยเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง จะมีอาการหลากหลาย เนื่องจากอาการของโรคจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน และอาการอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลาที่เกิดขึ้น แต่อาการที่มักพบได้ในโรคนี้คือ อาการเหนื่อยล้า ตามัว มองภาพไม่ชัด เห็นภาพซ้อน กลืนลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน แขนขาอ่อนแรง หากไม่รีบรักษา หรือไม่รีบรักษาตั้งแต่ระยะแรกๆ ก็อาจจะทำให้พิการได้

    ดนตรีบำบัด โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ได้อย่างไร

    คุณหมอ Victoria Leavitt แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา กล่าวว่า การใช้ดนตรีบำบัดนั้นมีประโยชน์หลากหลายด้าน เพราะว่าดนตรีเป็นกิจกรรมที่ทำให้ช่วยส่งเสริมทักษะทางความคิดสร้างสรรค์ การมีสมาธิ เสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม มีส่วนช่วยในการแยกประสาทสัมผัส และยังช่วยในกระบวนการประมวลผลด้วย ที่สำคัญการใช้ดนตรีบำบัดควบคู่กับการรักษาโรคช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสนุก มีส่วนร่วมไปกับการรักษา

    Caitlin Hyatt นักดนตรีบำบัดโรคระบบประสาท กล่าวว่า มีสิ่งสำคัญ 3 สิ่งที่ควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับการรักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง คือ การเคลื่อนไหว คำพูดภาษา และการรับรู้

    การเคลื่อนไหว 

    ผู้ที่ป่วยเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งนั้น ในบางรายอาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย ดังนั้นการใช้ดนตรีในการบำบัด ในเรื่องการเคลื่อนไหวนั้นมีชื่อเรียกว่า Rhythmic Auditory Stimulation เป็นรูปแบบการใช้เครื่องกระตุ้นจังหวะขณะที่ผู้ป่วยฝึกหัดเดิน เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีกระบวนการเดินที่ดีขึ้น โดยเครื่องกระตุ้นจังหวะ จะช่วยกระตุ้นสมองของผู้ป่วยให้รับรู้ถึงจังหวะและการเคลื่อนไหว เพื่อให้สมองสั่งการให้ร่างกายเคลื่อนไหวตามจังหวะของเครื่องนั้น ซึ่งวิธีการบำบัดด้วยดนตรีจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งสามารถเดินได้เร็วขึ้น มีระยะทางการเดินที่ไกลขึ้น และช่วยรักษาความสมดุลในการเดินให้ดีอีกด้วย

    คำพูดภาษาและการรับรู้

    การใช้ดนตรีบำบัดไม่เพียงแต่ทำให้ช่วยพัฒนาการเคลื่อนไหวให้ดีขึ้น แต่ยังช่วยส่งเสริมการพูดอีกด้วย ผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถพูดได้ แต่พวกเขาสามารถร้องเพลงได้เพราะอาศัยการจับจังหวะของเพลงแล้วเปล่งเสียงออกมา อย่างเช่น ผู้ที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันที่มีปัญหาในการพูด แต่เมื่อให้ร้องเพลงกลับทำได้ดีกว่า ส่วนผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งที่มีปัญหาด้านการรับรู้และความจำ เมื่อใช้ดนตรีในการบำบัด จะช่วยให้พวกเขาคิดและมีความจำที่ดีขึ้น เนื่องจากดนตรีมีการใช้โน้ตและจังหวะ ประกอบเข้ากับเนื้อเพลง ซึ่งช่วยให้จำได้ง่ายขึ้น เมื่อสมองมีการกระตุ้นให้เกิดการใช้งาน สมองก็จะเริ่มเรียนรู้การจดจำในรูปแบบอื่นๆ ได้เพิ่มมากขึ้น  ตัวอย่างเช่น เพลงกอเอยกอไก่ ที่นำตัวอักษรของไทยทั้ง 44 ตัวมาเรียงร้อยและใช้คำคล้องจอง พร้อมทั้งใส่ทำนองลงไป จึงทำให้เด็กๆ จำตัวอักษรได้ง่ายขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านความจำควรใช้ดนตรีในการบำบัดเพื่อช่วยให้พวกเขาจำสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น หากต้องไปซื้อของ ก็นำรายการที่จะซื้อทั้งหมดมาเรียงร้อยและใส่คำคล้องจองลงไปเพื่อให้พวกเขาจำได้ง่ายขึ้น

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา