ริดสีดวง เป็นอาการบวมหรือนูนของหลอดเลือดบริเวณทวารหนักหรือลำไส้ตรง เมื่อเป็น ริดสีดวงอาการ ที่พบ ได้แก่ เกิดก้อนบวมบริเวณทวารหนัก ซึ่งทำให้รู้สึกเจ็บ คัน หรือไม่สบายตัว มักมีเลือดออกบริเวณที่เป็นริดสีดวงหรือมีเลือดปนในอุจจาระ ทั้งนี้ ริดสีดวงอาจป้องกันได้ด้วยการไม่เบ่งอุจจาระ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และดื่มน้ำกับบริโภคใยอาหารให้เพียงพอ
[embed-health-tool-bmr]
ริดสีดวง เกิดจากอะไร
ริดสีดวง เป็นลักษณะของหลอดเลือดบริเวณทวารหนักหรือลำไส้ตรงที่บวมหรือนูนขึ้นมา เนื่องจากแรงดันที่ลำไส้ตรงซึ่งเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- การนั่งอุจจาระเป็นเวลานาน เพราะท้องร่วงหรือท้องผูก
- การเบ่งอุจจาระ
- การตั้งครรภ์
- การเป็นโรคอ้วน
- การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
- การยกของหนัก
ทั้งนี้ ร้อยละ 50 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี มักเคยเป็นริดสีดวง โดยริดสีดวงแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้
- ริดสีดวงภายใน เป็นการบวมของหลอดเลือดในลำไส้ตรง ไม่สามารถสังเกตเห็นอาการได้ด้วยตาเปล่า แต่จะรู้สึกได้เมื่อถ่ายอุจจาระ
- ริดสีดวงภายนอก เป็นการบวมของเส้นหลอดเลือดใต้ผิวหนังรอบ ๆ ทวารหนัก ทำให้สังเกตเห็นอาการได้ด้วยตาเปล่า ในบางกรณี ริดสีดวงภายนอกอาจมีลิ่มเลือดสะสม ส่งผลให้เห็นเป็นก้อนย้อยออกมา
ริดสีดวงอาการ เป็นอย่างไร
ริดสีดวงภายในและริดสีดวงภายนอก มีอาการดังต่อไปนี้
ริดสีดวงภายใน
- พบเลือดออกในอุจจาระ หรือบนกระดาษชำระที่ใช้ทำความสะอาดทวารหนัก
- พบก้อนเนื้อสีชมพูยื่นออกมาจากรูทวารเมื่ออุจจาระ โดยอาจหดกลับเข้าไปในร่างกายเองได้ แต่บางกรณีอาจต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์เฉพาะดันให้กลับเข้าไป
ริดสีดวงภายนอก
- พบก้อนเนื้อบวมสีม่วงหรือน้ำเงินบริเวณทวารหนัก
- รู้สึกคัน เจ็บปวด หรือไม่สบายตัว และบางครั้งอาจมีเลือดไหลออกมา เมื่อเกิดลิ่มเลือดสะสมบริเวณริดสีดวง จะรู้สึกเจ็บปวดมากกว่าปกติ
ทั้งนี้ นอกจากอาการข้างต้น ริดสีดวงยังอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้
- โลหิตจาง เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ไม่บ่อย เกิดจากการเสียเลือดอย่างต่อเนื่องเมื่อเป็นริดสีดวง
- ริดสีดวงอักเสบ เกิดจากการขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงริดสีดวง ทำให้ริดสีดวงมีอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงเป็นเวลา 5-7 วัน ก่อนจะอาการป่วยจะทุเลาลงและหายเป็นปกติ
เป็นริดสีดวง ดูแลตัวเองอย่างไร
เมื่อพบว่าเป็นริดสีดวง อาจเลือกดูแลตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้
- ใช้ยาแก้ปวด อย่างลิโดเคน (Lidocaine) หรือไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ในรูปแบบยาทา หรือรับประทานยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซน (Naproxen) ไดโคลฟีแนค (Diclofenac)
- ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อย 8-12 แก้ว/วัน หรือ 1.5-2 ลิตร/วัน เพื่อช่วยให้อุจจาระนิ่มและขับถ่ายได้ง่าย
- รับประทานใยอาหารให้เพียงพอ หรือประมาณ 20-30 กรัม/วัน เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการขับถ่าย และลดแรงดันที่ถูกส่งไปยังลำไส้ตรงหรือริดสีดวง ทั้งนี้ อาหารที่อุดมไปด้วยใยอาหาร ได้แก่ บร็อคโคลี่ ถั่ว ข้าวสาลี รำข้าวโอ๊ต และผลไม้สดต่าง ๆ
- ออกกำลังกายแบบแอโรบิค เช่น การเดินเร็ว 20-30 นาที/วัน เพื่อกระตุ้นการทำงานของท้องและลำไส้
- ไปอุจจาระทันทีเมื่อรู้สึกปวด เพราะการกลั้นอุจจาระไว้ หรือเลือกอุจจาระในช่วงเวลาที่สะดวก จะทำให้แรงดันที่ถูกส่งไปยังลำไส้ตรงเมื่อขับอุจจาระเพิ่มสูงขึ้น
- อาบน้ำด้วยการแช่ตัวในน้ำอุ่น เป็นเวลา 10-20 นาที/วัน เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด คัน หรือระคายเคืองเนื่องจากริดสีดวง
- ไปพบคุณหมอ หลังจากดูแลตัวเองเบื้องต้นเป็นเวลา 1 สัปดาห์แล้ว แต่ยังพบเลือดออกปะปนในอุจจาระ หรือในปริมาณมาก รวมถึงมีอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น วิงเวียนศีรษะ มึนงง เป็นลม
ริดสีดวง ป้องกันอย่างไร
ริดสีดวงอาจป้องกันได้ ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการเบ่งอุจจาระ
- รีบเข้าห้องน้ำทันทีเมื่อปวดท้อง
- ดื่มน้ำและบริโภคใยอาหารในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- งดบริโภคอาหารที่อาจทำให้ท้องผูกได้
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันท้องผูก
- หลีกเลี่ยงการนั่งบนโถส้วม รวมถึงการนั่งบนคอนกรีตหรือกระเบื้องเป็นเวลานาน