backup og meta

แคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia)

แคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia)

แคลเซียมในเลือดสูง หมายถึงภาวะที่มีความเข้มข้นของแคลเซียมในเลือดมากเกินไป จนทำให้เกิดความผิดปกติต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย

คำจำกัดความ

แคลเซียมในเลือดสูง คืออะไร

ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia) หมายถึงภาวะที่มีความเข้มข้นของแคลเซียมในเลือดมากเกินไป จนทำให้เกิดความผิดปกติต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น กระดูกเปราะบาง เป็นนิ่ว หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ และในกรณีรุนแรงอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้อีกด้วย

ภาวะแคลเซียมในเลือดสูงนั้นอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน (overactive parathyroid gland) การใช้ยาบางชนิด การรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแคลเซียมหรือวิตามินดีมากเกินไป หรือแม้กระทั่งโรคมะเร็ง

แคลเซียมในเลือดสูง พบบ่อยแค่ไหน

ภาวะแคลเซียมในเลือดสูงนั้นอาจพบได้บ่อยในกลุ่มผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน และผู้สูงอายุ แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับคนในช่วงวัยอื่น ๆ ได้เช่นกัน สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์

อาการ

อาการของแคลเซียมในเลือดสูง

สัญญาณและอาการของภาวะแคลเซียมในเลือดสูงนั้นอาจจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละคน บางคนอาจจะไม่มีอาการ หรือมีอาการในระดับเบา แต่บางคนก็อาจจะมีอาการที่รุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน

อาการของ ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง อาจแบ่งออกได้ตามอวัยวะที่ได้รับผลกระทบ ดังต่อไปนี้

  • ไต หากภายในเลือดมีปริมาณของแคลเซียมมากเกินไป ก็จะทำให้ไตต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อกรองแคลเซียมส่วนเกินออก และอาจทำให้รู้สึกกระหายน้ำมากขึ้น และปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • กระดูกและฟัน แคลเซียมที่มากเกินไปอาจจะไปดึงดูดเอาแคลเซียมที่มีอยู่ในกระดูกและฟันออกมาได้ ทำให้กระดูกและฟันอ่อนแอ เปราะ และแตกง่าย
  • ระบบย่อยอาหาร ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง อาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และท้องผูกได้
  • สมอง ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง ทำให้เกิดอาการสับสน เหนื่อยล้า หรืออาจทำให้รู้สึกซึมเศร้าได้
  • หัวใจ ภาวะแคลเซียมสูงอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของตัวใจ ทำให้เกิดอาการใจสั่น และหัวใจเต้นผิดปกติได้

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากคุณสังเกตพบสัญญาณหรืออาการที่บอกมาข้างต้น หรือมีอาการบางอย่าง เช่น

ควรรีบติดต่อแพทย์เพื่อรับการตรวจในทันที

สาเหตุ

สาเหตุของ ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง

โดยปกติแล้ว ร่างกายจะรักษาระดับของแคลเซียมในเลือดได้ โดยใช้ปฏิกิริยาระหว่าง แคลเซียม วิตามินดี และฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (Parathyroid hormone; PTH) เพื่อช่วยควบคุมระดับของแคลเซียมในเลือดให้เป็นปกติ แต่สภาวะบางอย่างก็อาจจะไปส่งผลกระทบต่อความสมดุลนี้ และทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูงได้ สภาวะเหล่านั้นได้แก่

  • ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน (hyperparathyroidism) หากเกิดความผิดปกติที่ต่อมพาราไทรอยด์ ก็อาจส่งผลต่อการใช้แคลเซียมในร่างกายได้
  • โรคมะเร็ง โรคมะเร็งบางอย่าง เช่น มะเร็งปอด หรือมะเร็งเต้านม อาจทำให้มีโอกาสที่จะเกิด ภาวะแคลเซียมในเลือดสูงได้
  • สภาวะอื่น ๆ เช่น วัณโรค โรคไทรอยด์ (thyroid disease) โรคไตเรื้อรัง โรคต่อมหมวกไต หรือการติดเชื้อราอย่างรุนแรง ก็อาจทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูงได้
  • ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง เมื่อร่างกายมีปริมาณของน้ำน้อยลง ก็อาจทำให้ปริมาณของแคลเซียมในเลือดมีความเข้มข้นมากขึ้น
  • ยา ยาบางชนิด เช่น ยาลิเทียม (lithium) อาจทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนพาราไทรอยด์มากขึ้น และทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูงได้

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของแคลเซียมในเลือดสูง

ปัจจัยบางอย่างอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูงได้ เช่น

  • พันธุกรรม ยีนบางตัวอาจทำให้คุณมีโอกาสในการเกิด ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง ได้มากกว่าคนอื่น หากคนในครอบครัวของคุณมีภาวะแคลเซียมในเลือดสูง คุณก็อาจจะเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูงเช่นกัน
  • ยาบางชนิด ผู้ที่กำลังใช้ยาหรืออาหารเสริมบางชนิด เช่น อาหารเสริมแคลเซียมหรือวิตามินดี อาจจะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้อื่น
  • สภาวะบางอย่าง ผู้ที่มีอาการป่วยด้วยโรคอื่น เช่น วัณโรค หรือโรคมะเร็งปอด อาจจะมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัย ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง

แพทย์สามารถทำการวินิจฉัยภาวะแคลเซียมในเลือดสูงได้ โดยการตรวจวัดระดับของแคลเซียมที่มีอยู่ในเลือด การตรวจเลือดนั้นยังสามารถช่วยทำให้ทราบได้ว่า ระดับของฮอร์โมนพาราไทรอยด์นั้นปกติหรือไม่ นอกจากนี้ การตรวจปัสสาวะเพื่อวัดระดับของแคลเซียม โปรตีน และแร่ธาตุอื่น ๆ ก็อาจจะช่วยได้เช่นกัน

หากพบว่าระดับของแคลเซียมในเลือดนั้นสูง แพทย์ก็อาจจะต้องทำการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิด ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง ต่อไป

การรักษา ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง

หากอาการของภาวะแคลเซียมในเลือดสูงนั้นมีระดับเบา แพทย์ก็อาจจะให้เฝ้าสังเกตอาการ และคอยตรวจกระดูกและไตเป็นระยะเพื่อดูว่ายังคงสุขภาพดีหรือไม่ และเพื่อเฝ้าดูภาวะแทรกแซงอื่น ๆ ต่อไป

หากมีอาการรุนแรง คุณอาจจำเป็นต้องใช้ยา หรือทำการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง

  • ยา แพทย์อาจสั่งให้ใช้ยา เช่น ยาแคลซิโทนิน (calcitonin) เพื่อช่วยควบคุมระดับของแคลเซียมในเลือด หรือยาในกลุ่ม Calcimimetics เพื่อช่วยควบคุมการทำงานของต่อมพาราไทรอยด์ เป็นต้น
  • การผ่าตัด อาจจำเป็นต้องมีการผ่าตัดเอาต่อมพาราไทรอยด์ออก เพื่อแก้ปัญหาภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน
  • การทำเคมีบำบัดและฉายรังสีบำบัด หากภาวะแคลเซียมในเลือดสูงนั้นมีสาเหตุมาจากโรคมะเร็ง แพทย์ก็อาจจะต้องทำการรักษาโรคมะเร็งด้วยการทำเคมีบำบัดหรือฉายรังสีบำบัด

การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการกับ ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง

การเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการเยียวยาตนเอง ที่อาจช่วยรับมือภาวะแคลเซียมในเลือดสูงด้วยตนเอง มีดังนี้

  • ดื่มน้ำให้บ่อย การรักษาระดับน้ำในร่างกายให้ดี จะสามารถช่วยควบคุมระดับของแคลเซียมในเลือด และลดความเสี่ยงในการเกิดนิ่วได้
  • หยุดสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่นั้นจะอาจจะเร่งให้กระดูกเปราะเร็วขึ้น และอาจนำไปสู่การเกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้
  • ออกกำลังกาย การออกกำลังกายจะสามารถช่วยรักษาความแข็งแรงของกระดูกได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าการออกกำลังกายแบบไหนที่เหมาะกับคุณ
  • ระมัดระวังการใช้อาหารเสริม ระวังอย่าใช้อาหารเสริม เช่น อาหารแคลเซียม หรืออาหารเสริมวิตามินดีมากเกินไป

หากมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Hypercalcemia https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hypercalcemia/symptoms-causes/syc-20355523

Hypercalcemia: What Happens If You Have Too Much Calcium? https://www.healthline.com/health/hypercalcemia

What happens when calcium levels are high? https://www.medicalnewstoday.com/articles/322012

Hypercalcemia https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/14597-hypercalcemia

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/12/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะพร่องแคลเซียมในเด็ก อาการและการรักษา

กินแคลเซียมเสริมในผู้สูงอายุ จำเป็นจริงหรือเปล่า?


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 14/12/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา