backup og meta

หูอื้อ ทำไงดี สาเหตุ และวิธีการแก้หูอื้ออย่างมีประสิทธิภาพ

หูอื้อ ทำไงดี สาเหตุ และวิธีการแก้หูอื้ออย่างมีประสิทธิภาพ

อาการหูอื้อ อาจจะเป็นอาการที่ ไม่ว่าใครก็คงเคยเป็นกันสักครั้งหนึ่ง และหลายคนอาจจะไม่ให้ความสนใจกันเสียเท่าไหร่ เพราะคิดว่าอาการนี้ไม่เป็นอันตรายอะไร เดี๋ยวก็หายไปเอง แต่ถ้าหากอาการ หูอื้อ ไม่ยอมหายไปเสียที เราควรจะทำอย่างไรดีล่ะ หาคำตอบได้จากบทความของ Hello คุณหมอนี้

อย่างไรจึงจะเรียกว่า หูอื้อ

หูอื้อ หมายถึงอาการที่เราจะได้ยินเสียงลดลง หรือได้ยินเสียงอื่น เช่น เสียงดังหึ่ง ๆ อยู่ในหู เป็นเวลาติดต่อกัน อาการหูอื้อนั้นเป็นอาการที่สามารถพบได้ทั่วไป และอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่างๆ มากมาย เสียงแว่วที่ได้ยินนั้นอาจจะมีตั้งแต่เสียงก้องต่ำๆ ไปจนถึงเสียงหวีดแหลม ๆ และอาจได้ยินในหูข้างเดียว หรือได้ยินพร้อมกันทั้งสองข้าง

แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วอาการหูอื้อนั้นจะไม่เป็นอันตรายอะไร นอกจากจะก่อให้เกิดความรำคาญเท่านั้น แต่ในบางครั้ง อาการหูอื้อนี้ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือการนอนหลับ และอาจกลายเป็นตัวรบกวนทางจิตใจได้ รบกวนสมาธิของคุณ หรือทำให้คุณไม่สามารถได้ยินเสียงภายนอกได้อย่างชัดเจน เราอาจมีอาการหูอื้ออยู่ตลอดเวลา หรือเป็น ๆ หาย ๆ ก็ได้

อาการหูอื้อนั้นจะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

  • อาการหูอื้อแบบได้ยินอยู่คนเดียว (Subjective tinnitus)

อาการนี้หมายความว่าไม่มีเสียงเกิดขึ้นจริง มีเพียงตัวผู้ที่มีอาการหูอื้อเท่านั้นที่ได้ยิน  อาการหูอื้อประเภทนี้เป็นอาการที่พบได้มากที่สุด และอาจเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับหูชั้นนอก หูชั้นกลาง หรือหูชั้นใน นอกจากนี้ยังอาจมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประสาทการได้ยิน

  • อาการหูอื้อแบบคนอื่นได้ยินด้วย (Objective tinnitus)

อาการนี้หมายถึงการเกิดเสียงที่แพทย์สามารถได้ยินด้วยในขณะที่ทำการตรวจร่างกาย อาการหูอื้อประเภทนี้เป็นอาการที่หายาก และอาจเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือด กล้ามเนื้อ หรือกระดูกหูชั้นใน

ทำไมเราจึงมีอาการหูอื้อ

อาการหูอื้ออาจเกิดได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • การสูญเสียการได้ยินเนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้น ประสาทการได้ยินของบางคนอาจจะแย่ลงเรื่อย ๆ เมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น
  • ได้ยินเสียงดังเสียงที่มีความดังมาก เช่น เสียงเพลง เสียงก่อสร้าง เสียงเครื่องบิน อาจทำให้เกิดอาการหูอื้อได้ โดยเฉพาะการใส่หูฟังเพลงเสียงดังเป็นเวลานานติดต่อกัน
  • ขี้หูอุดตัน ขี้หูนั้นจะทำหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้ฝุ่นหรือสิ่งสกปรกต่างๆ เข้าไปในหู แต่หากมีขี้หูสะสมมากเกินไป อาจรบกวนการได้ยิน และทำให้รู้สึกหูอื้อได้
  • กระดูกหูเกิดการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงของกระดูกหูชั้นกลางนั้นอาจส่งผลกระทบกับการได้ยินและทำให้เกิดอาการหูอื้อได้
  • น้ำในหูไม่เท่ากัน อาการหูอื้ออาจจะเกิดจากความผิดปกติของแรงดันน้ำภายในหู
  • ความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร หากเกิดความผิดปกติในบริเวณข้อต่อขากรรไกรซึ่งเชื่อมระหว่างกระโหลกศีรษะกับกรามส่วนล่าง ก็อาจทำให้เกิดอาการหูอื้อได้
  • การบาดเจ็บที่ศีรษะหรือคอ อาจส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทของสมองที่เชื่อมกับประสาทการได้ยิน ทำให้เกิดอาการหูอื้อ
  • การใช้ยาบางชนิด ยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาต้านมาลาเรีย หรือยาปฏิชีวนะ อาจส่งผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการหูอื้อได้
  • แรงดันอากาศ ในบางครั้งแรงดันอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน เช่น การขึ้นเครื่องบิน ก็อาจทำให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อแก้วหูและเกิดอาการหูอื้อได้

นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอีกมากที่อาจทำให้เกิดอาการหูอื้อได้ หากอาการหูอื้อของคุณไม่หายไปเสียที หรือเป็นบ่อยจนเกินไป ทางที่ดีคุณก็ควรที่จะเข้ารับการตรวจจากแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด

การรักษาอาการหูอื้อ

การรักษาอาการหูอื้อนั้นจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหูอื้อ แพทย์จะต้องทำการตรวจและวินิจฉัยสาเหตุของอาการหูอื้อของคุณให้แน่ชัดก่อนที่จะเริ่มทำการรักษา โดยวิธีการรักษาอาจมีดังต่อไปนี้

  • กำจัดขี้หู การกำจัดขี้หูส่วนเกินที่อุดตันอยู่อาจช่วยรักษาอาการหูอื้อได้
  • กลืนน้ำลาย เคี้ยวหมากฝรั่ง อ้าปากหาวกว้าง ๆ หรือเอามือบีบจมูกทั้งสองข้างและหายใจออกทางจมูกแรง ๆ อาจช่วยแก้อาการหูอื้อที่เกิดจากแรงดันอากาศได้
  • รักษาโรคที่ทำให้เกิดอาการหูอื้อ หากอาการหูอื้อของคุณมีสาเหตุมาจากโรคหรือภาวะของโรคบางอย่าง การรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุนั้นจะช่วยแก้อาการหูอื้อได้
  • เปลี่ยนยา หากอาการหูอื้อนั้นเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา คุณอาจต้องเปลี่ยนตัวยา หรือลดขนาดยา เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่ทำให้หูอื้อนั้น
  • ผ่าตัด ในกรณีที่อาการหูอื้อนั้นเกิดจากการที่แก้วหูอักเสบหรือฉีดขาดอย่างรุนแรง อาจทำให้ต้องมีการผ่าตัดเพื่อทำการรักษาอาการหูอื้อนั้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Tinnitus. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/tinnitus/symptoms-causes/syc-20350156. Accessed 17 January 2020

Tinnitus: Ringing in the ears and what to do about it https://www.health.harvard.edu/diseases-and-conditions/tinnitus-ringing-in-the-ears-and-what-to-do-about-it. Accessed 17 January 2020

Understanding Tinnitus — the Basics https://www.webmd.com/a-to-z-guides/understanding-tinnitus-basics. Accessed 17 January 2020

What you need to know about tinnitus https://www.medicalnewstoday.com/articles/156286.php. Accessed 17 January 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

09/07/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

น้ำในหูไม่เท่ากัน ลดการกินเค็มอาจช่วยได้

เคลียร์ ! รูหู ให้สะอาด ห่างไกลจาก ขี้หูสะสม


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 09/07/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา