backup og meta

ท้องอืด อาหารไม่ย่อย บรรเทาอาการด้วยตนเองได้อย่างไรบ้าง

ท้องอืด อาหารไม่ย่อย บรรเทาอาการด้วยตนเองได้อย่างไรบ้าง

ท้องอืด อาหารไม่ย่อย เป็นอาการที่เกือบทุกคนต่างก็เคยพบเจอ ถึงแม้อาการนี้จะไม่ใช่โรค แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในอาการที่เกี่ยวข้องกับปัญหาในระบบทางเดินอาหาร หากคุณมีอาการท้องอืดหรืออาหารไม่ย่อยเป็นประจำ ก็อาจต้องปรึกษาแพทย์ แต่สำหรับในกรณีทั่ว ๆ ไป นอกจากการกินยาลดกรดแล้ว มีหลายวิธีที่คุณสามารถจัดการกับอาการเหล่านี้ รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้

วิธีเยียวยาและป้องกันอาการ ท้องอืด

1. ดื่มน้ำ

ร่างกายต้องการน้ำ เพื่อให้ย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหารจากอาหารและเครื่องดื่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำจะทำให้ย่อยอาหารได้ไม่ดีเท่าที่ควร และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการไม่สบายท้อง โดย Health and Medicine Division (HMD) ในประเทศสหรัฐอเมริกาแนะนำว่า ผู้หญิงควรดื่มน้ำประมาณวันละ 2.7 ลิตร ส่วนผู้ชายควรดื่มน้ำประมาณวันละ 3.7 ลิตร

ประมาณ 20% ของปริมาณน้ำที่ร่างกายได้รับในแต่ละวันมาจากอาหาร และที่เหลือมาจากการดื่มเครื่องดื่ม สำหรับคนส่วนใหญ่ควรดื่มน้ำประมาณวันละ 8 แก้ว หรือมากกว่านั้นในแต่ละวัน ส่วนเด็กและวัยรุ่นอาจดื่มน้ำน้อยกว่าผู้ใหญ่เล็กน้อย ส่วนผู้ที่มีปัญหาด้านการย่อยอาหาร เช่น ท้องเสีย อาเจียน จำเป็นต้องดื่มน้ำให้เพียงพอ เนื่องจากการอาเจียนและท้องเสีย สามารถนำไปสู่ภาวะขาดน้ำได้อย่างรวดเร็ว

2. หลีกเลี่ยงการนอนหลังกินอาหาร

เมื่อร่างกายอยู่ในแนวราบ เช่น ตอนนอน อาจมีแนวโน้มให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาจากกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการแสบร้อนทรวงอก หรือที่เรียกว่ากรดไหลย้อน ผู้ที่รู้สึกไม่สบายท้อง ควรหลีกเลี่ยงการนอนราบไปกับพื้น หรือนอนราบบนเตียงนอนหลังกินอาหารทันที หรือหากเกิดอาการท้องอืด ควรรออย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง หรือให้หายท้องอืดก่อน แต่หากอยากนอนจริง ๆ ควรหาหมอนมารองศีรษะ คอ และหน้าอก จากนั้นนอนเอนหลังให้ได้ประมาณ 30 องศา

3. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์

การสูบบุหรี่อาจระคายเคืองคอ เพิ่มความเสี่ยงให้อาหารไม่ย่อย และหากถึงขั้นอาเจียนเพราะอาหารไม่ย่อย การสูบบุหรี่ก็จะยิ่งทำให้เนื้อเยื่ออ่อนที่เสียหายจากกรดในกระเพาะอาหารระคายเคืองมากขึ้น

นอกจากการสูบบุหรี่แล้ว การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เปรียบเสมือนการดื่มยาพิษ เพราะจะทำให้ร่างกายย่อยอาหารได้ยากขึ้น และยังอาจเป็นเหตุให้ตับและเยื่อบุกระเพาะอาหารเสียหาย ฉะนั้นผู้ที่มีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย จึงควรงดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนกว่าอาการจะดีขึ้น

4. หลีกเลี่ยงอาหารย่อยยาก

อาหารบางประเภท เช่น อาหารทอด อาหารไขมันสูง อาหารรสเค็ม อาหารหมักดอง เป็นอาหารที่ย่อยยาก กินแล้วเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย คุณจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้

5. แก้ ท้องอืด ด้วยขิง

ขิง จัดเป็นวิธีในการรักษาอาการอาหารไม่ย่อยและท้องอืดตามธรรมชาติที่ได้รับความนิยมมากวิธีหนึ่ง ขิงมีสารที่เรียกว่า จินเจอรอล (Gingerol) และโชกาออล (Shogaol) ที่มีส่วนช่วยเร่งการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจส่งผลให้อาหารที่เป็นต้นเหตุของอาการท้องอืด เคลื่อนที่ออกจากกระเพาะอาหารได้เร็วกว่าเดิม อีกทั้งขิงยังสามารถช่วยลดกรดในกระเพาะอาหารได้ด้วย

นอกจากนี้ สารต่าง ๆ ในขิงยังช่วยลดอาการวิงเวียนศีรษะ อาเจียน และท้องเสีย สำหรับผู้ที่มีอาการอาหารไม่ย่อยหรือรู้สึกไม่สบายท้อง ข้อควรระวังคือ ไม่ควรกินขิงเกิน 3-4 กรัมต่อวัน เพราะอาจเป็นเหตุให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร อาการแสบคอ และแสบร้อนกลางอกได้

6. มินต์

มินต์ช่วยให้ลมหายใจหอมสดชื่น และยังมีประโยชน์อื่น ๆ ที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ป้องกันการอาเจียนและท้องเสีย ลดอาการกล้ามเนื้อกระตุกในลำไส้ บรรเทาปวด โดยนักวิจัยพบว่า มินต์เป็นยาแผนโบราณสำหรับการย่อยอาหาร และอาการท้องเสีย ในประเทศอิหร่าน ปากีสถาน และอินเดีย

7. อบเชย

อบเชย มีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดที่ช่วยบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย และช่วยลดความเสี่ยงในการระคายเคืองและความเสียหายต่อระบบทางเดินอาหาร อีกทั้งอบเชยยังอาจช่วยลดแก๊สในกระเพาะอาหาร ลดอาการท้องอืด เนื่องจากแก๊ส รวมถึงลดอาการปวดช่องท้องและการเรอด้วย นอกจากนี้ อบเชยยังมีฤทธิ์ต้านกรดในกระเพาะอาหาร จึงช่วยลดอาการอาหารไม่ย่อย และอาการแสบร้อนกลางอกเนื่องจากกรดเกินได้

8. ลูกฟิก หรือมะเดื่อฝรั่ง

ลูกฟิก หรือมะเดื่อฝรั่ง มีสารที่มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ช่วยบรรเทาอาการท้องผูกและช่วยทำให้ลำไส้แข็งแรง ลูกฟิกยังมีสารที่อาจช่วยบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยได้ด้วย โดยผู้ที่มีอาการท้องอืดหรืออาหารไม่ย่อยสามารถกินลูกฟิกทั้งลูก 1-2 ครั้งต่อวัน หรืออาจนำผงลูกฟิกปริมาณ 1-2 ช้อนชามาต้มเป็นชาลูกฟิกแล้วดื่ม จนกระทั่งอาการดีขึ้นก็ได้  แต่ถ้ามีอาการท้องเสียควรหลีกเลี่ยงการกินลูกฟิก

9. น้ำว่านหางจระเข้

สารในน้ำว่านหางจระเข้มีประโยชน์ดังต่อไปนี้

  • ช่วยลดกรดเกินในกระเพาะอาหาร
  • ทำให้ลำไส้แข็งแรงและกำจัดสารพิษ
  • ช่วยให้ย่อยโปรตีนได้ดีขึ้น
  • ช่วยปรับสมดุลการย่อยแบคทีเรีย
  • ลดการอักเสบ

นักวิจัยพบว่า การดื่มน้ำว่านหางจระเข้ 10 มิลลิลิตรต่อวันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ช่วยบรรเทาอาการของโรคกรดไหลย้อน ได้แก่ อาการแสบร้อนกลางอก อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ อาการคลื่นไส้และอาเจียน อาการสำรอกกรดหรือสำรอกอาหาร

10. น้ำมะพร้าว

น้ำมะพร้าวมีโพแทสเซียมและแมกนีเซียมสูง ช่วยในการลดความเจ็บปวด และอาการกล้ามเนื้อกระตุก น้ำมะพร้าวยังมีประโยชน์ในการคืนน้ำให้ร่างกาย และเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ นอกจากนี้ น้ำมะพร้าวยังมีแคลอรี่ น้ำตาลและความเป็นกรดต่ำด้วย สำหรับผู้ที่มีอาการอาหารไม่ย่อย ให้จิบน้ำมะพร้าวทุกๆ 4-6 ชั่วโมงก็จะช่วยบรรเทาอาการได้

ท้องอืด ขั้นนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอ

ท้องอืด อาหารไม่ย่อย อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพร้ายแรง เช่น อาการหัวใจวาย ที่สามารถทำให้รู้สึกเหมือนมีอาการอาหารไม่ย่อย หากคุณมีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย ร่วมกับหายใจถี่ เหงื่อออก หรือปวดกระจายไปทั่วบริเวณ ตั้งแต่ขากรรไกร คอ จนถึงแขน ซึ่งเป็นสัญญาณของหัวใจวาย หรือมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอทันที

  • อาเจียน หรือมีเลือดปนกับอาเจียน ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายกากกาแฟ
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เบื่ออาหาร
  • อุจจาระมีเลือดหรืออุจจาระสีดำ
  • เจ็บรุนแรงบริเวณหน้าท้องส่วนบนฝั่งขวา
  • เจ็บหน้าท้องฝั่งขวา ไม่ว่าจะส่วนบนหรือส่วนล่าง
  • รู้สึกไม่สบายท้อง แม้ไม่ได้กินอาหาร

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

21 home and natural remedies for upset stomach and indigestion. https://www.medicalnewstoday.com/articles/322047.php. Accessed on September 14, 2018.

How to Treat Indigestion at Home. https://www.healthline.com/health/home-remedies-for-indigestion. Accessed on September 14, 2018.

When should I call the doctor about indigestion?. https://www.webmd.com/heartburn-gerd/qa/when-should-i-call-the-doctor-about-indigestion. Accessed on September 14, 2018.

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/07/2020

เขียนโดย Sopista Kongchon

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

เดี๋ยวท้องเสีย เดี๋ยวท้องผูก! ไม่อยาก ท้องไส้ปั่นป่วน เวลาไปเที่ยว เราป้องกันได้

10 สุดยอดอาหารแก้ท้องอืด


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 15/07/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา