backup og meta

หัวใจเต้นกี่ครั้งต่อนาที และแบบไหนที่เรียกว่าผิดปกติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    หัวใจเต้นกี่ครั้งต่อนาที และแบบไหนที่เรียกว่าผิดปกติ

    หลายคนอาจสงสัยว่า หัวใจเต้นกี่ครั้งต่อนาที เพื่อช่วยเช็กตนเองได้ว่าหัวใจเต้นปกติหรือผิดปกติหรือไม่ และทำให้ทราบถึงปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย ภาวะหัวใจเต้นช้า และภาวะหัวใจเต้นเร็ว เพื่อเสริมสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงและหัวใจเต้นปกติ ควรศึกษาวิธีการดูแลสุขภาพหรือขอคำปรึกษาจากคุณหมอโดยตรงได้

    หัวใจเต้นกี่ครั้งต่อนาที

    ปกติแล้วหัวใจจะเต้นประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที โดยสามารถวัดได้จากการวัดชีพจรที่สามารถวัดได้โดยการใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางแตะบริเวณข้อมือทางนิ้วโป้งและจับเวลา 1 นาที พร้อมกับนับจำนวนการเต้นของชีพจร เพื่อดูแลสุขภาพหัวใจและควบคุมการเต้นหัวใจให้เป็นไปตามปกติ ควรหมั่นวัดการเต้นของหัวใจในขณะพักและดูแลสุขภาพหัวใจที่อาจทำได้ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพหัวใจ เช่น ผักใบเขียว ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ไร้ไขมัน เพราะอุดมไปด้วยวิตามินและสารอาหารต่าง ๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินอี วิตามินซี โพแทสเซียม แมกนีเซียม ที่ช่วยควบคุมการทำงานของหัวใจให้เป็นไปตามปกติและต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันเซลล์เสื่อมสภาพจากการทำลายของอนุมูลอิสระ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีแป้ง น้ำตาล เกลือและไขมันไม่ดีสูง เช่น อาหารแปรรูป ซีอิ๊ว น้ำปลา ขนมหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้ที่น้ำตาลสูง น้ำมันหมู ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก เพราะอาจทำให้ไขมันสะสมในหลอดเลือด ขัดขวางการไหลเวียนเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจ ที่ทำให้หัวใจมีการทำงานแย่ลง
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที เช่น การวิ่งบนลู่วิ่ง การวิ่งเหยาะ ปั่นจักรยาน หรือแม่แต่การทำงานบ้าน เพื่อช่วยควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ ควบคุมความดันโลหิต และกระตุ้นการไหลเวียนเลือดได้ดี
  • หยุดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่มีสารพิษที่อาจทำลายหลอดเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจ จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงโรคร้ายแรงอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคปอด โรคถุงลมโป่งพอง
  • จำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ ไวน์ โซจู เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ ดังนั้น จึงควรดื่มไม่เกิน 1-2 แก้วต่อวัน
  • ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจระดับความดันโลหิตและสุขภาพโดยรวมเพื่อช่วยคัดกรองโรคและรับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ เพราะหากระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจทำลายผนังหลอดเลือดเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้
  • หัวใจเต้นผิดปกติเป็นแบบไหน

    หัวใจเต้นผิดปกติ อาจแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้

    หัวใจเต้นช้า

    หัวใจเต้นช้าจะอยู่ในระดับ 40-60 ครั้งต่อนาที หรือต่ำกว่า ที่มีสาเหตุมาจากเนื้อเยื่อหัวใจเสื่อมสภาพตามอายุที่มากขึ้น สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์หนักและเป็นเวลานาน มีประวัติเป็นภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิด ต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่อง ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ และผลข้างเคียงจากการใช้ยากล่อมประสาท ที่สังเกตอาการผิดปกติได้ดังนี้

    • อาการเจ็บหน้าอก 
    • วิงเวียนศีรษะ 
    • เหนื่อยง่าย 
    • หายใจถี่เร็ว 
    • มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ

    ควรเข้าพบคุณหมออย่างรวดเร็วหากหายใจลำบาก เจ็บหน้าอกนานกว่า 3 นาที เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและการรักษา เช่น การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ การใช้ยาตามอาการ

    หัวใจเต้นเร็ว

    หัวใจเต้นเร็วจะมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที ที่มีสาเหตุมาจากการออกกำลังกาย การใช้แรงมาก และกำลังรู้สึกตื่นเต้น ตกใจ ซึ่งอาจเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตามหัวใจเต้นเร็วยังอาจเกิดจากดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ ที่สังเกตอาการผิดปกติได้ดังนี้

    • หัวใจเต้นเร็ว
    • อาการเจ็บหน้าอก 
    • หายใจถี่เร็ว
    • วิงเวียนศีรษะ
    • เหงื่อออกมาก
    • หน้ามืด รู้สึกวูบเหมือนเป็นลม

    ควรเข้าพบคุณหมออย่างรวดเร็วหากหัวใจเต้นผิดจังหวะ หน้ามืด ร่างกายอ่อนแรง เจ็บหน้าอก เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและการรักษา เช่น การใช้ยาตามอาการ การผ่าตัดใส่สายสวนเพื่อส่งกระแสไฟฟ้าเมื่อหัวใจเต้นผิดจังหวะ การผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบฝัง และการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา