ในช่วงวัยรุ่น เราอาจจะคาดหวังอนาคตไว้มากมาย ตั้งแต่การทำงาน ไปจนถึงการสร้างครอบครัว บางคนอาจจะประสบความสำเร็จตามที่คาดหวังไว้ แต่บางคนอาจจะไม่ใช่แบบนั้น เรียกได้ว่า วิกฤตวัยกลางคนในผู้หญิง นี้เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้หญิงวัยกลางคนอาจจะต้องพบเจอ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังประสบกับปัญหาเหล่านั้น อยู่หรือเปล่า มาร่วมหาคำตอบได้ในบทความนี้ของ Hello คุณหมอ กันค่ะ
วิกฤตวัยกลางคน คืออะไร
วิกฤตวัยกลางคน (Midlife Crisis) ใช้เรียกช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงในช่วงชีวิตวัยกลางคน (ช่วงอายุ 35 ถึง 55 ปี) โดยมีลักษณะที่เด่นชัดที่สุดคือ ความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง มีความสับสนทางอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก โดยคนเรานั้นอาจจะมีลักษณะของวิกฤตวัยกลางคนแตกต่างกันไป แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว จะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางด้านการกระทำ และทางด้านความรู้สึก ตลอดไปจนถึงทางด้านมุมมองชีวิต ในบางครั้งวิกฤตวัยกลางคนนี้อาจใช้เวลานานหลายปี
คนส่วนใหญ่จะรู้สึกถึงความสับสนทางอารมณ์อย่างรุนแรง ในช่วงวัย 40 ขึ้นไป วิกฤตวัยกลางคนนี้อาจจะประกอบไปด้วยหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขตั้งแต่สมัยก่อน ความไม่พึงพอใจใชชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบัน การสูญเสียโอกาส หรืออาจจะเป็นความหวาดกลัวต่ออนาคตที่ไม่แน่นอน และการแก่ตัวลง
ในช่วงวัยรุ่น เราอาจจะมีความคาดหวังต่อชีวิตหลายๆ อย่าง แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น ใช่ว่าทุกคนที่จะทำตามความฝันนั้นได้เสียทั้งหมด เมื่อเรามาถึงช่วงอายุ 40 ปี หลายคนจะเริ่มตระหนักว่าได้เดินทางมานานกว่าครึ่งชีวิต รับรู้ว่าตัวเองไม่สาวอีกต่อไปแล้ว และอาจจะเสียใจกับสิ่งที่ตัวเองไม่สามารถทำได้ หรือไม่พึงพอใจกับสิ่งที่ตัวเองได้ทำ ความวิตกกังวลต่อสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การเกิดวิกฤตวัยกลางคน
วิกฤตวัยกลางคนในผู้หญิง เป็นอย่างไร
ในสมัยก่อนนั้น วิกฤตวัยกลางคนเคยได้รับการกำหนดตามบทบาททางเพศไว้ว่า ผู้หญิงจะมีจะเกิดวิกฤตวัยกลางคนจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านความสัมพันธ์ ในขณะที่ผู้ชายจะเกิดวิกฤตวัยกลางคนจากการเปลี่ยนทางอาชีพการทำงาน แต่ในปัจจุบันนี้ มีผู้หญิงที่ออกมาทำงานนอกบ้านและเลี้ยงดูครอบครัวมากขึ้น ทำให้ลักษณะของวิกฤตวัยกลางคนในผู้หญิงเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน ซึ่งลักษณะของวิกฤตวัยกลางคนในผู้หญิงนั้น อาจแตกต่างกันไปตามสภาพแวกล้อมที่พบเจอ
ผู้หญิงบางคนอาจจะร้องไห้ตลอดเวลา บางคนอาจจะเหม่อลอยระหว่างการประชุม นึกสงสัยตัวเองว่าทำไมคุณถึงยังทำงานนี้อยู่ หรือบางคนอาจจะกังวลกับชีวิตแต่งงานจนไม่อาจทำอะไรได้ เส้นทางชีวิตของผู้หญิงในปัจจุบันนั้นมีความคลายคลึงกับเพศชายมากขึ้น ผู้หญิงหลายคนอาจจะตั้งความหวังเกี่ยวกับหน้าที่การทำงานไว้สูง เช่น อยากจะเป็น CEO ก่อนจะเจอความจริงตบหน้าเมื่อต้องรับมือกับความไม่เท่าเทียมกันในที่ทำงานที่ผิดหวังจากความฝัน ความสัมพันธ์ การเงิน
แต่แม้ว่าลักษณะของวิกฤตวัยกลางคนในผู้หญิงนั้นอาจจะมีความคล้ายคลึงกับในผู้ชายมากขึ้น ตามบทบาทและหน้าที่ที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดคือ อารมณ์และความสัมพันธ์ มักจะเป็นตัวการสำคัญของวิกฤตวัยกลางคนในผู้หญิงเสมอ
สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณผู้หญิงกำลังมีวิกฤตวัยกลางคน
- น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือน้ำหนักลดลง
ผู้หญิงที่มีวิกฤตวัยกลางคนมักจะเกิดปัญหาด้านการกิน เช่น กินน้อยลง หรือกินมากขึ้น อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณแรกเริ่มว่าคุณกำลังมีปัญหาบางอย่างเกี่ยวกับความคิดและความรู้สึก ซึ่งเป็นอาการหนึ่งของวิกฤตวัยกลางคน
- รู้สึกอิจฉาคนอื่น
คุณอาจจะเริ่มเปรียบเทียบระหว่างตัวเองกับผู้อื่นมากขึ้น แล้วรู้สึกอิจฉาในสิ่งที่ผู้อื่นประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะว่าหากความสำเร็จนั้นเป็นความสำเร็จที่คุณใฝ่ฝันถึงแต่ยังไปไม่ถึง และคุณอาจจะใช้เวลากับการพิจารณาความสำเร็จของผู้อื่นมากกว่าวางแผนว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตของตัวเอง
- เริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง
คุณจะเริ่มเกิดความสงสัยต่อตัวเองว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ สิ่งที่ทำอยู่นี้ได้ประโยชน์อะไร และคุณกำลังทำอย่างถูกต้องหรือไม่ คำถามที่ยากที่จะหาคำตอบเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเนื่องจากคุณเริ่มที่จะรู้สึกหลงทาง และสงสัยกับทางเลือกของตัวเอง อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณของวิกฤตวัยกลางคน
- นอนไม่หลับตลอดคืน
หากคุณนอนตาค้างหรือตื่นขึ้นกลางดึก อาจเป็นปัญหาที่เกิดจากการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน วัยหมดประจำเดือนนั้นจะทำให้ผู้หญิงเกิดความเซนซิทีฟต่อสภาพแวดล้อมและปัจจัยอื่นๆ ที่รบกวนการนอนหลับของคุณ แล้วทำให้คุณเป็นโรคนอนไม่หลับในที่สุด
หากคุณเริ่มสัมผัสได้ว่าคุณเองเริ่มมีความไม่พอใจในชีวิต หน้าที่การงาน ทางเลือกต่างๆ ในชีวิตก่อนหน้านี้ แม้จะเคยยอมรับได้และไม่เคยคิดถึงมันมาก่อน หรือพบอาการดังสัญญาณข้างต้น ก็ควรตระหนักได้ว่าอาจจะเข้าข่ายมีอาการวิกฤตวัยกลางคนได้ ควรเตรียมตัวและทำความเข้าใจกับอาการนี้ จะได้รับมือและแก้ไขได้อย่างเหมาะสมก่อนจะส่งผลเสียต่อตนเองและคนรอบข้าง
[embed-health-tool-bmi]