Seborrheic Dermatitis หรือโรคผื่นแพ้ต่อมไขมันอักเสบ เป็นภาวะผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่งที่ส่งผลให้ผิวหนังเป็นสะเก็ดบริเวณที่มีต่อมไขมันอยู่มาก และมีอาการคัน ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อรา ความเครียด สภาพอากาศ กรรมพันธุ์ และมักพบได้ทุกช่วงอายุ ทุกเพศทุกวัย หากสังเกตว่ามีอาการของโรคเซ็บเดิร์ม ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม อีกทั้งยังควรดูแลสุขภาพผิวและหนังศีรษะเพื่อช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคเซ็บเดิร์ม แต่ภาวะนี้ยากที่จะรักษาให้หายขาดได้
[embed-health-tool-bmr]
Seborrheic Dermatitis คืออะไร
Seborrheic Dermatitis คือ ภาวะผิวหนังอักเสบจากต่อมไขมันในชั้นผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณหนังศีรษะ เปลือกตา คิ้ว หน้าอก ข้างจมูก ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) ที่อาศัยอยู่ในรูขุมขนเนื่องจากเชื้อราเจริญเติบโตมากเกินไป โรคเซ็บเดิร์มสามารถเริ่มเป็นได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 2 เดือน และอาจกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้งเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และวัยสูงอายุ
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้เป็นโรคเซ็บเดิร์ม ดังนี้
- กรรมพันธุ์ในครอบครัว
- ฮอร์โมนแอนโดรเจนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ที่อาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากจนเกินไป ทำให้เชื้อราเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และเสี่ยงเป็นโรคเซ็บเดิร์ม
- สภาพผิวมัน เป็นสิวบ่อย
- สภาพอากาศหนาว แห้งหรือร้อน
- ความเครียด
- ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่มีภาวะตับอ่อนอักเสบ ผู้ที่ทำเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง ผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะ
- ภาวะสุขภาพ เช่น ภาวะซึมเศร้า โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคลมบ้าหมู โรคพาร์กินสัน โรคสะเก็ดเงิน โรคพิษสุราเรื้อรัง และโรคโรซาเซีย (Rosacea)
อาการของเซ็บเดิร์ม
อาการของเซ็บเดิร์ม อาจมีดังนี้
- ผิวหนังเป็นสะเก็ดสีขาวบริเวณหนังศีรษะ ผม คิ้ว หนวด หน้าอก เปลือกตา ใบหู รักแร้ ขา และข้างจมูก
- ผดผื่น รอยแดง และมีอาการคัน
หากพบว่ามีอาการคันรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือมีความกังวลว่าผิวหนังจะติดเชื้อ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว
การรักษาเซ็บเดิร์ม
การรักษาเซ็บเดิร์มอาจทำได้ ดังนี้
- ยาฟลูโอซิโนโลน (Fluocinolone) คือยาบรรเทาอาการอักเสบ ลดอาการบวม อาการคัน และรอยแดง โดยใช้ทาผิวหนังวันละ 3-4 ครั้ง ยกเว้นบริเวณใบหน้า ขาหนีบและใต้วงแขน ก่อนทายานี้ควรทำความสะอาดผิวและเช็ดให้แห้งสนิท
- ยาโคลเบทาซอล (Clobetasol) ใช้เพื่อช่วยรักษาอาการบวมที่ผิวหนังและบรรเทาอาการคัน วันละ 2 ครั้ง หรือตามดุลพินิจของคุณหมอ สามารถทาบาง ๆ บนผิวหนังที่ตัว ยกเว้นใบหน้า ขาหนีบและใต้วงแขน
- ยาเดโซไนด์ (Desonide) ใช้เพื่อรักษาโรคผิวหนังอักเสบและช่วยบรรเทาอาการคัน โดยควรทาวันละ 2-3 ครั้ง หรือตามดุลพินิจของคุณหมอ
- ยาพิเมโครลิมัส (Pimecrolimus) ใช้สำหรับการรักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากภูมิแพ้ เพื่อช่วยยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและลดปฏิกิริยาการแพ้ โดยทาบาง ๆ ผิวหนังบริเวณที่ได้รับผลกระทบวันละ 2 ครั้ง
- ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ใช้สำหรับการรักษาโรคผิวหนังติดเชื้อรา เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยควรทาวันละ 2 ครั้ง ในบริเวณผิวหนังที่ได้รับผลกระทบ เช่น คอ หน้าอก ขา
- ยาซีลีเนียม ซัลไฟด์ (Selenium sulfide) คือยาในรูปแบบแชมพูสระผม เหมาะสำหรับการรักษา Seborrheic Dermatitis บนหนังศีรษะ เพื่อช่วยลดการอักเสบ อาการคัน หนังศีรษะลอกเป็นขุย และอาการบวมแดง โดยเขย่าขวดก่อนใช้งาน จากนั้นชโลมบนหนังศีรษะให้ทั่วและทิ้งเอาไว้ 2-3 นาที ก่อนล้างออก ควรใช้ 1-2 ครั้ง/สัปดาห์
- ยาต้านเชื้อรา คุณหมออาจให้รับประทานยาต้านเชื้อราในรูปแบบเม็ด เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคเซ็บเดิร์มเนื่องจากการติดเชื้อราที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น
การป้องกันเซ็บเดิร์ม
การป้องกันเซ็บเดิร์มอาจทำได้ ดังนี้
- ล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อลดความมันบนใบหน้าและกำจัดสิ่งสกปรกในรูขุมขน อีกทั้งควรเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เหมาะกับสภาพผิว ปราศจากน้ำมันและสารระคายเคือง
- หลีกเลี่ยงการใช้สเปรย์และเจลจัดแต่งทรงผม เพราะอาจทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขนบนหนังศีรษะ ที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคเซ็บเดิร์ม
- บำรุงผิวด้วยมอยเจอร์ไรเซอร์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว
- สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เพื่อช่วยลดการขับเหงื่อ ซึ่งอาจช่วยป้องกันปัญหาผิวมันและการอุดตันในรูขุมขน
- ล้างเครื่องสำอางบนหน้าให้สะอาด ไม่ควรทิ้งไว้ข้ามคืน และไม่ควรใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของน้ำมัน เพราะอาจอุดตันในรูขุมขนและกระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเซ็บเดิร์ม
- ควรใช้ยาและแชมพูสำหรับรักษาเซ็บเดิร์มจนกว่าจะหายขาด หรือตามดุลพินิจของคุณหมอ เพื่อบรรเทาอาการเซ็บเดิร์ม