backup og meta

ไขข้อข้องใจ คนเป็นโรคไต ใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ ปลอดภัยจริงเหรอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    ไขข้อข้องใจ คนเป็นโรคไต ใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ ปลอดภัยจริงเหรอ

    โรคไตกับยาคลายกล้ามเนื้อ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างมาก เนื่องจากยาคลายกล้ามเนื้อเป็นหนึ่งในยาที่คนเป็นโรคไตมักจะต้องใช้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคไตที่ต้องทำการฟอกไต (hemodialysis) ยาคลายกล้ามเนื้อสามารถช่วยให้ผู้ป่วยที่ทำการฟอกไตไม่ต้องทรมานกับอาการปวดกล้ามเนื้อที่มาพร้อมกับการฟอกไตได้ แต่ในขณะเดียวกัน ยานี้ก็อาจนำมาซึ่งอันตรายอื่นๆ ได้เช่นกัน

    โรคไตกับยาคลายกล้ามเนื้อ มีอะไรบ้างที่ควรระวัง

    สาเหตุส่วนใหญ่ที่แพทย์สั่งยาคลายกล้ามเนื้อให้ผู้ป่วยที่รับการฟอกไตใช้ เนื่องมาจากอาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูก นอกจากนี้ยังอาจจะมีสาเหตุมาจากการปวดคอ ปวดหลัง และเป็นตะคริว แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายที่เลือกใช้ยาคลายกล้ามเนื้อทั้งๆที่แพทย์ไม่ได้สั่งให้ใช้ยานั้น

    อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายาคลายกล้ามเนื้อนั้นอาจจะสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดที่มาพร้อมกับการฟอกไตเหล่านี้ได้ แต่ยาคลายกล้ามเนื้อนั้นก็ไม่มีได้ปลอดภัยไปเสียทีเดียว

    มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยโรคไตที่ที่ทำการฟอกไตและใช้ยาคลายกล้ามเนื้อนั้น จะมีความเสี่ยงในการเกิดการเปลี่ยนแปลงของสติสัมปชัญญะเพิ่มขึ้นกว่า 68% ความเสี่ยงในการหกล้มเพิ่มขึ้นกว่า 29% และความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหักเพิ่มขึ้นอีกกว่า 30%

    จากข้อมูลในปี 2011 พบว่า ผู้ป่วยโรคไตที่ใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ แสดงให้เห็นถึงอาการความผิดปกติทางสติสัมปชัญญะ หกล้ม กระดูกหัก และเสียชีวิตเพิ่มขึ้นกว่าผู้ป่วยโรคไตที่ไม่ได้ใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ

    นอกจากนี้ ยังมีรายงานพบว่า 1 ใน 25 คนของผู้ป่วยโรคไตถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจาก มีอาการสับสนอย่างรุนแรง และมีอาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน หลังจากใช้ยาคลายกล้ามเนื้อที่เรียกว่า ยาแบคโคลเฟน (baclofen) เพียงไม่กี่วัน

    จากรายงานของ ICES Western, Western University และ and Lawson Health Research Institute ได้ทำการเก็บข้อมูล โดยการศึกษาผู้ป่วยโรคไตกว่า 16,000 คนที่เริ่มต้นใช้ยาแบคโคลเฟนตั้งแต่ปี 2007 ไปจนถึง 2018 โดยแบ่งกลุ่มศึกษาออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ใช้ยาแบคโคลเฟนในขนาดสูง และผู้ที่ใช้ยาแบคโคลเฟนในขนาดต่ำ แล้วนำผลมาเปรียบเทียบกับผู้ป่วยโรคไตกว่า 300,000 คนที่ไม่ได้ใช้ยาคลายกล้ามเนื้อใดๆ

    ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับจ่ายยาแบคโคลเฟนในขนาดสูง มีโอกาสมากกว่าที่จะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เนื่องจากมีอาการเวียนศีรษะและสับสนอย่างรุนแรง นับเป็นจำนวนสูงมากหากเทียบกับกลุ่มของผู้ป่วยโรคไตที่ไม่ได้ใช้ยาแบคโคลเฟนและต้องรับการรักษาเนื่องจากอาการสับสนและเวียนศีรษะซึ่งมีเพียง 1 ใน 500 คนเท่านั้น

    ยาแบคโคลเฟนนั้นแม้ว่าโดยปกติแล้วจะไม่เป็นอันตรายใดๆ แต่ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการสับสนได้อย่างรุนแรง แม้แต่ผู้ป่วยที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดี ก็สามารถมีอาการสับสนได้ หลังจากที่เริ่มต้นใช้ยาแบคโคลเฟนนี้

    ไต มีส่วนสำคัญในการกำจัดยาที่ค้างอยู่ในร่างกายออกไป ผู้ป่วยโรคไตจึงมักจะต้องเจอกับปัญหาการตกค้างของยา โดยเฉพาะยาคลายกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดผลข้างเคียงของยาอย่างรุนแรงมากกว่าปกติ แม้แต่ยาคลายกล้ามเนื้อที่ถูกกำจัดด้วยตับอย่าง cyclobenzaprine ก็ยังส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้เช่นกัน

    ถ้าอย่างนั้น คนเป็นโรคไต ควรจัดการกับอาการปวดได้อย่างไร

    การจัดการกับอาการปวดของผู้ป่วยโรคไตที่รับการฟอกไตนั้น โดยปกติแล้วจะเลือกใช้เป็นยาแก้ปวดประเภทที่ไม่ใช่โอปิออยด์ (opioid) ได้แก่ ยาพาราเซตามอลหรือยาอะเซตามิโนเฟน และยาในกลุ่ม NSAIDs อื่นๆ เช่น ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) เป็นยาทางเลือกในการรักษาอาการปวดโดยที่ไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงสำหรับผู้ป่วยโรคไต

    นอกจากนี้ยังมียาแก้ปวดโอปิออยด์บางชนิดที่ผู้ป่วยโรคไตอาจจะสามารถใช้ได้ เช่น ยาเฟนทานิล (Fentanyl) ยาไฮโดรโคโดน (hydrocodone) และยาไฮโดรมอร์โฟน (hydromorphone) เป็นยาแก้ปวดโอปิออยด์ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับผู้ป่วยที่มีไตบกพร่องและผู้ป่วยที่ทำการฟอกไต

    อาการปวดนั้นเป็นอาการที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ต้องรับการฟอกไต การรักษาอาการปวดเหล่านี้จะต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังและแตกต่างกันตามความต้องการของแต่ละราย เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะจำเป็นต้องใช้ยาคลายกล้ามเนื้อหรือยาอื่นๆเสมอไป

    ในปัจจุบันนั้นยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อชนิดอื่นมากเพียงพอ ที่จะสามารถเปรียบเทียบถึงความแตกต่างของการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อแต่ละประเภทในผู้ป่วยโรคไตได้ ดังนั้นผู้ป่วยทุกรายจะต้องได้รับคำปรึกษาแพทย์และการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมและป้องกันผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา