backup og meta

โรค HPV คืออะไร? วัคซีน HPV ป้องกัน มะเร็งปากมดลูก ได้จริงหรือ?

โรค HPV คืออะไร? วัคซีน HPV ป้องกัน มะเร็งปากมดลูก ได้จริงหรือ?

โรคhpvคืออะไร HPV หรือ Human Papillomavirus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อเอชพีวี อาจทำให้เกิดหูดในร่างกาย แต่เชื้อ HPV บางสายพันธุ์อาจเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งได้หลายชนิด การได้รับวัคซีน HPV จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันการเกิดโรคร้าย 

HPV มีกี่ประเภท

เชื้อไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมา (HPV) มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

  1. HPV ชนิดก่อมะเร็ง – เชื้อไวรัส HPV ชนิดก่อมะเร็งมีมากถึง 14 สายพันธุ์ โดย HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 คือ สาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูก รองลงมาคือ HPV สายพันธุ์ 45, 31 และ 33 
  2. HPV ชนิดไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง – แม้ HPV กลุ่มนี้จะไม่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก แต่ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่บริเวณอวัยวะเพศ เช่น HPV  สายพันธุ์ 16 และ 11 

โรคHPVคืออะไร ลักษณะของโรคเป็นอย่างไร

โรคติดเชื้อเอชพีวีหรือ โรค HPV นั้นกว่าจะแสดงอาการอาจใช้เวลาหลายปีหลังจากติดเชื้อ HPV ลักษณะอาการของ โรค HPV มีดังนี้

  • เกิดหูดหงอนไก่ (Condyloma Acuminata) หูดหงอนไก่จะเป็นติ่งเนื้อลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ มักเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศหญิง อวัยวะเพศชาย และทวารหนัก กระจายตามอวัยวะเพศภายนอก อาจมีอาการคัน พบได้ทั้งปากช่องคลอด และปากมดลูก
  • เกิดหูดชนิดอื่น ๆ เช่น หูดชนิดทั่วไป ลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ มีความขรุขระ พบได้ที่บริเวณมือ นิ้วมือ หรือข้อศอก หูดชนิดแบนราบ เกิดได้ทุกส่วนของร่างกาย และหูดฝ่าเท้าที่ขึ้นบริเวณส้นเท้า รู้สึกเจ็บระหว่างยืนหรือเดินได้
  • มีตกขาวมากกว่าปกติ โรคติดเชื้อเอชพีวีอาจทำให้เกิดอาการตกขาวมากกว่าปกติ มีกลิ่นเหม็น อาจมีเลือดปน หรือมีเลือดออกกะปริบกะปรอยจากช่องคลอด 
  • หากติดเชื้อที่ทวารหนัก ก็จะมีแผลหรือก้อนยื่นออกมาผิดปกติ

โรคร้ายแรงจากการติดเชื้อ HPV  

นอกจากโรคติดเชื้อ HPV แล้ว เชื้อไวรัสชนิดนี้อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งในบางสายพันธุ์ ได้แก่ 

  • มะเร็งปากมดลูก 
  • มะเร็งช่องคลอด 
  • มะเร็งปากช่องคลอด 
  • มะเร็งอวัยวะเพศชาย 
  • มะเร็งทวารหนัก  
  • มะเร็งช่องปากและลำคอ

วิธีป้องกันโรค HPV

โรคติดเชื้อ HPV สามารถลดความเสี่ยงและป้องกันได้ ดังนี้

  1. สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งขณะมีเพศสัมพันธ์ 
  2. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  3. ฉีดวัคซีน HPV หรือวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก 
  4. ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุก 3 ปี หรือตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ทุก 5 ปี 

ความสำคัญของการ ฉีดวัคซีน HPV

การได้รับวัคซีนจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นโรคที่พบมากในหญิงไทยเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม ในแต่ละปีผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงถึงปีละเกือบ 10,000 ราย และมีอัตราการเสียชีวิตเกินร้อยละ 50 จึงเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ ทั้งนี้ มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของเซลล์บริเวณปากมดลูก มีโอกาสเกิดการลุกลามและแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียงได้ โดยเฉพาะอวัยวะสําคัญภายในช่องท้อง เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระเพาะปัสสาวะ ลําไส้ ทําาให้ยากแก่การรักษาและมีโอกาสเสียชีวิตสูง หากไม่ได้รับการตรวจพบและรักษาได้ทันเวลา

วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก จึงเป็นการป้องกันเชื้อไวรัส HPV สาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นแนวทางการป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด โดยยึดหลักสำคัญ คือ ฉีดตั้งแต่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ในปัจจุบันมีการให้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) ในนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 2 เข็มตามสิทธิประโยชน์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

HPV… ไวรัสร้ายใกล้ตัวที่ควรป้องกันตั้งแต่วัยรุ่น. https://www.rama.mahidol.ac.th/rama_hospital/th/services/knowledge/08312020-1159. Accessed May 23, 2023 

แพทย์แนะวิธีป้องกัน “เชื้อไวรัส HPV”. https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/178002/. Accessed May 23, 2023 

“ดูแลตัวเอง เพื่อคนที่คุณรัก” เชื้อไวรัส HPV เป็นภัยร้ายใกล้ตัวที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV https://www.rajavithi.go.th/rj/?p=21281. Accessed May 23, 2023 

กระทรวงสาธารณสุข เผย อนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เห็นชอบเร่งรัดการฉีดวัคซีน HPV เก็บตกนักเรียนป.5 ที่ตกค้าง ให้ครบ 2 เข็ม. https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=31965&deptcode=brc. Accessed May 23, 2023 

เดือนมกราคม ร่วมกันรณรงค์ต้านภัยมะเร็งปากมดลูก. https://www.dms.go.th/Content/Select_Landding_page?contentId=31517. Accessed May 23, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

12/02/2024

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

FAQ: คําถามที่ถามบ่อยเกี่ยวกับวัคซีน HPV

วัคซีน HPV ในสตรีวัยทำงาน ที่ผู้หญิงทุกคนจำเป็นต้องรู้!


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 12/02/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา